วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

งานเสวนาทางวิชาการ “ผลัดผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน กับความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก”

งานเสวนาทางวิชาการ “ผลัดผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน กับความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก”:
งานเสวนาทางวิชาการ   
“ผลัดผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน กับความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก”
จัดโดย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่  23 มกราคม 2556
          เมื่อว้นที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ผลัดผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน กับความเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออก” เพื่อวิเคราะห์ถึงการผลัดเปลี่ยนผู้นำของ 3 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีผลกระทบอย่างไรต่อภายในประเทศ ต่อนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศรวมทั้งผลกระทบต่อไทยและอาเซียน
ในการเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ ผศ.ดร.กิตติ  ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ อ.ดร.พัฒน์นรี ศรีศุภโอฬาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.กิตติ ได้ให้ทรรศนะถึงผลกระทบของการเปลี่ยนผู้นำในประเทศญี่ปุ่นเป็นนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะซึ่งเป็นนักการเมืองหัวชาตินิยม มีความแข็งกร้าวในนโยบายต่างประเทศเกิดในครอบครัวของนักการเมืองทั้งฝ่ายบิดาและมารดา การดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ ถือเป็นรอบที่สอง จึงมีแผนที่จะอยู่ในวาระที่ยาวนานกว่าในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งอยู่เพียงปีเดียว อาเบะเน้นแนวนโยบายด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพของกองทัพไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณและการมีแผนจะเปลี่ยนชื่อกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น เป็น “กองกำลังป้องกันแห่งชาติ” ซึ่งมีนัยยะสำคัญ ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ได้รับการขนานนามว่า“อาเบะโนมิคส์”ที่เน้นอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการก่อสร้างสาธารณูปโภค และนโยบายที่เน้นให้ค่าเงินเยนอ่อน เพื่อรักษาการส่งออก
ส่วนในประเด็นด้านนโยบายต่างประเทศ ผศ.ดร.กิตติได้ให้ความเห็นว่า อาเบะมีแนวทางชาตินิยมที่เด่นชัดกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ โดยเฉพาะในประเด็นทะเลจีนตะวันออกที่กำลังมีปัญหาพิพาทหมู่เกาะกับจีนและกับเกาหลีใต้  ความขัดแย้งกับจีนในประเด็นดังกล่าว อาเบะมีท่าทีชัดเจนที่อาจจะไม่ยอมง่ายๆ  แต่กับเกาหลีก็ยอมผ่อนผันลงไปบ้าง ส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาถือว่า เป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญโดยเฉพาะการขยายกรอบการพิจารณาข้อตกลงด้านความมั่นคงและป้องกันตนเองของญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา
ทางด้านของรศ.ดร.จุลชีพ ได้ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศเอเชียตะวันออกถือเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้นำจีนจะเปลี่ยนเป็นนายสีจิ้นผิง แต่โครงสร้างทางการเมืองของจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป โดยพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายทุกอย่าง ผู้อาวุโสของพรรคยังคงมีบทบาทสูงในการกำหนดนโยบายหรือกระทั่งผู้นำ โดยภูมิหลังของสีจิ้นผิงมีบิดาเป็นนักปฏิวัติรุ่นเหมาเจ๋อตง มีความแข็งกร้าวในนโยบายต่างประเทศ ในอดีตมีชีวิตที่ข่มขื่นโดยเฉพาะช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และค่อยๆ เติบโตทางการเมืองเรื่อยมาเมื่อเข้าสู่ยุคของเติ้งเสี่ยวผิง
ในส่วนของความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากสีจิ้นผิงขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจีน คือ ประการแรก การปราบปรามคอร์รัปชั่นที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวมากขึ้นในระยะหลัง หากทำสำเร็จทั้งสีจิ้นผิงและพรรคก็จะได้รับความศรัทธาจากประชาชนเพิ่มขึ้น ประการที่สองคือ ด้านเศรษฐกิจคงจะเน้นปฏิรูปต่อไปโดยเฉพาะการเน้นให้คนจีนหันมาใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคม
ส่วนในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น รศ.ดร.จุลชีพให้ความเห็นไว้ว่า นโยบายจีนต่อสหรัฐอเมริกามี 2 ลักษณะคือ มีการแข่งขันระหว่างกันและความร่วมมือระหว่างกัน จีนก็ไม่ค่อยพอใจนักที่สหรัฐอเมริกามามีอิทธิพลข้องแวะในเอเชีย และจีนก็ต้องการเป็นมหาอำนาจทางทะเล 2 ทะเลโดยพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งขยายอิทธิพลด้วยการสร้างเมืองท่าด้วย  ส่วนในประเด็นพิพาทกับญี่ปุ่นก็ยังคงยืนยันในอธิปไตยของชาติ จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไป
ทางด้านประเทศเกาหลี รศ.ดร.นภดล ได้ให้ความเห็นโดยกล่าวปูพื้นให้เห็นภูมิหลังของผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ที่เป็นสตรี คือ ปาร์คกึนเฮ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเนื่องจากเกาหลีมีวัฒนธรรมขงจื่อแบบเข้มข้น ดังนั้นแรงผลักดันในอดีตบนเส้นทางการเมืองของนางจึงมีส่วนสำคัญและนางปาร์คกึนเฮก็ไม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่มีบทบาทหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่สมัยบิดา
