วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความ : สะพานข้ามโขง เชื่อมการค้าไทย-ลาว รับเออีซี

บทความ : สะพานข้ามโขง เชื่อมการค้าไทย-ลาว รับเออีซี:


ภาพประกอบ
ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ร่วมทำพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ชุดสุดท้าย บริเวณกลางสะพานแห่งที่ 4 มูลค่า 1,486.5 ล้านบาท ณ บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเวลา 12.12 น. ของวันที่ 12 เดือน 12 ค.ศ. 2012 ซึ่งสะพานแห่งนี้จะช่วยเชื่อมกลุ่มการค้าอาเซียนในปี 2558

นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ผ่านมาได้สร้างสะพานไทย – สปป.ลาวมาแล้วหลายแห่ง สำหรับแห่งนี้ถือเป็นแห่งที่ 4 โดยกำหนดสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทางด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สะพานแห่งนี้เชื่อมถนนอาร์ 3 ระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ซึ่งจังหวัดเชียงรายยังมีถนนอาร์ 3 บี ไทย-พม่า-จีนตอนใต้ ผ่าน อ.แม่สายด้วย โดยทั้งสองแห่งดังกล่าวเชื่อมกรุงเทพฯ-คุณหมิง มณฑลยูนนาน ระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร เมื่อเชื่อมสะพานแล้วจะก่อสร้างต่อไปอีกระยะหนึ่งและเปิดใช้งานได้ทันเดือนเมษายนปีหน้าแน่นอน นายชัชชาติยังกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมที่ดินใกล้สะพานประมาณ 200 ไร่ ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพราะจะมีรถบรรทุกสินค้าไทย-จีนเป็นจำนวนมาก และรถบรรทุกของจีนสามารถเปลี่ยนถ่ายสินค้าในฝั่งไทยได้ ช่วยลดปัญหาสภาพรถและการจราจรที่ต่างกัน ซึ่งกฎระเบียบกฎหมายต่าง ๆ ทั้งไทยและลาวจะร่วมถกหาทางออกร่วมกันซึ่งกฎระเบียบ กฎหมายการค้าระหว่างประทศจะต้องมีการปรับปรุง เพราะปัจจุบันสินค้าไทยและจีนเมื่อผ่านประเทศลาวจะกลายเป็นสินค้านำเข้าและส่งออกของลาว ดังนั้น การจะผลักดันให้เป็นการค้าผ่านแดนหรือทรานซิตแทนโดยปิดผนึกครั้งเดียวแล้วส่งถึงกันเลย ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาถนนอาร์ 3 บี ผ่านพม่าด้วย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการ และก่อนพิธีเปิดใช้สะพานจะได้หารือกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังไม่มีถนนเลี่ยงเมืองทำให้การขนส่งต้องผ่านถนนสายหลักกลางตัวเมือง นอกจากนี้ยังมีสี่แยกหลายแห่งส่งผลให้การจราจรติดขัด ขณะเดียวกันได้มีการหารือเรื่องถนนมอเตอร์เวย์เชียงราย-เชียงใหม่เพื่อความสะดวกในการเดินทาง การพัฒนาสนามบินที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ปีละกว่า 1 ล้านคน การพัฒนาระบบรางที่กำลังดำเนินศึกษา คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 8 ปี เชื่อมระหว่างเด่นชัย-เชียงราย และรถไฟความเร็วสูงเชียงราย-เชียงใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ หากสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เปิดใช้บริการถาวรจะส่งผลให้การค้าชายแดนด้าน อ.เชียงของ มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวด้าน อ.เชียงของ ในปี 2554 มีมูลค่ารวม 8,199 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 12,500 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืชผัก เครื่องจักร รถยนต์ ฯลฯ จากประเทศจีนซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค

ในอนาคต อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางภาคเหนือของประเทศไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าแก่สินค้านับแสนล้านบาท ซึ่งสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ณ บ้านดอนมหาวัน จังหวัดเชียงราย กับเมืองห้วยทราย สปป.ลาวจะเชื่อมกลุ่มการค้าอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2556




เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์

ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์



ผู้สื่อข่าว : สุริยน ตันตราจิณ


หน่วยงาน : สำนักข่าว


ที่มาของข่าว : ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น