อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช: ความหลากหลายทางชาติพันธุ์กับการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน:
จากการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ ๗/ ๕๕ จัดโดยศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ว่าด้วยเรื่อง “อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับความหลากหลายในประชาคมเดียว” นั้น
ทัศนะจากอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในประเด็น “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์กับการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน” มีเนื้อหาน่าสนใจชวนติดตาม ดังนี้
เมื่อคิดถึงอาเซียน เรามักจะพูดถึง ๑๐ ชาติหลักๆ ในอาเซียน เรามักจะพูดถึงปี ๒๕๑๐ ประชาคมอาเซียนเกิด มี ๕ ประเทศก่อตั้ง และปิดท้ายด้วยประเทศที่เข้ามาใหม่ เรามักจะพูดถึงทำนองนี้ นี่คืออาเซียนที่เรามอง เพราะฉะนั้นกรอบโลกทรรศน์อาเซียนที่เรามอง เรามักจะเห็นแต่แผนที่ทางการเมืองหรือ political map ว่ามี ๑๐ รัฐหลักๆ
เวลาเราพูดถึงปัญหา เช่นปัญหาในพม่า เราจะมองว่าปัญหาของชาติพม่าเสียส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีการตีความหลากหลายมิติ แล้วประเด็นของชาติพันธุ์ที่หลากหลายต้องเอามา review ด้วยรึเปล่าในกรณีของพม่า ต้องอย่าลืมว่าปัจจุบันนี้ อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเริ่มค่อยๆ ถูกโยกคลอนด้วยการ cross border หรือปฏิสัมพันธ์โดยตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ
กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น โรฮิงยาก็มี cross border ไปหลายประเทศในอาเซียน ในเอเชียใต้ ฯลฯ นี่คือปัญหาข้ามชาติ และทุกวันนี้หลายคนจะมุ่งเน้นไปที่พลเมืองของชาติ หรือพลเมืองที่ได้มาตรฐานสากลในกรอบขององค์การระหว่างประเทศ ในกรอบสหประชาชาติก็ดี
ประเด็นที่แหลมคมและท้าทายก็คือว่า เมื่อเราเอา political map หรือเขตแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐชาติ ครอบทับขีดคร่อมลงไปบนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลายครั้งมันเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐกับชาติ หลายครั้งเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างชาติใหญ่ชาติเล็กและทะเลาะกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไทย-กัมพูชา ความขัดแย้งที่อยู่เหนือผู้คนสองฟากฝั่งเทือกเขาพนมดงรัก
พอเรามีพรมแดนทางชาติพันธุ์วรรณาจะพบเห็นความหลากหลายที่สลับซับซ้อนมากกว่าหน่วยทางการเมืองด้วยซ้ำ เวลาเราพูดถึง ๑๐ ชาติหลักๆ ในอาเซียน ก็เน้นแต่จะพูดถึง ๑๐ ชาติในอาเซียน แต่คุณละเลยที่จะพูดถึง ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ชาติ คนตัวเล็กตัวน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนในภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มได้เช่นกัน อย่างพวก ออสโตรเอเชียติก เช่น มอญขะแมร์ กลุ่มมลายู ฯลฯ สามารถแบ่งได้หลายกลุ่ม กลุ่มที่อยู่ในที่ราบ เช่น ชาวไทยในในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา หรือคนที่อยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร ม้ง ละหู่ ลีซอ ฯลฯ ชาวเขา ไม่ใช่เรา เป็นอื่น มันก็เป็นปัญหาการปกครองของรัฐชาติด้วยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเวลามองเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะต้องมองหลากมิติ
บางคนมีการพูดถึงพุทธศาสนจักร ก็ไม่ได้อยู่ที่พม่าอย่างเดียว ที่ไทย กัมพูชา ลาว พุทธแบบเถรวาท ประชาคมแบบคริสเตียนไม่ได้อยู่ที่ฟิลิปปินส์หรือ ติมอร์ เลสเต อย่างเดียว แม้กระทั่งชุมชนอื่นๆ สืบเชื้อสายจากโปรตุเกสในมะลักกาก็ดี เพราะฉะนั้นจะมีความหลากหลายในชาติพันธุ์วรรณา แต่ปัญหาแหลมคมก็คือว่ามีการให้มุมมองหรืออรรถาธิบายกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกันไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ผมอยากเสนอมุมมองบางมิติแล้วเราจะเห็น perspectives ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา มุมมองของนักยุทธศาสตร์ทางการทหาร ด้านความมั่นคง เช่น เสนาธิการทหารพม่า มองกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นภัยคุกคามแห่งชาติ (พม่า) กลุ่มนี้ก่อการร้ายบ้าง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนบ้าง
แต่หารู้ไม่ว่า กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ในบางครั้งอาจเป็นประโยชน์ให้แก่รัฐส่วนกลาง เราจะพบว่ามีการก่อตัวของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เจนจัดในการต่อสู้ อาวุธหลากหลายรูปแบบ กองทหารของพม่าที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็มีกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาผสมด้วย
