วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

พินิจการศึกษาไทย: สะท้อนผ่านเลนส์การสร้างชาติและการสร้างคนของสิงคโปร์

พินิจการศึกษาไทย: สะท้อนผ่านเลนส์การสร้างชาติและการสร้างคนของสิงคโปร์:
โดย สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างลาศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ด้วยทุนร่วมระหว่างสถาบันฮาร์วาร์ดเยนจิง กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

ชื่อบทความเดิม “พินิจระบบการศึกษาไทย มุมมองจากสิงคโปร์”
บรรดาผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาไทยมักมีวาทะสวยหรู (Rhetoric) และศัพท์แสงเฉพาะทางที่เข้าใจยาก (Jargon) เช่น การเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centered learning) การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และล่าสุด การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
แต่จนแล้วจนรอด การศึกษาไทยก็ไม่ได้พุ่งทะยานสู่ระดับโลก ตรงกันข้ามกลับดิ่งลงเหว ล่าสุดมีการเสนอข่าวว่า สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำราเพียร์สัน (Pearson) จัดอันดับการศึกษาไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้ายที่มีคะแนนต่ำสุด เฉพาะระดับอุดมศึกษาไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 8 ในเออีซีตามหลังกัมพูชา และฟิลิปปินส์
Photo by Chensiyuan from Wikipedia
Photo by Chensiyuan from Wikipedia
ภายในเออีซี ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศทีมีระบบการศึกษาเป็นเลิศ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปี 2012 โดย คิวเอส (QS) จัดให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) อยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งกำลังตื่นเต้น และเห่อกับการตะกายอันดับของคิวเอส แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ปัญหาอยู่ที่ไหน? บางทีบทเรียนจากสิงคโปร์ ซึ่งเคยประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน หรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ อาจช่วยได้

ศึกษาการสร้างชาติ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ.1963 เศรษฐกิจและสังคมสิงคโปร์อยู่ในภาวะบอบช้ำจากปัญหานานัปการ ทั้งจากสงคราม และการถอนตัวของอังกฤษ อันหมายถึงการถอนตัวของทุนและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ชะงักงัน
ขณะเดียวกัน ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการพึ่งพาพาณิชย์นาวีมากเกินกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้สิงคโปร์ยังประสบปัญหาด้านทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ทางด้านสังคม มรดกการปกครองของอังกฤษที่แบ่งแยกประชากรตามชาติพันธุ์จีน มาเลย์ และอินเดีย
ทำให้ประชากรแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มตามชาติพันธุ์และมีความขัดแย้งระหว่างกัน ในระยะแรก สิงคโปร์เลือกที่จะรวมประเทศเข้ากับมาเลเซียเพื่อที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดความขัดแย้งทางการเมืองทำให้สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี ค.ศ.1965
เมื่อแยกตัวออกมาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ จึงปราศจากทรัพยากรธรรมชาติและตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหาในเรื่องการสร้างสำนึกความเป็นชาติที่ทำหน้าที่เป็นกาวประสานยึดโยงประชากรเข้าด้วยกันในฐานะ “คนสิงคโปร์” ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทาย จากข้อจำกัดดังกล่าว
กล่าวได้ว่า ทรัพยากรอย่างเดียวที่สิงคโปร์มีคือ “ทรัพยากรมนุษย์” และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้จะสามารถกระทำได้โดยผ่านระบบการศึกษา สิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาทักษะฝีมือของประชากรและปลูกฝังสำนึกความเป็นชาติ
ในช่วงปีแรก หลังแยกตัวออกจากมาเลเซีย 59% ของงบประมาณประจำปีถูกใช้จ่ายไปกับการศึกษาขั้นประถม 27% กับการศึกษาขั้นมัธยม และ 14% สำหรับการศึกษาขั้นอุดม การจัดหลักสูตรการศึกษาในระยะแรกเน้นการเพิ่มปริมาณของคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด เพื่อประชากรทุกคนจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแรงงานฝีมือ
ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะระหว่างช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่สิงคโปร์เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industry: ISI) และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อส่งออก (Export Oriented Industry: EOI)
ภาษาอังกฤษถูกเลือกใช้ให้เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (แม้จริง ๆ แล้ว ภาษาประจำชาติคือ มาเลย์) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมเศรษฐกิจสิงคโปร์เข้ากับเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันภาษาอังกฤษยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสิงคโปร์เข้าด้วยกัน ส่วนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ (จีน ทมิฬ และมาเลย์) ก็ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาที่นักเรียนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเรียน รวมทั้งยังได้รับการยกฐานะให้เป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงยุคทศวรรษ 1980 สิงคโปร์เริ่มตระหนักว่า การพึ่งพิงการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากแรงงานฝีมือราคาถูก ของสิงคโปร์ผลิตสินค้าส่งออก เริ่มหมดมนต์ขลังลง เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็ดำเนินยุทธศาสตร์แบบเดียวกัน และมีข้อได้เปรียบมากกว่าสิงคโปร์
Photo by Chensiyuan from Wikipedia
Photo by Chensiyuan from Wikipedia

