วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

Agenda Bangkok (8) “AEC Megacities” กรุงเทพเมืองหลวงแห่งอาเซียน?

Agenda Bangkok (8) “AEC Megacities” กรุงเทพเมืองหลวงแห่งอาเซียน?:
อีกไม่ถึง 3 ปี ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ กรุงเทพฯ นั้นจะเป็นเมืองหน้าด่านของประเทศไทย ด้วยที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นส่วนแผ่นดิน และส่วนที่เป็นภาคพื้นทะเล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของกรุงเทพฯ และประเทศไทย ในการที่จะก้าวมาเป็น “เมืองหลวงแห่งอาเซียน”
เพราะในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นมหาอำนาจใหญ่ๆ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และสหภาพยุโรปให้ความสนใจกับอาเซียนอย่างมาก และเห็นการขยายตัวเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องของประเทศสมาชิกอาเซียนเองอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่าจากข้อมูลที่ Agenda Bangkok ได้ศึกษามาภูมิภาคอาเซียนนั้นเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตของเมือง (Urbanization) ที่โตเร็วที่สุด ติดต่อกันมาถึง 3 ทศวรรษ
สิ่งที่เราจับตาก็คือการเปลี่ยนผ่านของ 4 ประเด็นคือ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง เส้นเลือดของเมือง นวัตกรรมเมือง และการเป็นมหานครชั้นนำของโลก ซึ่งตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนอยู่ในเฟสที่เรียกว่า “มหานครแห่งอุตสาหกรรมการผลิต” ที่เน้น การผลิตอุตสาหกรรมหนักและเคมี เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ วัตถุสังเคราะห์ และปิโตรเคมี
โดยใช้การส่งต่อพลังงานทางสายเคเบิ้ลออพติกเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมือง และนวัตกรรมที่เมืองผลิตได้ในปัจจุบันนั้นคือ ประดิษฐกรรมที่มีมูลค่าแต่ยังอยู่ในสถานะการจ้างประกอบหรือผลิตชิ้นส่วน เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี ยารักษาโรค
แต่ถ้าเทียบกับศูนย์กลางการผลิตของโลกอย่างแฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมัน และโตเกียวในญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ออกแบบนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมเพื่อจะจ้างประเทศต่างๆ ผลิตนั้นยังห่างชั้นอยู่นัก
แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ในประชาคมอาเซียน จะต้องก้าวต่อไปก็คือเป้าหมายที่เป็น “มหานครของโลก” โดยจำเป็นที่จะต้องยกระดับเศรษฐกิจหลักของเมืองให้ก้าวไปสู่สินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพและความเป็นนวัตกรรมที่สูงขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ สินค้าไบโอเทคโนโลยีสำหรับประเทศที่มีฐานการเกษตร ระบบการขนส่งและคมนาคม ซึ่งในส่วนนี้ กรุงเทพฯ จะได้เปรียบที่สุดในด้านที่ตั้ง ซึ่งติดทางออกทะเล
เมืองมหานครแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC Megacities
เมืองมหานครแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC Megacities (*คลิกเพื่อดูภาพขยาย)
โดยสายเคเบิ้ลออพติกยังคงมีความสำคัญในการขนส่งพลังงานในการหล่อเลี้ยงเมือง ส่วนสินค้านวัตกรรมใหม่ที่น่าจะถูกคิดค้นขึ้นเองในภูมิภาคเช่น สมาร์ทโฟนที่ดำริโดยภูมิภาค หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่าง สเต็มเซลส์ และเชื่อว่าแกนของเศรษฐกิจโลกจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนในระดับเดียวกับเซี่ยงไฮ้ในจีน หรือมุมไบในอินเดีย
ในภูมิภาคอาเซียนนั้น จะต้องเผชิญความท้าทายร่วมกันทั้งในเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน สังคมผู้สูงอายุ ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และความคาดหวังในประชากรรุ่นต่อๆ ไป ดังนั้นการสอดประสานความร่วมมือจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาไปด้วยกัน ท่ามกลางปูมหลังที่มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ในที
แนวโน้มของเทรนด์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นสูงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และจะนำไปสู่ข้อโต้แย้งในระดับสูง โดยเฉพาะหากในหลายๆ ประเทศยังเดินหน้านโยบายชาตินิยมทั้งทางการเมือง และสังคม ปัญหาดังกล่าวจะเป็นจุดเปราะบางสำหรับการแตกความร่วมมือกันได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งก็คือ แบบเรียนทางประวัติศาสตร์ในแต่ละชาติมีความเป็นชาตินิยมสูง ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลอย่างมากในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีส่วนเชื่อมที่สำคัญ ปรากฏการณ์ทางสังคมอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ หรือตัวเศรษฐกิจเองก็อาจมีส่วนในกำหนดความเป็นไปในสังคม
ข้อเสนอ (Proposal)
สิ่งสำคัญต่อกรุงเทพฯ ในฐานะประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน ก็คือการจัดตั้งความร่วมมือในระดับ “สันนิบาตเมือง” (Urban league) ที่จะเป็นการสร้างมาตรฐาน ความเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างเมืองมหานครในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือแม้กระทั่งเวทีความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเมืองหลวงที่จะพบปะกันในวาระประจำ หรืออาจจะเริ่มในระดับเมืองคู่ขนานก่อน
กลไกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีกลไกที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระทรวงต่างประเทศในบริบทกรุงเทพมหานครเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองมหานครและเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเมืองแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  พร้อมหรือยังที่จะมีกระทรวงอาเซียนเสียที?
ประโยชน์ที่จะได้รับ (Benefit)
หากทำสำเร็จก็คือ กรุงเทพมหานครมีสถานะเป็นผู้นำแนวคิดการสร้างเมืองมหานครแห่งเศรษฐกิจอาเซียน และกรุงเทพมหานครมีศักยภาพเป็นเมืองมหานครสำคัญ ระดับเดียวกับโตเกียว นิวยอร์ค หรือลอนดอน ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ประชาชนกรุงเทพฯ และภาคธุรกิจจะต้องร่วมสร้างกันเพราะประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องของคนทุกคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของกรุงเทพได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น