วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

เลาะล่องปีทองลาว และโอกาสของชาวไทย ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

เลาะล่องปีทองลาว และโอกาสของชาวไทย ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน:
โดย ธีรภัทร เจริญสุข
ปี 2012 นับว่าเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยลาวได้เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาเก่าแก่ที่ค้างคาอยู่ในประเทศ โดยมุมมองของสื่อมวลชนซึ่งได้รับการกำกับดูแลจากภาครัฐของลาว ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปี 2012 ที่ผ่านไปนั้น เป็นปีที่รุ่งโรจน์สดใสอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากปี 2009 ที่ลาวได้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ขึ้น

จากผลการสำรวจของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) พบว่า ในปี 2012 ส.ป.ป. ลาว เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชีย คือ GDP เพิ่มขึ้น 8.2% แซงหน้าประเทศจีนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7.5% ตลอดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ในปี 2001
หลังจากเปิดตลาดหลักทรัพย์ลาวในปี 2011 ปรากฏว่าบริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการเป็นผลกำไร พร้อมจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสิ้นปี 2012 ดัชนีตลาดอยู่ที่ 1250 – 1260 จุด โดยตลาดหลักทรัพย์ลาวคาดหมายว่าจะมีบริษัทชั้นนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นเป็น 5 บริษัทในปี 2013 ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าตลาด (Market Cap) ให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อองค์การการค้าโลกได้รับ ส.ป.ป. ลาวเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2012 และสภาแห่งชาติลาวได้ให้สัตยาบันเรียบร้อยแล้ว ทำให้การเคลื่อนย้ายทุนและการลงทุนเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น
ด้านการต่างประเทศ ปี 2012 ที่ผ่านมา ส.ป.ป. ลาวได้เปิดรับมิตรประเทศจากหลายชาติที่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ย่ำแย่มาก่อนในประวัติศาสตร์ อาทิ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส โดยนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาเยือนประเทศลาวอย่างเป็นทางการครั้งประวัติศาสตร์ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2012
ฮิลลารี คลินตัน ณ เวียงจันทน์ ลาว ภาพจาก Facebook สอท.อเมริกา ประจำกรุงเวียงจันทน์
ฮิลลารี คลินตัน ณ เวียงจันทน์ ลาว ภาพจาก Facebook สอท.อเมริกา ประจำกรุงเวียงจันทน์
นางฮิลลารี ได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลาว ซึ่งได้จัดแสดงวัตถุระเบิดตกค้าง (UXO – UneXplode Ordinance: ລະເບິດບໍ່ທັນແຕກ) ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งปูพรมลงบนแผ่นดินลาวในยุคสงครามเวียดนาม ระหว่างปี 2510 – 2518 อันสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตของประชาชนชาวลาวจนถึงทุกวันนี้ และได้ให้สัญญาว่าสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือประเทศลาวในการเก็บกู้ซากระเบิดตกค้างอย่างเต็มที่ (ชมภาพชุดการเยือนลาวของนางฮิลลารี) พร้อมกันนี้ได้แสวงหาความร่วมมือในการค้นหาซากสิ่งหลงเหลือ กระดูก และสิ่งของของทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสมรภูมิประเทศลาว เพื่อส่งคืนกลับสู่ครอบครัวของทหารเหล่านั้นในสหรัฐอเมริกา
(เรื่องการค้นหาซากกระดูกของทหารอเมริกันนี้ ได้ถูก บุนทะนอง ซมไซผน นำมาเขียนเป็นเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ของลาว “กะดูกอะเมลิกัน” แปลไทยโดย สำนักพิมพ์ผจญภัย)
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2012 ประเทศลาวยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ 2 รายการ คือการประชุมความร่วมมือร่วมรัฐสภาเอเชีย-ยุโรป (ASEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 9 โดยหนึ่งในจุดสนใจของการประชุม ASEM คือการเยือนประเทศลาวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ซึ่งนับว่าเป็นผู้นำฝรั่งเศสคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มาเยือน ส.ป.ป. ลาวทั้งในยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม ซึ่งประธานาธิบดีออลลองด์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเทศในทวีปเอเชีย ที่เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกในสภาวะที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังถดถอย ซึ่งการประชุมทั้งสองได้ทำให้รัฐบาลลาวต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดเตรียมความพร้อม
