วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ซอฟต์แวร์พาร์ค, ซิป้าและภาคเอกชน ผนึกกำลังขับเคลื่อน IT Professional ไทยก้าวสู่ AEC 2015

ซอฟต์แวร์พาร์ค, ซิป้าและภาคเอกชน ผนึกกำลังขับเคลื่อน IT Professional ไทยก้าวสู่ AEC 2015:

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย(Software Park Thailand) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เดินหน้าผลักดันบุคลากรไอทีไทย เตรียมความพร้อมรับมือ AEC2015 ในงาน Software Park Annual Conference 2012 ภายใต้หัวข้อ “IT Professional toward AEC2015” เพื่อกระตุ้นบุคลากรไอที อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและตื่นตัวเร่งพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ ความรู้ ก่อนก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในระดับเวทีนานาชาติต่อไปในวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ Software Park Thailand เปิดเผยว่าในฐานะที่ซอฟต์แวร์พาร์คเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ  พร้อมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบุคลากรไอที ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ งานสัมมนาวิชาการประจำปีของซอฟต์แวร์พาร์ค Software Park Annual Conference 2012 จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “IT Professional toward AEC 2015” เพื่อเจาะลึกรวมถึงเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เวที AEC2015 และส่งเสริมให้บุคลากรในวงการไอทีของไทย ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการเปิดตลาดสู่เวทีอาเซียนในปี 2015 ภายในงานมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไอทีไทยในหลากหลายมิติ แบ่งเป็น
  • การประชุมสัมมนาวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรไอทีไทย ทั้งในเชิงเทคนิคการพัฒนาซอฟต์แวร์ การพัฒนาทักษะและศักยภาพบุคลากรไอที เพื่อสามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ
  • การจัดนิทรรศการ แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย บูธแสดงสินค้า และบริการขององค์กร หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงาน อาทิ บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำ ภาคการศึกษา บริษัทฝึกอบรมด้านไอที บริษัทที่ปรึกษาไอที และการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทจัดหางาน ร้านหนังสือ และสื่อด้านไอที บูธประชาสัมพันธ์ซอฟต์แวร์พาร์ค และเครือข่ายพันธมิตร TSPA และ หอเกียรติยศ Software Park Thailand’s Hall of Fame 2012 เพื่อเผยแพร่ผลงาน และแสดงศักยภาพขององค์กร ที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีผู้ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ”Software Park Thailand Hall of the Fame 2012” จำนวน 3 องค์กร
รศ.ดร.ธนชาติ กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินของซอฟต์แวร์พาร์คที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบุคลากรเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฯ โดยได้ดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดอบรมสัมมนาทั้งทางด้านเทคนิคและการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย การสนับสนุนการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีในระดับสากล เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในด้านต่างๆ  ให้แก่อุตสาหกรรม การผลักดันและสนับสนุนให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่มาตรฐานในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยใช้ CMMI  ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มและขับเคลื่อนให้เกิดการรวมกลุ่ม และสร้างชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแขนงต่างๆ อาทิ Thailand SPIN, IASA, Mobile Technology for Thailand (MT2), Cloud Thailand Alliance (CTA) และอื่นๆ  ทั้งนี้ เพื่อสร้างทักษะและให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในกลุ่มนักพัฒนาที่มีความสนใจร่วมกัน นอกจากนี้ซอฟต์แวร์พาร์คยังเป็นผู้นำในเรื่องการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีก่อเกิด(Emerging Technology) โดยเฉพาะอย่ายิ่งในด้าน Cloud Computing และ Mobile Technology ในยุคที่กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจซอฟต์แวร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และบุคลากรซอฟต์แวร์ไทย ได้เตรียมตัวและวางเส้นทางในการพัฒนาธุรกิจและสายอาชีพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและองค์กร และสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพร้อมแข่งขันในเวทีอาเซียน โดยซอฟต์แวร์พาร์คยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการต่างๆนี้อย่างเข้มข้นขึ้น ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อสร้างศักยภาพของบุคลากรและยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในการก้าวไปสู่ AEC 2015
นาย ไตรรัตน์  ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เปิดเผยว่า การพัฒนาคนด้านไอทีเพื่อรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีในอาเซียนนั้นต้องมีการยกระดับการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม โดยยุทธศาสตร์ของ SIPA นั้นวางการพัฒนาเป็นสองระดับ ระดับแรกคือพัฒนาเต็มรูปแบบ ด้วยการกำหนดงานด้านไอทีสำหรับ 6 อุตสาหกรรมหลัก ที่ไทยมีโอกาสแข่งขันและเป็นเจ้าตลาดได้สูงกว่า คือ ด้านเกษตรกรรมและอาหาร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านอัญมณี, ด้านการศึกษา, ด้านการขนส่ง, ด้านสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมด SIPA จะร่วมมือกับพันธมิตรทุกด้านยกระดับคนไอทีทั้งกระบวนการขึ้นมา เช่น Software Park Annual Conference 2012 ภายใต้แนวคิด IT Professional towards AEC 2015 ในครั้งนี้