ทางด้านนโยบายของปาร์คกึนเฮ มองว่า การใช้นโยบายชาตินิยมแบบเข้มข้นอาจจะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศเล็ก ซึ่งก็อาจจะมีการจำกัดขอบเขตของความขัดแย้งไว้ ทางด้านของนโยบายต่างประเทศเกาหลีใต้ยังคงมีความสัมพันธ์กับจีนในด้านของการเป็นผู้ค้าทางเศรษฐกิจ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ยังคงมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในแบบเดิมๆ ซึ่งไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ถ้ามีการเจรจาเกิดขึ้นคงต้องผ่านทางจีน
ในประเด็นต่อมา ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามให้เห็นว่าการผลัดผู้นำของ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกจะมีผลอย่างไรต่อภูมิภาคอาเซียนและไทย
ทางด้านของรศ.ดร.จุลชีพ ได้ให้ความเห็นต่อผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผู้นำจีน โดยได้ชี้ให้เห็นว่า T-pop หรือวัฒนธรรมไทยและสินค้าทางวัฒนธรรมของไทยก็เริ่มปรากฏในจีนเช่นกัน เช่น ละครไทย รวมทั้งภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand ที่ใช้ฉากในเมืองไทย นอกจากนี้คนจีนก็มาเที่ยวเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่น จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้น และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ก็มองว่า ไทยมีความน่าสนใจ 2 ประการ คือ มีภูมิยุทธศาสตร์ใจกลางอาเซียนและเป็นสะพานเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ รวมทั้ง 2 มหาสมุทรด้วย ส่วนในประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ในด้านของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่มีหลายประเทศในอาเซียนเป็นคู่กรณีกับจีน ทางจีนก็มีท่าทีในเชิงการเจรจามากกว่าจะแข็งกร้าวแบบที่กระทำต่อญี่ปุ่น  อย่างไรก็ตามเรื่องของความคลั่งชาติก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งความคลั่งชาติยังคงแฝงอยู่ในประเทศอาเซียน และกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้จะต้อง “จัดการกับอารมณ์” ของประชาชนในประเทศตัวเองอย่างไร
ทางด้านนโยบายของเกาหลีใต้ที่จะมีผลกระทบต่ออาเซียน รศ.ดร.นภดลมองว่า เกาหลีใต้อยู่ในเอเชียตะวันออกแต่ก็เป็นประเทศเล็กในภูมิภาคนี้ซึ่งก็ยังไม่ได้รวมกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นการร่วมมือกับอาเซียนซึ่งอยู่นอกภูมิภาคจึงเป็นทางออกของประเทศเล็กๆ นอกจากนี้การร่วมมือดังกล่าวก็มีกรอบที่ชัดเจน เช่น ASEAN+เกาหลีใต้โดยตรง
ส่วนผลกระทบต่อไทย ก็เห็นว่าไทยยังคงไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการทำให้เป็นศูนย์กลางในนามอาเซียนสำหรับการติดต่อกับเกาหลีใต้ แต่เมื่อพิจารณาจากภูมิยุทธศาสตร์ของไทยมีความได้เปรียบ ดังนั้นจึงควรนำประเด็นนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในฐานะใจกลางภูมิภาค นอกจากนี้การลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยยังคงมีความสำคัญ แต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “แชโบล” ก็ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตมาไทย กลุ่มที่เข้ามาลงทุนมักจะเป็นบริษัทเล็กๆ ขนาด SME ซึ่งกลุ่มนี้มีความอ่อนไหว ย้ายฐานการผลิตได้ง่ายถ้าหากไม่มีนโยบายที่ชัดเจน หรือดึงดูดการลงทุน และเกาหลีใต้ก็ยังคงรุกหนักด้านการลงทุนในอินโดนีเซียด้วย
ส่วนประเทศญี่ปุ่น ผศ.ดร.กิตติได้กล่าวถึงการมาเยือนเวียดนาม ไทยและอินโดนีเซียของอาเบะ ซึ่งมองได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากยิ่งขึ้นและประเทศเหล่านี้จะเป็นประเทศหลักของอาเซียน ส่วนประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ ญี่ปุ่นก็ให้รัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางมาเยือนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังส่งรัฐมนตรีคลังมาเยือนพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย ในประเด็นทวาย ญี่ปุ่นมีแผนจะเข้ามาร่วมลงทุนกับไทยและพม่า ซึ่งจะมีการหารือต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แน่นอนว่าอาเบะจะเน้นด้านเศรษฐกิจต่ออาเซียน
แต่ที่สำคัญเป็นพิเศษ คือ การกระชับความสัมพันธ์ทางด้านยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”หรือ strategic partnership โดยเน้นเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลและนโยบาย open ocean ด้วย
กล่าวโดยสรุป การผลัดเปลี่ยนผู้นำในเอเชียตะวันออกเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนของภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ในประเทศมหาอำนาจของเอเชียตะวันออก ความเปลี่ยนแปลงภายในก็ยังโยงกับภายนอกที่ยังมีเรื่องพิพาทต่อกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือว่าด้วยเรื่องทางด้านสถาปัตยกรรมความมั่นคงในเอเชียตะวันออกที่ยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้ภูมิภาคขาดกลไกการจัดการความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ และผู้นำทั้ง 3 ประเทศนี้จะเป็นผู้เข้าบริหารการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างมาก่อนแล้ว สิ่งที่น่าจับตาคือ นายกรัฐมนตรีอาเบะของญี่ปุ่นจะเป็นตัวแปรสำคัญในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเขามีแนวทางชาตินิยมที่ค่อนข้างแข็งกร้าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น