วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

Big Power Contest in Southeast Asia

Big Power Contest in Southeast Asia:
บทความ Big Power Contest in Southeast Asia

(การแข่งขันของมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

By Daljit Singh
แปลสรุปโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์
การเดินทางเยือนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่แน่ชัดว่ายืนอยู่ข้างจีนหรือสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะรักษาดุลอำนาจในดินแดนอินโด-แปซิฟิค บนฐานของการทูตที่ยั่งยืนและความเกี่ยวพันทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นถึงความสลักสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเชิงยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อมต่อเอเชียแปซิฟิคเข้ากับมหาสมุทรอินเดียและน่านน้ำที่สำคัญอื่นๆ ของโลก
ด้วยจำนวนประชากร 600 ล้านคน ผลผลิตมวลรวมประชาชาติกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชนชั้นกลางกำลังเติบโต และเป็นศูนย์รวมทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดึงดูดประเทศต่างๆ ให้เข้ามาค้าขายและลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น กระนั้น สภาพรัฐที่อ่อนแอ ความด้อยประสิทธิภาพทางการทหาร และประวัติศาสตร์ที่ถูกแทรกแซงโดยมหาอำนาจ ก็บีบให้อาเซียนต้องพยายามรักษาสมดุลของระดับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และในหมู่ประเทศสมาชิกด้วยกันเอง
ในสายตาของจีน อาเซียนไม่ต่างอะไรกับพื้นที่อิทธิพลที่จีนจำต้องมีบทบาทเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของตนเอง ทางหนึ่ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ส่งผลให้จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนแทนที่สหรัฐฯ  และมีแนวโน้มว่าการเติบโตทางการค้าการลงทุนระหว่างกันจะทะยานขึ้นกว่าสองเท่าในปลายทศวรรษนี้ อีกทางหนึ่ง นอกจากนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการเชื่อมโยงความร่วมมือทางบกและทางทะเลเข้าหากัน  อำนาจทางการทหารและการทูตที่แข็งกร้าวของจีน ก็เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ที่มีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี การทหาร อีกทั้งยังได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าจีน แสดงจุดยืนที่จะเข้าคานอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ นโยบายสำคัญของสหรัฐฯ อันมีเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เริ่มปรากฏตั้งแต่การร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกของ ประธานาธิบดีโอบาม่าและนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งกลายเป็นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเอเชียมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ อย่างแท้จริง และเน้นย้ำถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน แม้การเดินทางเยือนพม่ากว่า 8 ชั่วโมง จะเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มาก ทว่าการเดินทางเยือนไทยก็ไม่ได้สลักสำคัญน้อยไปกว่ากันแต่อย่างใด ในแง่นี้ โอบาม่าได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับหนึ่งในสองพันธมิตรสำคัญในอาเซียน ทั้งทางทหาร ด้วยการสนับสนุนการซ้อมรบระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า Cobra Gold และทางเศรษฐกิจ ด้วยการชักชวนให้ไทยร่วมลงนามใน กรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งการเดินทางเยือนครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถถ่วงดุลอำนาจกับจีน ด้วยการหันมาผูกพันกับสหรัฐฯ มากขึ้น
ตามมาด้วยการเดินทางเยือนพม่า อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงอินเดียและมหาสมุทรอินเดียเข้ากับอาเซียน ทั้งยังเป็นเขตอิทธิพลสำคัญของจีน และเคยเป็นดินแดนที่สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร ใช้สนับสนุนกองกำลังของ เจียง ไคเชก เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าเองนั้นต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติมาโดยตลอด และการพยายามแทรกแซงจากชาติตะวันตกก็บีบให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งพาจีน การเปิดประเทศของพม่าจึงเป็นนิมิตหมายว่าพวกเขาจะพยายามรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ กระนั้น การคาดหวังให้พม่ากลายเป็นพันธมิตรแบบเดียวกับสิงคโปร์ก็เป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามหรือผิดที่ผิดทางเสียด้วยซ้ำ
การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในพม่ายังต้องใช้เวลา และแน่นอนว่ามีปัญหายุ่งยากหลายประการที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า อย่างไรเสีย การเดินทางเยือนของประธานาธิบดีโอบามา ก็มีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด มันก็แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ พร้อมจะสนับสนุนการปฏิรูปสู่ประชาธิปไตยในพม่า ผ่านสถาบันระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ และส่งสัญญาณว่าหนทางอันยากลำบากของพม่า อาจมีผลลัพธ์ที่สดใสกว่าอยู่ปลายทาง
นอกจากนี้  ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเลือกเดินทางไปเยือนกัมพูชาแบบทวิภาคี ก่อนจะต้องเข้าประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่กรุงพนมเปญ ในอีกไม่กี่วันถัดมา กระนั้น การเยือนครั้งนี้ก็มิใช่การเยือนที่เป็นทางการ เหตุผลหนึ่งก็เพราะกัมพูชาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งการลงทุนและเงินช่วยเหลือต่างๆ จากจีน คล้ายๆ กับกรณีของพม่า ภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับจีนเปิดโอกาสให้กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับจีนได้อย่างไม่น่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้โอบาม่าจะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสิทธิมนุษยชนของกัมพูชา ทว่ารัฐมนตรีกลาโหม ลีออน พาเนตตา ก็ได้เสนอความคิดริเริ่มที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือทางการทหารและการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชา ขึ้นมา
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ของการเดินทางเยือนอาเซียนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้ ที่กลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปกว่าทศวรรษ โดยจีนหันมาอ้างอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าว ตามแผนที่เส้นแห่งเขตทางทะเลที่เรียกว่า “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” (9-dash lined map) ขณะที่สหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้ทั้งอาเซียนและจีน ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
สถานการณ์อันคลุมเครือและอาจอันตรายดำรงอยู่ ในขณะที่ไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างสองมหาอำนาจ กระนั้นก็ดี จีนเอง แทนที่จะมองหาหนทางทางกฎหมายหรือการทูตเพื่อออกจากทางตัน พวกเขากลับเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่เย้ายวนใจ ที่จะเสริมสร้างอิทธิพลและความเข้มแข็งให้กับข้ออ้างเรื่องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ของตน ดังเห็นได้จากความไม่เต็มใจที่จะร่วมหารือว่าด้วยการจัดทำข้อปฏิบัติในพื้นที่ทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea)
คำถามก็คือเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน และผลักให้บางประเทศหันไปพึ่งพิงสหรัฐฯ หรือไม่ จีนอาจคาดการณ์ไว้แล้วว่าความขุ่นเคืองใจของอาเซียนจะไม่ยืนยาว และสามารถบรรเทาได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างโอบอ้อมอารีจากจีน กระนั้นก็ต้องไม่ลืมถึงข้อจำกัดที่ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะไปได้ไกลสักเพียงใด และถึงจุดหนึ่ง ผลสะท้อนกลับของมันอาจกลายเป็นการสร้างเสริมบทบาทของมหาอำนาจอื่นๆ ขึ้นมาแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น