ปมปัญหาในระบบการศึกษา

การศึกษาของสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนจากการเน้นปริมาณสู่การเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้นในปี ค.ศ.1979 มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณภาพและทักษะของปัจเจกบุคคลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลัง 2 ทศวรรษของการพัฒนาด้านการศึกษา บรรดาผู้วางแผนนโยบายการศึกษาสิงคโปร์เริ่มตระหนักถึงปัญหาอันเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบาย การวางแผนการศึกษาที่กระทำโดยการสั่งการจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างโดยปราศจากการปรึกษาระดับปฏิบัติการคือครู ทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียด และขวัญกำลังใจในระดับปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลต่อครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา
กล่าวโดยสรุป ระบบบริหารงานดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสำคัญ 3 ประการคือ
  • 1. โรคครับท่าน (Yes-man syndrome) ที่บรรดาผู้ปฏิบัติงานแค่เดินตามช่อง มองเท่าที่เห็น ทำตามนายสั่งโดยไม่ตั้งคำถาม
  • 2. การดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดภาวะเอาแต่รอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา
  • 3. ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบรอรับส่วนบุญ/คำตอบสำเร็จรูป (spoon feeding culture)
ปัญหาทั้ง 3 ประการนี้ทำให้การศึกษาของสิงคโปร์ขาดอิสระและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ครูและนักเรียนเป็นเพียงเสมือนเครื่องจักรภายใต้กลไกรัฐราชการ มีหน้าที่เพียงสอนและเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดมาจากเบื้องบน
การตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวกอปรกับการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในยุคทศวรรษ 1990 สู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และประชากรที่มีความรู้
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในปี ค.ศ.1997 ซึ่งเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทักษะความสามารถของปัจเจกบุคคล และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนสิงคโปร์สู่เศรษฐกิจฐานความรู้
การศึกษาของสิงคโปร์ในปัจจุบันจึงมีรูปแบบของการจัดจำแนกนักเรียนตามความรู้ความสามารถอย่างละเอียดซับซ้อน เพื่อที่จะพัฒนาทักษะความสามารถของปัจเจกบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวทำให้เกิดการแข่งขันสูง และสร้างความตึงเครียดให้กับนักเรียน

ระบบการศึกษาสิงคโปร์ในปัจจุบัน

ภายหลังจบการศึกษาขั้นประถมศึกษา 6 ปี นักเรียนจะต้องสอบ พีเอสแอลอี (Primary School Leaving Examination: PSLE) ซึ่งเป็นข้อสอบที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้น นักเรียนจะต้องนำคะแนนดังกล่าวไปยื่นที่โรงเรียนมัธยมที่อยากเข้าเรียน ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนดัง ๆ ก็มีคนอยากเข้าเรียนเยอะ ดังนั้นคะแนนพีเอสแอลอี จึงเป็นตัวตัดสิน หากได้คะแนนสูงก็มีโอกาสเข้าโรงเรียนมัธยมชื่อดัง
การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแบ่งออกเป็น 4 สาย คือ 1.เร่งรัด (Express) 2.พิเศษ (Special) 3.สามัญ (Normal Academic) และ 4.อาชีวะ (Normal Technical)
1. สายเร่งรัด
สำหรับสายเร่งรัด นักเรียนจบมัธยมศึกษาแค่ 4 ปี จากนั้นจะต้องสอบ GCE ‘O’ Level (ข้อสอบตระกูล GCE นี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) จากนั้นก็นำคะแนนไปยื่นสำหรับศึกษาต่อโดยมีทางเลือก 3 ทางคือ
  • 1.1 เรียนเตรียมอุดมศึกษา (Junior College) สองปี จากนั้นสอบก็ไปสอบ GCE ‘A’ Level เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครมหาวิทยาลัย
  • 2.2 เรียนต่อโปลีเทคนิค (Polytechnic) 3 ปี แล้วจึงไปสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
  • 3.3 เรียนในสถาบันเทคโนโลยี (Institute of Technological Education: ITE)
2. สายพิเศษ
สายนี้จะเป็นพวกเด็กอัจฉริยะ ซึ่งหลังจากเรียนมัธยมศึกษา 4 ปีแล้วจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบ GCE ‘O’ Level สามารถเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษาหลังจากนั้นจึงสอบ GCE ‘A’ Level เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครมหาวิทยาลัย โดยการเรียนในสายหลักสูตรนี้มีเฉพาะบางโรงเรียนเท่านั้น
3. สายสามัญ
นักเรียนในสายนี้จะต้องเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็นเวลา 5 ปี โดยหลังจากเรียนจบ 4 ปีแรกจะต้องสอบ GCE ‘N’ Level ถ้าสอบผ่านจะได้เรียนต่อไปปีที่ 5 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย หลังจากนั้นก็ต้องไปสอบ GCE ‘O’ Level เพื่อเลือกเรียนต่อในระดับเตรียมอุดมศึกษา หรือโปลีเทคนิค ซึ่งมีปลายทางสุดท้ายอยู่ที่มหาวิทยาลัย หรือจะเลือกเรียนสถาบันเทคโนโลยีก็ได้
4. สายอาชีวะ
นักเรียนในสายนี้คือนักเรียนสายสามัญที่เมื่อจบมัธยมศึกษา 4 ปีแล้ว สอบ GCE ‘N’ Level แต่สอบตก ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเข้าศึกษาในสถาบันเทคโนโลยี
ในระดับมหาวิทยาลัยการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ยังมีการแบ่งเป็นหลักสูตรปกติ และหลักสูตรเกียรตินิยม (Honors program) ภายหลังการเรียน 3 ปีจบลงนักศึกษาที่มีคะแนนสูงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อในปีที่ 4 ซึ่งเป็นหลักสูตรเกียรตินิยม สำหรับการเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาที่จบหลักสูตรเกียรตินิยมจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ปัญหาโลกแตกว่าด้วยค่านิยม “ยี้” สายอาชีวะ

