วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ชินโซะ อาเบะ: การทูตเชิงยุทธศาสตร์ กระชับมิตรอาเซียน ศัตรูร่วมชิงน่านน้ำ

ชินโซะ อาเบะ: การทูตเชิงยุทธศาสตร์ กระชับมิตรอาเซียน ศัตรูร่วมชิงน่านน้ำ:
หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยได้เป็นสมัยที่ 2 ก็เปิดตัวกับต่างประเทศด้วยทริปแรกในการเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย แม้ญี่ปุ่นจะห่างหายจากการเยือนอาเซียนไปถึง 11 ปี แต่การมาครั้งนี้หมุดหมายสำคัญนั้น อาเบะย้ำว่าเป็นการเปิดฉากทางการทูตเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ

คำกล่าวของชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe)
“ผมต้องการให้ทริปต่างประเทศครั้งแรกของผม เป็นจุดเริ่มต้นของการทูตเชิงยุทธศาสตร์ภายใต้การนำของรัฐบาลอาเบะ
“ปัจจุบัน สภาวะแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต ทุกห้วงขณะของการเปลี่ยนแปลงนี้ การดำเนินความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิด จะนำไปสู่การทำให้ภูมิภาคนี้ เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพและมีเสถียรภาพ และนั่นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่น”
Shinzo Abe ชินโซะ อาเบะ ภาพจาก Facebook Prime Minister's Office of Japan
Shinzo Abe ชินโซะ อาเบะ ภาพจาก Facebook Prime Minister’s Office of Japan
ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเลือกเยือน 3 ประเทศในอาเซียน ทีมผู้นำของชินโซะ อาเบะ ได้นำร่องการเยือนในภูมิภาคนี้ก่อนหน้าแล้ว ทั้งในระดับรองนายกรัฐมนตรีอย่างทาโร อาโซะ (Taro Azo) ที่เยือนพม่า และรัฐมนตรีต่างประเทศ นายฟุมิโอะ คิชิโดะ (Fumio Kishido) เยือนฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และออสเตรเลีย

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มหันหลังให้จีนหลังปมขัดแย้งซื้อเกาะเซนกากุขยายตัว

BBC รายงานว่า นายอาเบะเชื่อว่าญี่ปุ่นจะพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนได้น้อยลง ดังนั้น การที่เขากระชับมิตรกับชาติอาเซียน ก็เพื่อจะทำให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น น่าจะหันมามองชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นนั้น เดิมก็เป็นมิตรกับประเทศทางตอนใต้ของอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และอินเดียที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง และยังเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา และยังกังวลกับการขยายอิทธิพลเช่นกันด้วย
เหตุผลหลากประการที่ BBC ระบุไว้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจนักหากอาเซียนจะถูกเลือกเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ถ้าเราจะดูหลักฐานเชิงประจักษ์ย้อนหลัง เราจะเห็นมิติความขัดแย้งระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับจีนเด่นชัดมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ล้วนเป็นปมในใจของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่เด่นชัดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นหนีไม่พ้นเรื่องหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku islands) หรือหมู่เกาะเตี้ยวหยูว (Diaoyu islands) ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปลายปีที่แล้วหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะดังกล่าวจากภาคเอกชน ทั้งที่ยังคงมีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอยู่
จนนำไปสู่การออกมาประท้วงของชาวจีนกว่า 50 เมือง ทั้งในบริเวณหน้าสถานทูตญี่ปุ่น และก่อจราจล อาทิ การเผาโรงงานพานาโซนิคในเมืองฉิงเต่า (Qingdao) ตลอดจนตัวแทนจำหน่ายโตโยต้าในจีนถูกปล้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นด้วย อีกทั้งร้านค้าปลีกญี่ปุ่นหลายแห่งถูกบังคับให้ร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนท่าทีของจีน จนทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ต้องออกมาเรียกร้องให้จีนปกป้องชาวญี่ปุ่นและทรัพย์สินของพวกเขาด้วย
ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนก็สั่งการให้บริษัทท่องเที่ยวยกเลิกทัวร์ญี่ปุ่นทั้งหมดในช่วงวันหยุดยาวแห่งชาติต้นเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การยกเลิกทริปของนักท่องเที่ยวที่จะมาญี่ปุ่น และมีการคาดการณ์ว่า ผู้โดยสารจำนวนกว่า 30%  ยกเลิกทริปเส้นทางญี่ปุ่น-จีน เนื่องจากหวั่นเกรงภัยอันตรายที่มาจากบรรยากาศตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเอง  รายงานว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นผู้ใช้จ่ายขณะเดินทางมาท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุด ประเมินแล้วในปี 2011 มียอดค่าใช้จ่ายของชาวจีนสูงถึง 1.96 แสนล้านเหรียญเยน (หรือ 2.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยมากไม่ได้มาเพื่อพักผ่อนอย่างเดียวแต่ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าราคาแพงด้วย เช่น นาฬิกา กล้อง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
แน่นอนว่า ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและจีนนอกจากจะเป็นปมที่สางไม่ออกแล้ว การซื้อเกาะของญี่ปุ่นยิ่งทำให้จีนขุ่นเคืองมากขึ้น การเรียกร้อง การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งหาทางออกไม่ว่าจะด้วยการเมืองระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรหลัก จนรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนที่ต้องการความแน่นแฟ้นมากขึ้นเนื่องจากประเด็นขัดแย้งที่อาเซียนยังไม่สามารถขจัดออกไปได้คือเรื่องความมั่นคงบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้
40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน ญี่ปุ่น ภาพจาก ASEAN.org
40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน ญี่ปุ่น ภาพจาก ASEAN.org

