วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความ : เลขาธิการอาเซียนคนใหม่

บทความ : เลขาธิการอาเซียนคนใหม่:


ภาพประกอบ
ในปี 2013 อาเซียนเข้าสู่วาระที่ใกล้เข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 โดยมี เล เลือง มินห์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่แทน นับเป็นเลขาธิการอาเซียนคนที่ 13 และจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 5 ปี

สำนักเลขาธิการอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519 หลังการลงนามในข้อตกลงการจัดตั้งที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาปี 2524 รัฐบาลอินโดนีเซียได้มอบอาคารเพื่อให้ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ถาวรของอาเซียน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และระหว่างประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาเซียนมีเลขาธิการผ่านมาแล้วรวม 12 คน เลขาธิการอาเซียนคนแรกคือ ฮาร์โตโน เรกโซ ดาร์โซโน จากประเทศอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งในปี 2521 สำหรับประเทศไทยเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน 2 คน คือ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการอาเซียนคนที่ 6 และล่าสุดที่เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่ง คือ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 การดำรงตำแหน่งของเลขาธิการอาเซียนเป็นตำแหน่งเวียนเรียงลำดับตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก

เล เลือง มินห์ เป็นหนึ่งในนักการทูตคนสำคัญของเวียดนาม มีบทบาททางการทูตระหว่างประเทศยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนเวียดนามในฐานะสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติช่วงปี 2551-2552 ได้รับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติถึง 2 ครั้ง ซึ่งการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในวาระนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่อาเซียนต้องฝ่าอุปสรรคท่ามกลางความขัดแย้งต้องแก้ข้อขัดแย้งระดับภูมิภาคในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในคู่กรณีในประเด็นนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าบทบาทเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันต้องหลอมรวมประเทศสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียว ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามและแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เล เลือง มินห์ มีความเชี่ยวชาญด้านการทูตระหว่างประเทศ ทิศทางนโยบายการต่างประเทศของเวียดนามที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพและจะต้องผ่านจากศูนย์กลางการบริหารในฮานอย จึงเชื่อว่า เล เลือง มินห์ จะแสดงบทบาทได้อย่างมีเกียรติภูมิในช่วงจังหวะที่อาเซียนต้องแก้ไขข้อขัดแย้งระดับภูมิภาคในประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเวียดนามและแม่โขงศึกษาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เวียดนามจะมีพื้นที่ในการผลักดันการเจรจาเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้มากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งได้ดี แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาในมุมของอธิปไตย และในแง่การเมืองด้วย

ฟาม บิงห์ มิงห์ รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทการทำงานของ เล เลือง มินห์ ว่า มีคุณสมบัติพร้อมในทุกประการและต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติอาเซียนเป็นหลัก ต้องทำงานในระดับนานาชาติและเป็นนักการทูตระดับภูมิภาค การปฏิบัติงานเพื่อผลักดันอาเซียนในปี 2015 จึงต้องติดตามดูผลงานว่า จะนำอาเซียนเดินไปในทิศทางเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาคมากเพียงใดนับจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้าขณะที่ดำรงอยู่ในตำแหน่ง โดยจะมีทีมทำงานด้านการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพของเวียดนามคอยสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง





เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์

ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์



ผู้สื่อข่าว : สุริยน ตันตราจิณ


หน่วยงาน : สำนักข่าว


ที่มาของข่าว : ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น