วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

การทูตทหารอาเซียน กลไกสูงสุดด้านความมั่นคง: ADMM Asean Defence Minister’s Meeting

การทูตทหารอาเซียน กลไกสูงสุดด้านความมั่นคง: ADMM Asean Defence Minister’s Meeting:
บทความก่อนหน้านี้ เราได้ฉายภาพให้เห็นถึงประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ ASEAN Political-Security Community โดยเรียกย่อๆ ว่า APSC ไปแล้ว ซึ่งช่วยสะท้อนว่า หลักการสำคัญในการให้ความร่วมมือด้านนี้เป็นอย่างไร ครั้งนี้เรามาดูกันบ้างว่า กลไกสูงสุดที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการทูตทหารในอาเซียนนี้ มี Platform ที่เป็นทั้งความร่วมมือเชิงนโยบาย และภารกิจสำคัญอย่างไรบ้าง
ข้อมูลโดยมากที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน มักเป็นประเด็นของพัฒนาการอาเซียนในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจกันในระดับประชาชนและสังคมในวงกว้าง อาจเรียกได้ว่า มีพื้นที่ในการสื่อความหมาย สร้างความรู้ในมิติเศรษฐกิจและมิติสังคม-วัฒนธรรมมากกว่าด้านความมั่นคงเสียอีก
อันเนื่องมาจาก ในความร่วมมือด้านความมั่นคงนั้น มักจะมีแต่ศัพท์เทคนิคและเรื่องการทหารที่แสดงเนื้อหาเป็นภาพความร่วมมืออันเป็นกลไกซับซ้อนและเข้าใจยาก แต่ในเมื่อเราต้องเรียนรู้และเข้าไปอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ครบทั้ง 3 เสา
อย่างน้อยการทำความเข้าใจโครงสร้างก่อน จะปูพื้นให้เราเข้าใจในเนื้อหาที่กลไกนั้นๆ ต้องการสื่อให้เห็นความหมายที่เป็นเนื้อแท้ได้ไม่ยากนัก และยังช่วยสะท้อนสถานการณ์ของอาเซียนและสังคมโลกในแต่ละช่วงได้อย่างดีว่า เราต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาหรือได้รับโอกาสใดจากความร่วมมือนั้นๆ จึงทำให้นำไปสู่การผลักดันกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง
ในการร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนนั้น ระบุว่า กลไกสูงสุดคือการประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (Asean Defence Minister’s Meeting) หรือเรียกย่อๆ ว่า ADMM
Photo from ADMM Vietnam 2010
Photo from ADMM Vietnam 2010

ที่มาของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยกลุ่มงานความร่วมมือด้านความมั่นคง ว่าด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสพิเศษแห่งอาเซียน (Working Group Cooperation of the ASEAN Special Senior Officials’ Meeting: Special SOM) ได้จัดประชุมขึ้น ณ เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 ได้ร่างแนวคิดในการจัดตั้งเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เพื่อให้กลุ่มงานฯ ดังกล่าว ร่วมพิจารณาหากต้องการจะจัดตั้งความร่วมมือนี้ขึ้น
ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) ตามปฏิญญาบาหลี 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ที่มีมาตั้งแต่ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003
นำไปสู่การรับรองแผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC Plan of Action) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 จึงทำให้อาเซียนมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเป็นประจำทุกปี

เป้าหมายของการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)

  • เพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาค โดยผ่านการหารือกับประเทศคู่เจรจา และความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการป้องกัน
  • เพื่อนำไปสู่การหารืออย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการทหารให้มีความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคงภายในอาเซียน รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนมากขึ้นด้วย
  • เพื่อสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน ผ่านการทำความเข้าใจจากความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านการป้องกันและความมั่นคง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้น
  • เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II) และสนับสนุนให้ทำตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme: VAP; on ASC)

วาระสำคัญ

ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ระบุไว้ว่าจะต้องเน้นความยืดหยุ่น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้
  • เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นด้านการป้องกันและความมั่นคง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
  • เพื่อนำไปสู่นโยบายด้านการป้องกันและความมั่นคงโดยสมัครใจ
  • เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกกระบวนการอาเซียน
  • เพื่อหารือถึงการปฏิสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาภายนอก และ
  • เพื่อทบทวนความร่วมมือด้านความมั่นคงในอาเซียน
ADMM Vietnam 2010
ADMM Vietnam 2010

