วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

จากอาเซียนสู่ประชาคมอาเซียน ปฏิญญาบาหลี 1 ถึง 3 ความท้าทายใหม่และความเปลี่ยนแปลง

จากอาเซียนสู่ประชาคมอาเซียน ปฏิญญาบาหลี 1 ถึง 3 ความท้าทายใหม่และความเปลี่ยนแปลง:

ที่มาและที่ไปของประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา

อาเซียนเริ่มก่อตัวมาจาก 5 ประเทศแรกคือไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 1967 จากนั้น บรูไนก็เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ในวันที่ 7 มกราคม 1984 ตามด้วยเวียดนามวันที่ 28 กรกฎาคม 1995 ส่วนลาวกับพม่าเข้ามาร่วมวงภาคีอาเซียนพร้อมกันในวันที่ 23 กรกฎาคม 1997 และสุดท้ายคือกัมพูชาในวันที่ 30 เมษายน 1999
ขณะนี้อาเซียนมีอายุ 45 ปีแล้ว กว่าจะเลื่อนขั้นการรวมตัวให้เป็นประชาคมอาเซียนได้ ต้องเผชิญเหตุการณ์หลายสิ่งอย่างทั้งร้ายและดีมามาก SIU ชวนย้อนรอย 45 ปีอาเซียน ก่อนเข้าสู่ขวบปีที่ 46 บริบูรณ์ จากอาเซียนสู่ประชาคมอาเซียนนั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากเดิมอย่างไร
  • 1975 คอมมิวนิสต์เริ่มคุกคามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เวียดนามเหนือยึดครองเวียดนามใต้สำเร็จ
  • ด้านลาวเกิดสงครามกลางเมืองบ่อยครั้งนับตั้งแต่ 1959 และยังถูกเวียดนามบุกและยึดครอง จนท้ายที่สุดพรรคปฏิวัติประชาชนลาว ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์เวียดนามและสหภาพโซเวียตก็สามารถสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและขึ้นมามีอำนาจได้ในช่วงปลายปี 1975
ธงอาเซียน
  • 1979-1989 เวียดนามยึดครองกัมพูชา อาเซียนเริ่มระส่ำระสายเพราะหวั่นเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ และร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อกดดันให้เวียดนามปลดปล่อยกัมพูชา
  • 1991 สหภาพโซเวียตและคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกล่มสลาย สงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ที่ส่งผลต่อมิติการเมือง ความมั่นคงเริ่มเบาบาง
  • 1997 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย นำไปสู่การร่วมหารือระหว่างกันของรัฐภาคีอาเซียนและประเทศในเอเชียตะวันออก จุดแรกเริ่มของความร่วมมือนี้เรียกว่า Chiang Mai Initiative (ASEAN Plus Three: ASEAN+3) CMIM หรือ Chiang Mai Initiative Multilateralisation เป็นการขยายความร่วมมือจาก “ข้อริเริ่มเชียงใหม่” หรือ Chiang Mai Initiative (CMI)
  • สาเหตุที่เรียกว่า “Chiang Mai Initiative หรือ ข้อริเริ่มเชียงใหม่” เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ของอาเซียน+3 หรือเรียกว่า Asean+3 ประเทศ คือจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ประชุมประจำปีร่วมกัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปี 2000 เป็นครั้งที่ 33 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
  • โดยหารือกันว่าจะทำความตกลงเพื่อสวอปเงินตราทวิภาคีระหว่างกันในเครือข่ายประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงที่จะต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1997 และเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินไปในคราเดียว ความร่วมมืออาเซียนบวกสามนี้ มีทั้ง 3 มิติคือ การเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม แต่ที่เป็นที่รู้จักกันโดยมาก คือความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจ
  • การก่อตั้งประชาคมอาเซียนนั้น เกิดขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนธันวาคม ปี 1997 หลังก่อตั้งอาเซียนผ่านพ้นไปได้ 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาเซียนกำลังสุกงอมพอที่จะรวมตัวกันภายใต้กรอบความร่วมมือกันในเชิงลึกมากขึ้น
  • 2003 ออกปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II)
  • 2007 ออกพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint)
  • 2009 ออกพิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASCC Blueprint) และประชาคมการเมือง ความมั่นคง (APSC Blueprint)
อาเซียน ประชาคมอาเซียน ภาพจาก asean.org
อาเซียน ประชาคมอาเซียน ภาพจาก asean.org
เรามาดูกันว่า สนธิสัญญาและแถลงการณ์สำคัญที่นำมาสู่การก่อตั้งประชาคมอาเซียนมีอะไรบ้าง??