40 ปีญี่ปุ่น-อาเซียน ความสัมพันธ์ร่วมสมัย

การเยือนอาเซียนของนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้น เขาต้องการเร่งกระชับความสัมพันธ์โดยเฉพาะความมั่นคงในน่านน้ำและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าด้วย “ผมอยากจะดำเนินความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างลึกซึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของพลังงานและความมั่นคงด้วย”
ขณะที่ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ นาย Albert del Rosario ได้กล่าวว่า “ฟิลิปปินส์ก็สนับสนุนให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง เพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจจีน” ด้านไทยเองก็อยากให้ญี่ปุ่นกลับมาลงทุนที่ไทยอีก หลังจากเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมาส่วนบริษัทญี่ปุ่นเองก็เตรียมพร้อมที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในเวียดนามมากขึ้น
โดยนายอาเบะกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NHK ว่า “อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามล้วนมีศักยภาพสูง ผมอยากดำเนินความสัมพันธ์กับชาติเหล่านี้ให้แน่นแฟ้น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้มีขนาดยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วย
ในปีที่ 2013 นี้ ถือเป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี หลังจากอาเซียนและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 1973  มีมูลค่าการค้าโดยรวมล่าสุดปี 2011 อยู่ที่ 2.48 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับโลโกความสัมพันธ์ 40 ปีญี่ปุ่น-อาเซียนนี้ ผู้ชนะการออกแบบคือ You Ratanaksamrith นักศึกษาชาวกัมพูชาวัย 20 ปี
  • การสื่อความหมายของโลโกคือใช้ริ้วเส้นสีเหลือง 10 เส้นแทนอาเซียน
  • วงกลมสีแดงแทนญี่ปุ่น
  • ขณะที่เส้นวงกลมด้านนอก 2 เส้นระหว่างสีเหลืองกับสีแดงด้านบนสุดแทนภาพการจับมือกันระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น แทนความสัมพันธ์และมิตรภาพ
  • รูปดอกไม้แทนความหมาย 40 ปีแห่งความสัมพันธ์ที่มีแต่สันติภาพระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น
Source: BBC News, The New York Times, International Business Times, Today, Daily Yomiuri

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น