Asean Defence Minister’s Meeting: ADMM (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน)

เป้าหมายสำคัญของ ADMM เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ด้วยการทำความเข้าใจความท้าทายด้านความมั่นคง ซึ่งเปิดกว้างให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ความร่วมมือ ADMM ดังกล่าว นำไปสู่โครงการที่ทำงานร่วมกันในระยะสั้น 3 ปี ขณะนี้ออกมาแล้ว 2 ฉบับ
(1) Three-Year ADMM Work Programme 2008-2010 ให้การรับรองใน ค.ศ. 2007 อันเป็นผลมาจากการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 2 โดยมีมาตรการและกิจกรรมที่ร่วมมือกันอยู่ 5 ประการดังนี้
  • เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการป้องกันร่วมกันในภูมิภาค
  • เพื่อสรรค์สร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน
  • เพื่อป้องกันความขัดแย้ง
  • เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
  • เพื่อสร้างสันติภาพภายหลังเกิดความขัดแย้ง
หลังจากโครงการที่ร่วมมือกันในวาระแรกที่จัดขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 2008 – ค.ศ. 2010 ผ่านไป การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 5 ได้ให้การรับรองโครงการ ADMM วาระ 2 ออกมา คือช่วงระหว่าง ค.ศ. 2011- 2013 หรือ
(2) Three-Year ADMM Work Programme 2011 – 2013 ซึ่งมีมาตรการที่เป็นเป้าหมายสำคัญอยู่ 4 ประการ ดังนี้
  • เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันในภูมิภาคที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
  • เพื่อขยายความร่วมมือในทางปฏิบัติที่มีอยู่ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกัน
  • เพื่อสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา
  • เพื่อเสริมสร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน
ความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ ค.ศ. 2006 โดยเฉพาะความร่วมมือในประเด็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการด้านภัยพิบัตินั้น มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อความร่วมมือ ภายใต้กรอบ ADMM
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ได้รับรองแนวคิดหลายประการที่สำคัญ ดังนี้
  • แนวคิดว่าด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพด้านการทหารของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและภัยพิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า HADR (Concept Paper on the Use of ASEAN Military Assets and Capacities in Humanitarian Assistance and Disaster Relief: HADR)
  • แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนกับองค์กรภาคประชาสังคมในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ หรือเรียกว่า CSOs (Concept Paper on Defence Establishments and Civil Society Organisations (CSOs) Cooperation on Non-Traditional Security)
APSC Blueprint Asean Political-Security Community ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน
APSC Blueprint Asean Political-Security Community ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน
ความร่วมมือ ADMM นี้ นำไปสู่การทำงานในระดับสูงสุดตามกรอบ HADR ภายใต้การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 ของการสร้างความร่วมมือ CSOs ซึ่งมีไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใน ค.ศ. 2011 และได้พยายามสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันในภูมิภาค
การผลักดันดังกล่าว นำไปสู่การรับรองแนวคิดในการขยายความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
  • แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งอาเซียน หรือ ADIC (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Defence Industry Collaboration: ADIC) และ
  • แนวคิดว่าด้วยการตั้งโครงข่ายศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพแห่งอาเซียน (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Peacekeeping Centres Network)
ความร่วมมือภายใต้กรอบ ADMM นี้ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันในประเด็นของความท้าทายด้านความมั่นคงแบบใหม่ เพื่อให้มีความร่วมมือในทางปฏิบัติที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างเสถียรภาพและสันติภาพแก่ภูมิภาค แต่กลไกสูงสุดด้านการเมืองความมั่นคงแห่งอาเซียนอย่าง ADMM ยังไม่จบเพียงเท่านี้
ADMM หรือ Asean Defence Minister’s Meeting ยังแตกยอดสาขาความร่วมมือไปยังกรอบ ADMM-Plus เพิ่มเติมอีก บทความหน้าเราจะไขปริศนาที่ว่า ADMM-Plus ต่างกับ ADMM อย่างไร ? แล้วทำไมจึงต้องมีความร่วมมือนี้เกิดขึ้น ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น