โครงการที่เป็นรูปธรรมที่จะเข้ามารองรับการพัฒนาคนใน 6 อุตสาหกรรมนี้ของ SIPA คือ การสร้าง SIPA Academy ด้วยการที่ SIPA จะนำบุคลากรด้านไอทีเข้าร่วมศึกษากับคนในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ แล้วในห้องเรียนทั้งสองฝ่ายได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ไปจนถึงสามารถสร้างกรอบความคิดในการพัฒนาไอทีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือ Industry Framework เพื่อให้เกิดการนำไปต่อยอดสร้างแอพพลิเคชั่นรองรับได้อย่างทั้งกระบวนการ โดย SIPA จะร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านขึ้นมา
สำหรับบุคลากรที่ไม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 6 SIPA จะเข้าไปผลักดันให้บริษัทไอทีทั้งหมดผันตัวเองขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีที่สามารถเชื่อมต่อบริการของตนเองกับซอฟต์แวร์คู่แข่งขันจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาด โดยจะไม่เน้นการสร้างคนเขียนโปรแกรม หรืองานที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งงานเหล่านี้ SIPA จะหาทางถ่ายเทไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่าในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามโครงการเหล่านี้ SIPA จะร่วมกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นสมาคมต่างๆ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับด้านไอที เพื่อประสานงานและผลักดันงานด้านพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ และทำงานเชิงลึกมากขึ้นกว่าเดิม
นาย ณัฐพล อภิลักโตยานันท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยและมาเลเซีย  ซีเอ เทคโนโลยี   กล่าวว่า ในแง่ขององค์กรและบุคลากรในอุตสาหกรรมไอทีของไทย จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ก้าวทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี และที่สำคัญ ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรและบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องอัพเดทในเรื่องนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี โอกาสทางธุรกิจ รวมถึงตลาดใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเกิดขึ้นของ AEC
สำหรับ ซีเอ เทคโนโลยี เรามุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มืออาชีพในอุตสาหกรรมไอทีสามารถเพิ่มพูนศักยภาพของตนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Software Park Annual Conference 2012 โดยจะให้ข้อมูลภายใต้แนวคิด ‘IT at the speed of business’ อัพเดทเกี่ยวกับระบบไอทีอันทันสมัย ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ โมไบล์ โซเชียลมีเดีย คลาวด์ การรักษาความปลอดภัยระบบ ซึ่ง ซีเอ เทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญอยู่ในขณะนี้
นาย เอกราช  คงสว่างวงศา ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า  แนวทางของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียน  นั้นเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถของบุคลากรในทุกวัย ตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม อีกทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ของไมโครซอฟท์ที่ได้ริเริ่มขึ้นในประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น โครงการ Partners in Learning, Imagine Cup, Microsoft Innovation Center (MIC), และ Microsoft BizSpark เป็นต้น
ดร. ณัฎฐกฤตย์  สงวนดีกุล  Senior System Analyst   บริษัท  ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด  กล่าวว่า เนื่องจากใกล้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะรวมกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับประเทศยักษ์ใหญ่ในด้านอุตสาหกรรมไอทีอย่างจีนและอินเดีย โดยบุคลากรด้าน IT ของไทยเองก็จำเป็นจะต้องมีความพร้อมและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัวและปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้ ทางบริษัท ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในคุณภาพของบุคคลากรไอทีไทยดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางออกเป็นสองรูปแบบ คือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสำหรับนักพัฒนาด้านไอทีไทย และการพัฒนาตัวบุคคลากรภายในศูนย์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของตลาดในอนาคตอันใกล้ได้ โดยพัฒนาระบบคลาวด์ขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสและลดความซับซ้อนในการสร้างบริการชนิดใหม่ๆ ส่วนด้านการพัฒนาตัวบุคคลากรภายใน นั้น ทางศูนย์ได้มีนโยบายในด้านการวิจัยพัฒนาร่วมกันกับบริษัทพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ  ทำให้เจ้าหน้าที่ของเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆในเชิงลึก แต่ยังทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนต่างชาติอีกด้วย 