Bali Concord I (ปฏิญญาบาหลีครั้งที่ 1) 

การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรกของกลุ่มประเทศอาเซียนประกอบด้วยผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศแรก คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1976
ทุกฝ่ายร่วมกันปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพ และมีความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN) และร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)
อาเซียนเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันหลากมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร ความมั่นคง ตลอดจนร่วมพัฒนากลไกในการให้ความร่วมมือร่วมกัน คือการก่อตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน

Bali Concord II (ปฏิญญาบาหลีครั้งที่ 2)

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2003 รัฐภาคีอาเซียนเห็นพ้องร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการพัฒนาความร่วมมือในการก่อตั้ง 3 เสาหลัก ที่ประกอบด้วยด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม วัฒนธรรม
เพื่อทำให้รัฐภาคีร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้านสันติภาพ เสถียรภาพ อันจะก่อให้เกิดความรุ่งเรืองในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบที่มีความเป็นพลวัตร มีความยืดหยุ่นท่ามกลางการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน
–ประชาคมความมั่นคง (ASEAN Security Community: ASC)–
จากถ้อยแถลงในปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II) เมื่อปี 2003 ยังใช้คำว่า ASC ไม่ใช้ APSC หรือ ASEAN Political Security Community อย่างในปัจจุบัน
โดยประชาคมความมั่นคงอาเซียนนั้นจะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยึดหลักการอาเซียนเป็นสำคัญ (ASEAN’s principles) คือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ตัดสินใจร่วมกันตามหลักฉันทามติ เคารพต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ และเป็นภูมิภาคที่มีความยืดหยุ่น หากมีภัยคุกคามหรือมีการใช้กำลัง ให้ระงับปัญหาและแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
เครื่องมือทางด้านการเมืองของอาเซียนคือ ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพ และมีความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN) และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)
ตลอดจนสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Nuclear Weapon Free Zone: SEANWFZ) เพื่อให้เป็นแกนหลักในการสร้างมาตรการความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เป็นการทูตเชิงป้องกันและเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้ง
–ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)–
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นไปตามกรอบวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ที่คาดหวังจะให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น มีการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน และทุนอย่างเสรี รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เพื่อที่จะช่วยลดความยากจนและความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมในปี 2020
โดยกลไกและสถาบันที่ทำให้ข้อริเริ่มในการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นคือ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) กรอบความตกลงอาเซียนด้านการบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) และความตกลงว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA)
–ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)–
มีเป้าหมายสอดคล้องกับวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision 2020) และเป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนเมื่อปี 1976 ที่ระบุว่า เป็นความร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสังคมและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรที่อยู่ในท้องถิ่นและกลุ่มคนที่ด้อยพัฒนา
โดยภาคส่วนทางด้านสังคมจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับมิตินี้ในเชิงรุก โดยเฉพาะในส่วนของผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่น และผลประโยชน์ต่างๆ จะเกิดขึ้นได้จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีการลงทุนมากขึ้นในด้านทรัพยากร ทั้งการให้การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น การฝึกอบรม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการสร้างงานและการให้ความดูแลสภาพทางสังคมด้วย
ทั้ง 3 เสา/ 3 ประชาคมแห่งอาเซียนจะยึดตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) เป็นหลัก
งานวันอาเซียน 8 สิงหาคม 2008 ภาพจาก ASEAN
งานวันอาเซียน 8 สิงหาคม 2008 ภาพจาก ASEAN

Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 ณ เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 9-15 มกราคม ปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการเลื่อนเป้าหมายที่อาเซียนจะยกระดับความร่วมมือระหว่างชาติอาเซียนสู่การเป็นประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ให้เร็วขึ้น
จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2020 ได้เลื่อนมาเป็นปี 2015 แทน โดยยึดตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 และ ปฏิญญาอาเซียนคอนคอร์ดทู หรือ Bali Concord II
ในปีเดียวกันนี้เอง รัฐภาคีอาเซียนก็ได้ออกปฏิญญาเซบูว่าด้วยพิมพ์เขียวกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเคยลงนามร่วมกันก่อนหน้าแล้วในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2005 กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เนื่องจากอาเซียนตระหนักว่า การร่วมกลุ่มในระดับภูมิภาคของอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย และกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ๆ
ทำให้อาเซียนจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือและองค์การให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยกฎบัตรอาเซียนดังกล่าวจะช่วยทำให้องค์การอาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและช่วยเติมเต็มให้โครงสร้างขององค์การมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาเดียวกับที่อาเซียนก่อตั้งครบ 40 ปีพอดี

Bali Concord III (ปฏิญญาบาหลีครั้งที่ 3)

แผนปฏิบัติการตามปฏิญญาบาหลี 3 มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2013-2017 เกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2011 โดยรัฐภาคีอาเซียนค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นไปในเวทีโลกมากขึ้น เห็นได้จากปฏิญญาครั้งนี้ มีเนื้อหาที่ระบุชัดเจนและให้ความสำคัญกับความท้าทายบนเวทีโลกที่อาเซียนต้องเผชิญหลากหลายมิติมากขึ้น
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอาเซียนพยายามผลักดันความเป็นประชาคมอาเซียนให้โดดเด่นมากขึ้น ตามชื่อของปฏิญญา “Bali Declaration on ASEAN Community in a Global Community of Nations” หรือ Bali Concord III ในปฏิญญาดังกล่าว เราจะเห็นความชัดเจนในความร่วมมือภายใต้ประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาที่ชัดเจนขึ้น และบ่อยครั้งที่ปฏิญญาดังกล่าวเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ร่วมกันในเวทีโลก

–ความร่วมมือด้านการเมือง-ความมั่นคง (Political-Security Cooperation)–

1. สันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ ในส่วนนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและอาเซียนให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เริ่มเน้นว่าจะสนับสนุนวัฒนธรรมของการรักษาสันติภาพ ที่รวมถึงการเคารพซึ่งความแตกต่าง สนับสนุนให้มีความอดทนอดกลั้นระหว่างกัน และให้ทำความเข้าใจต่อความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละศาสนาและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ตลอดจนให้เคารพต่อกฎหมายภายในประเทศนั้นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ ยังพยายามเน้นบทบาทประชาคมอาเซียนด้วยการพูดถึงผลประโยชน์ร่วมกันบนเวทีโลกอยู่บ่อยครั้ง และเน้นให้การสนับสนุนข้อริเริ่มต่างๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวบนเวทีโลกในลักษณะที่เป็นกลาง โดยให้อาเซียนมีบทบาทเชิงบวกที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและเสรีภาพในระดับโลกด้วย
ตลอดจนให้รัฐภาคีอาเซียนมีบทบาทเชิงรุกในการมีส่วนร่วมในบทบาทที่จะรักษาสันติภาพ และพยายามสร้างสันติภาพหลังเกิดเหตุขัดแย้ง รวมถึงเพิ่มความรวมมือภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในระดับประเทศที่เกี่ยวพันกัน เพื่อที่จะต่อสู้กับการคอร์รัปชันด้วย
2. การพัฒนาการเมือง ให้ปฏิบัติตามหลักการและวัตถุประสงค์ของอาเซียน ให้รัฐภาคีดำรงอยู่ด้วยสันติภาพ เป็นธรรม มีบรรยากาศที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตย และเป็นไปตามธรรมนูญของรัฐบาล ตลอดจนสนับสนุนและปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน และหลักเสรีภาพ รวมทั้งพยายามทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม

–ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Economic Cooperation)–

1. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในมิตินี้ อาเซียนให้ความสำคัญที่จะขยายความร่วมมือเพื่อมีส่วนร่วมกับข้อริเริ่มต่างๆ ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น ซึ่งความแข็งแกร่งที่อาเซียนมีนั้น ทำให้อาเซียนกลายเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
2. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในด้านนี้ คือการเน้นให้รัฐภาคีอาเซียนให้ความสำคัญกับนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศ และให้ความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งการให้ความร่วมมือทางการเงินด้วย ตลอดจนขยายความร่วมมือในการร่วมปฏิรูปสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ด้วย
3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในด้านนี้ ให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยี ตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเงิน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และโครงการต่างๆ ผ่านกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพยายามเพิ่มความแข็งแกร่งในการให้ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและพลังงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
อาเซียน ประชาคมอาเซียน asean community Photo by Gunawan Kartapranata from Wikipedia
ภาพถ่ายต้อนรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย, Photo by Gunawan Kartapranata from Wikipedia

–ความร่วมมือด้านสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Cultural Cooperation)–

1. การจัดการด้านภัยพิบัติ จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในอาเซียนเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้หลายๆ ประเทศในอาเซียนต้องประสบกับภาวะภัยพิบัติกันถ้วนหน้า ประเด็นนี้น่าจะเรียกได้ว่า เป็นการพยายามหาวิธีแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตภัยพิบัติซ้ำอีก
เห็นได้จากการสนับสนุนให้หุ้นส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันก่อตั้งกลไกในอาเซียน ซึ่งรวมถึงหน่วยย่อยในระดับท้องถิ่น องค์กรอิสระ (NGOs) องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรธุรกิจให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันกับองค์การสหประชาชาติและตัวแทนระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ให้เกิดความตระหนักรู้และสนับสนุนในการมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ และการตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการขยายความร่วมมือระหว่างทหารและพลเรือนในการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานแห่งอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre) รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ และตัวแทนอื่นๆ ให้ความร่วมมือผ่านกลไกดังกล่าวสามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างราบรื่น
2. การพัฒนาอย่างยั่งยืนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้พัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องพยายามลดหรือไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้วย รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการวิจัยเทคโนโลยีที่มีเป็นมิตรต่อสภาพอากาศ
3. สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตระดับสูง สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และขยายความร่วมมือในการถ่ายโอนด้านเทคโนโลยี และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในระดับที่หลากหลายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูง
ขยายการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้มีการดูแลการจ้างวานในระดับที่เหมาะสมทั้งรายได้ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานอพยพผู้ที่อาจจะเป็นเหยื่อจากเหตุอาชญากรรม หลีกเลี่ยงการสั่งสมความรุนแรง และให้มีการเข้าถึงกฎหมายและระบบการพิจารณาทางตุลาการที่เป็นธรรม
เราจะเห็นว่าจากปฏิญญาบาหลี 1 ถึงปฏิญญาบาหลี 3 นั้น อาเซียนค่อยๆ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือแต่ละระดับที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น จากเดิม ที่หวั่นเกรงภัยรอบตัว และให้ความร่วมมือเฉพาะรัฐภาคีที่อยู่ในอาเซียน
เมื่อโลกเปลี่ยนจากโลก 2 ขั้วที่นำโดยโลกเสรีนิยมกับโลกสังคมนิยม มาเป็นโลกหลายขั้ว เมื่อสิ้นทศวรรษที่ 1990 ก็ทำให้ความร่วมมือของอาเซียนผลักเข้าสู่ระดับโลกมากขึ้นท่ามกลางพลวัตรความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น