หากพิจารณาจากระบบการศึกษาข้างต้น ดูเหมือนว่าการเรียนในสายวิชาชีพ ผ่านการเรียนในโปลีเทคนิค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันเทคโนโลยีเป็นช่องทางของผู้แพ้ ที่ไม่สามารถเรียนตรงผ่านสายเร่งรัดและพิเศษเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยตรง บรรดาผู้ปกครองชาวสิงคโปร์เองก็คิดว่าการเรียนในสายอาชีวะ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์นัก
อย่างไรก็ตาม การมีบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านวิชาชีพ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสิงคโปร์ ในปีค.ศ.1994 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาสิงคโปร์ถึงกับเอ่ยปากว่า “สิงคโปร์จะยากจนลง หากทุกคนมุ่งแต่เรียนทางวิชาการ ละเลยด้านวิชาชีพ สิงคโปร์ต้องการแรงงานที่มีฝีมือและเชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อที่จะผลักดันสิงคโปร์ให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพระดับโลก”
รัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามลดอคติที่ผู้คนมีต่ออาชีวะศึกษา ด้วยการรณรงค์ต่าง ๆ รวมทั้งการอัดฉีดงบประมาณพัฒนาสถาบันอาชีวะศึกษาให้ทันสมัยและสวยงาม เทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกงานกับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้เงินเดือนเฉลี่ยแรกเริ่มของนักศึกษาสายอาชีวะเพิ่มจาก 700 เหรียญสิงคโปร์ในปีค.ศ.1994 สู่ 1,200 เหรียญสิงคโปร์ในปีค.ศ. 2005

ใครว่าเงิน และสวัสดิการไม่สำคัญ

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญและเทงบประมาณให้กับการศึกษาอย่างมหาศาล นอกจากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่สิงคโปร์มีกับสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ อาทิ เยล (Yale) คอร์แนล (Cornell) โคลัมเบีย (Columbia) และการดึงดูดบุคลากรชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาสอนในสถาบันการศึกษาของสิงคโปร์
การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพผ่านระบบการศึกษา ยังจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่ารัฐจะใช้ระบบการประเมินบุคลากรทางการศึกษาที่เคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ทุ่มเงินและให้สวัสดิการอย่างเต็มที่กับบุคลากรทางการศึกษา เพื่อที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพสูง
เงินเดือนแรกเริ่มของครูและอาจารย์อยู่ในระดับเดียวกับทนาย วิศวกร และแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ นอกจากนี้ยังมีการให้เงินเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรที่ทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนให้ครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยลาไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ (Sabbatical leave)
บทส่งท้าย
ในรายงานเรื่องพัฒนาการการศึกษาสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 (The Development of Education in Singapore since 1965) ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเดินทางมาดูงานด้านการศึกษาที่สิงคโปร์ บทนำของรายงานได้ระบุถึงการศึกษาของสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษ 1960 ว่าแทบไม่ต่างจากชาติต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ทว่าภายในระยะเวลา 40 ปี สิงคโปร์ได้พัฒนาการศึกษาจากสภาพดังกล่าวจนทะยานขึ้นสู่ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว
กล่าวโดยสรุปพัฒนาการและการวางระบบการศึกษาของสิงคโปร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นลำดับแรก และในฐานะประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด “ทรัพยากรมนุษย์” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีค่าที่สุดของสิงคโปร์
รัฐบาลจึงลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษาอย่างมหาศาล กล่าวได้ว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์มีการวางรากฐานอย่างดี โดยคำนึงถึงบริบทความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ในปัจจุบันมีความละเอียดซับซ้อน และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรอง เพื่อดึงและพัฒนาศักยภาพของประชากรแต่ละคน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น