ดร. พีรสัณห์ บุณยคุปต์ นายกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย  (TSEP) กล่าวว่า การใช้ซอฟต์แวร์และไอทีมีความสำคัญสำหรับทุกอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นความสามารถด้านการพัฒนาและการใช้ไอทีจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เรามีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ผู้ใช้ไอซีที รวมทั้งการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ผลิตภัณฑ์ไอที และบริการไอทีของเรา ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับ ประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคคลากรด้านไอทีในทุกระดับ กลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคลากร ผู้ประกอบการ และผู้ใช้งาน เราจึงควรมุ่งเน้นไปในทิศทางและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสริมอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และตรงกับความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานที่เหมาะสม และตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมาคม TSEP หวังว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของไอซีทีในอุตสาหกรรมไทยและนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีไทย
นางสาว อธิตานันท์ อภิธนทวีพัฒน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเชียน อินเทลลิเจนท์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด   กล่าวว่า ในฐานะของผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ได้เล็งเห็นถึง การเตรียมความพร้อมระดับองค์กรสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ในเชิงกลยุทธ์อันสำคัญคือ1.การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร2.การพัฒนาโครงสร้าง และระบบบริหารจัดการเชิงนโยบาย และ 3.แนวปฏิบัติอันประกอบ การพัฒนาภาพลักษณ์องค์กรเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนได้ ในส่วนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร หรือการสร้างคนนั้น มุ่งเน้นในการเพิ่มทักษะ และความสามารถให้บุคลากรมีคุณภาพ หลากหลาย และมีจุดเด่นในความต่างมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ดังนั้นการจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อน เพิ่มโอกาสทางการค้า และเปลี่ยน ความรู้ความคิดเห็นโดย AIIT ขอร่วมเป็นหนึ่งในการให้ความร่วมมือ และการเป็นพันธมิตรของธุรกิจด้านไอที และหวังว่างานนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนไอทีสามารถมีแนวคิดใหม่ ในการพัฒนาความรู้ความสามารถมีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อการก้าวไปสู่สังคมอาเซียน
อาจารย์ ชยุตม์ สิงห์ธงธำรงกุล  ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการฝึกอบรมระหว่างประเทศด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ  บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด  กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมบุคลากรไอทีของไทยสู่ AEC2015 สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือ การที่ภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนการสอบใบรับรองความสามารถของบุคลากรไอทีของไทย โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณ และส่งเสริมงานทางด้านไอทีให้เป็นวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการวัดความรู้ความสามารถของบุคลากรทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้บุคลากรไอทีของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ
นาย อดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ( ATCI) กล่าวว่า การเปิดเสรี

ภาคการบริการของ AEC ในปี 2015เป็นโอกาสดีของนักอุตสาหกรรมไอทีไทยที่จะเข้าถึงตลาดบริการโลกที่ไร้พรมแดนและใหญ่มาก   เพราะอุตสาหกรรมภาคการบริการครอบคลุมธุรกิจหลายประเภทที่ต้องใช้ข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นสำคัญ  ซึ่งประเทศไทยมีทักษะและคำตอบไอทีที่ดีในหลายประเภท  แต่ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยและแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ  การร่วมมือกับสมาชิก AEC แลกเปลี่ยนกันทำการค้า สร้างพันธมิตรธุรกิจ การสามารถใช้แรงงานที่มีประสบการณ์และต้นทุนต่างกันจากต่างแดน จะเป็นประโยชน์กับแต่ละสมาชิกของ AEC และเป็นการเร่งการพัฒนานักไอทีและอุตสาหกรรมไอทีของไทยด้วย  อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาอีกสองปีกว่านี้ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความรู้และความมั่นใจของซอฟต์แวร์และบริการของคนไทย เช่นการสนับสนุนจากภาครัฐในการใช้งบประมาณทางด้านนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและได้ผลงานตรงกับความต้องการมากกว่าการลงทุนในซอฟต์แวร์ที่มี feature และ function เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการพัฒนานักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้แข็งแกร่งขึ้นอีก 
นาย สมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย(ATSI) กล่าวว่าในส่วนของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวนมากกว่า400 ราย เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการจัดงานนี้ และมีความยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกระตุ้นเตือน และให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้เข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ AEC ในปี 2015 ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในไทยมีความรู้, ความสามารถ, ประสบการณ์, โอกาส, ผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่ยังขาดอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ1. ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC 2. ด้านภาษาทั้งภาษาสากล, ภาษาท้องถิ่น 3. และความร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่องที่จะพัฒนาความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ซึ่งนี่เป็นบทบาทที่สำคัญของทุกหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่นี่
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย : โทรศัพท์ 0 2583 9992 ต่อ 1420-5:     โทรสาร  0 2583 2884

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น