ทั้งทางด้านที่พักอาศัย สาธารณูปโภคและความปลอดภัย จนทำให้งบประมาณคงคลังไม่เพียงพอต่อการจ่ายรายจ่ายประจำ เช่น การจ่ายเงินเดือนข้ารัฐการต่างๆ ในเขตชนบทล่าช้า จนเป็นข่าวว่าไม่ได้รับเงินเดือนยาวนานหลายเดือน ในขณะเดียวกัน การจัดเตรียมงานดังกล่าวได้พัฒนาให้นครหลวงเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองใหม่ทันสมัยเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนรถประจำทางรูปแบบใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติวัดไต โดยได้รับการช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น การก่อสร้าง ตัดถนนและลาดยางถนนทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ครั้งใหญ่ โดยความช่วยเหลือจากเวียดนาม และการก่อสร้างเมืองใหม่ดอนจัน โดยกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศจีน
การประชุมดังกล่าวยังเป็นโอกาสให้บริษัทลาวโทรคม จำกัด เปิดตัวการสื่อสารในระบบ 4G LTE อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ใช้งานระหว่างการจัดงาน และกำลังขยายเครือข่ายครอบคลุมจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทั่วประเทศตามหลังระบบ 3G ที่นำร่องไปก่อนแล้วหลายปี ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของลาว ต่างเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ ทำให้ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดชายแดนของไทยได้รับอานิสงส์ในการจัดหาสินค้าโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบรนด์เนม เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภครายได้สูงชาวลาวตามไปด้วย

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปี 2012 เป็นปีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการคัดค้านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ จนทำให้กองประชุมใหญ่ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้มีมติระงับการก่อสร้างและการให้สัมปทานเหมืองแร่และป่าไม้ เพื่อตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อน แต่ในที่สุดกองประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 4 ของสภาแห่งชาติลาวชุดที่ 7 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ก็ได้เห็นชอบรับรองการสร้างเขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นทางการ
โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางวิศวกรรมของเขื่อนเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของ NGOs ที่กังวลเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น เปิดช่องระบายตะกอนดิน และบันไดปลา รวมถึงปรับระบบประตูน้ำเพื่อเปิดทางให้เรือโดยสารขนส่งตามลำแม่น้ำโขง รวมถึงลงนามในบันทึกข้อตกลงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อลาว-เวียดนาม และอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ลาว-จีนต่อหลังจากที่ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากปัญหาเรื่องเขตสัมปทานและแรงงาน
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนก็ยังน่ากังวล เมื่อ ส.ป.ป. ลาวมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็ต้องแลกด้วยการขุดค้นและเก็บเกี่ยวทรัพยากรแร่ธาตุและป่าไม้ตามแขวงหัวเมืองต่างๆ รวมถึงสภาพป่าไม้ที่ต้องจมลงไปอยู่ใต้น้ำหลังจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ปรากฏว่าบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทจากจีนและเวียดนาม เมื่อขุดแต่งแร่แล้วก็ไม่ได้ดำเนินการกลบฝังและกำจัดกากแร่อย่างถูกวิธี ทำให้สารพิษไหลลงปนเปื้อนตามลำน้ำธรรมชาติ หรือตัดไม้นอกเขตสัมปทานที่รัฐบาลลาวกำหนดไว้
อีกทั้งเกิดปัญหาแรงงานกลืนถิ่น คือแรงงานจีนและเวียดนามบางส่วนเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศลาวแล้ว ไม่กลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตน อยู่ตั้งรกรากและรวมกลุ่มเป็นกลุ่มอาชญากรรมในประเทศลาว ซึ่งทางการลาวยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้ ก่อนจะส่งท้ายปีด้วยการหายตัวไปของสมบัด สมพอน NGOs นักพัฒนา ผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซอย่างไร้ร่องรอย โดยทางการลาวปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ รวมถึงการขับไล่และกวาดต้อนขอทานและคนจรจัดออกจากนครหลวงเวียงจันทน์โดยไม่ทราบปลายทาง ก่อนการประชุมระดับนานาชาติจะเริ่มต้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาสภาพแวดล้อมมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อสภาแห่งชาติลาวได้ลงมติยับยั้งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ยังไม่มีการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกเลิกสัมปทานบริษัทที่มีประวัติสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมหลายแห่ง แม้ว่าแนวโน้มด้านสิทธิมนุษยชนจะไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน
ปี 2013 นี้ ความรุ่งเรืองของเมืองลาวยังดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากแผ่นดินบริสุทธิ์แห่งนี้ โอกาสของประเทศไทยและชาวไทยนั้นได้เปรียบกว่านักลงทุนจากชาติอื่นด้วยปัจจัยหลายประการ ดังนี้
1. ความคล้ายคลึงทางภาษาและวัฒนธรรม
ภาษาไทยและภาษาลาวใกล้เคียงกันมาก และสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงวัฒนธรรมที่อิงพุทธศาสนาเป็นหลัก เนื่องจากลาวยังขาดแคลนบุคลากรด้านภาษาและการสื่อสารที่จะติดต่อกับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ผู้มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศชาวไทยที่เรียนรู้ภาษาลาวอาจเข้าไปเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างง่ายและได้ค่าตอบแทนสูงกว่าที่จะแย่งงานในตลาดแรงงานเมืองไทย
2. ทัศนคติที่เป็นมิตรและกระแสนิยมความเป็นไทย
ประชาชนชาวลาวมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยและชาวไทย ตราบใดที่คนไทยไม่แสดงท่าทีเหยียดหยามดูถูกหรือมีอคติด้านลบกับความเป็นลาว ชาวลาวตามชายแดน โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์สามารถเข้าใจภาษาไทย รับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือจากประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่ชาวลาวตามแขวงหัวเมืองต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะนิยมวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย เมื่อประกอบกับภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง ธุรกิจบันเทิงร่วมระหว่างไทย-ลาว สามารถเปิดตลาดได้ 2 ประเทศพร้อมกัน ดังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในซีรีส์ภาพยนตร์ “สะบายดี หลวงพระบาง”
3. ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์
แม้จะมีแม่น้ำโขงกั้นขวาง แต่ประเทศลาวกับประเทศไทยถือว่ามีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์สูงที่สุด เนื่องจากจีนและเวียดนามนั้นมีเทือกเขาสูงและป่าไม้หนาทึบเป็นพรมแดนกั้นยากต่อการขนส่งติดต่อกัน ในขณะที่ปัจจุบัน ไทย-ลาว มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ หนองคาย-เวียงจันทน์ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต นครพนม-ท่าแขก และกำลังสร้างแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2013 นี้
ทำให้การขนส่งสินค้า และการเดินทางของนักท่องเที่ยวเป็นไปโดยสะดวก รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่สายการบินของลาวเลือกใช้เป็นสนามบินหลักที่เชื่อมต่อเข้าสู่การเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ได้สะดวกและเพียบพร้อมกว่าท่าอากาศยานอื่น ในระหว่างที่ท่าอากาศยานวัดไตยังไม่สามารถรองรับเส้นทางการบินตรงระหว่างประเทศได้
4. ข้อตกลงในกรอบทวิภาคีและอาเซียน
ด้วยสิทธิพิเศษทางภาษี การค้า การลงทุน และการเดินทางระหว่างกันในกลุ่มอาเซียน และข้อตกลงทางศุลกากรไทย-ลาว ทำให้นักลงทุนไทยได้เปรียบนักลงทุนจากประเทศอื่นในการเข้าไปแสวงหาโอกาสทางการค้ากับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของลาว ตั้งแต่การค้าระดับชายแดนไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ปัจจุบันกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้าไปลงทุนทำการเกษตรแบบพันธสัญญาในหลายแขวงของลาว โดยอาศัยความได้เปรียบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และสถานะประเทศที่การได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่งของลาว ในการผลิตสินค้าเกษตรส่งออกไปยังประเทศยุโรป หรือการค้าข้าวและสินค้าอุปโภคบริโภคชายแดนที่ทำรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี
สิ่งที่พึงจับตาในปี 2013 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หากรัฐบาลลาวสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ย่อมจะเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่สำคัญ สร้างความรุ่งเรืองมั่งคั่งระหว่างไทย-ลาว และประชาคมอาเซียนได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลลาวดำเนินนโยบายผิดพลาด ประเทศลาวก็อาจตกอยู่ในภาวะชะงักงันและกระเทือนต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น