คนตัวเล็กตัวน้อยตามตะเข็บชายแดนบางครั้งถูกเบียดขับออกจากส่วนกลาง แต่บางครั้งส่วนกลางก็ถูกใช้ประโยชน์เพื่อวางยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศด้วย เพราะฉะนั้นจะมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยในด้านความมั่นคงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว กลุ่มนักรบที่เจนจัดอาจเป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันในบางประเทศ
มุมมองนักเศรษฐศาสตร์หรือนักธุรกิจ เวลามองกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมองว่าเขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักธุรกิจไทยหรือเจ้าของโรงงานต่างๆ ก็โอ๋แรงงานพม่ามาก ไม่รู้ว่าเขาจะกลับไปเมื่อใด เพราะพม่าตอนนี้ถูกทำให้สงบมากขึ้น มุมมองเหล่านี้คือภาคธุรกิจร่วมใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์
การรวมกลุ่มเป็น AEC คงไม่ได้มีการไหลล้นของแรงงานจาก ๑๐ ประเทศหลักในอาเซียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการไหลของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเล็กตัวน้อย ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ชาติเข้ามาตะเข็บชายแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
มุมมองด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม หลายครั้งที่รัฐส่วนกลางได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์ในการอัพเกรดหรือโปรโมตการท่องเที่ยว เช่นหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือการไปเชียงใหม่ก็ดี ก็จะทำให้พบเห็นชาวเขาถ่ายรูป และขายสินค้า หรือการใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็น logo เพื่อโปรโมตร้านกาแฟที่ใช้บรรยากาศดีๆ อย่างขุนเขา เช่นแม่ฮ่องสอน หรือเชียงราย แต่เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าไปซื้อกาแฟจริงๆ เขาไม่มีเงิน กินฟรีก็ยังลำบากเลย แต่เขาถูกใช้แบรนด์ ในการใช้อัตลักษณ์ของตนเองเพื่อประโยชน์ของร้านกาแฟนั้นๆ นี่คือการมองได้หลายมุมมอง
กลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่ได้เป็นประชากรหลักของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นประชากรร่วมของอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ การอพยพทางการค้า การตั้งถิ่นฐานทางชาติพันธุ์ มันมีการถ่ายโยง ถักทอ การไหลเวียนของประชาชาติไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นเรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาเป็นพันๆ ปีแล้วในยุคโบราณ
สำหรับประเทศพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์มีหลากหลายมาก แต่ก็มีบางกลุ่มถูกกดทับอำพรางและไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองและเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือกลุ่มว้าคือประชากรเก่าแก่ในอุษาคเนย์เป็นกลุ่มมอญขแมร์ มีวัฒนธรรมและมีสายสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์จีน จึงถูกเรียกว้าแดง
ว้าถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นภัยคุกคามด้านยาเสพติด ก็เป็นมิติที่ต้องยอมรับกัน แต่ว้าเองก็มีการตั้งถิ่นฐานเลียบตะเข็บชายแดนไทย มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์รอบตะเข็บชายแดนเช่นกัน ซึ่งมีลักษณะการเชื่อมกันทางวัฒนธรรมกับทางภาคเหนือของบ้านเราด้วย
อาณาจักรอารกันเป็น emporium เป็นศูนย์การค้าที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร มาวันนี้เรามักจะมองคนกลุ่มนี้ของพม่าว่าไม่ค่อยมีอารยะเท่าไหร่ แต่ในอดีตนั้นมีความเจริญไม่แพ้หงสาวดี กรุงศรีอยุธยาเลย
ในพื้นที่ตอนบนของเอเชียอาคเนย์ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ ลาว จีนตอนใต้ มาไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่าตอนนี้ในเอเชียอาคเนย์สมัยใหม่จะให้คนเหล่านี้ร่วมอยู่กับชาติหลักๆ ในอาเซียนอย่างสันติได้อย่างไร ปัญหาแหลมคมก็คือ มาวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มยังประสบปัญหาด้วยแผนที่ทางการปกครอง และปัญหาการแบ่งแยกดินแดนยังมีอยู่ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ พม่า หรืออินโดนีเซีย
ปัญหาก็คือว่าเมื่อรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ธรรมเนียมอาเซียนจะมีการหยิบยกพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้บ้างไหม แต่ถึงแม้ธรรมเนียมปฏิบัติหลักๆ ไม่พูด กลุ่มชาติพันธุ์ไปไกลกว่าที่คิด เราจะเห็นการ move ของโรฮิงยาที่บันดุง อินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน เห็นความขัดแย้งของคนยะไข่กับพม่า เราจะเห็นการ move ของกลุ่มกระเหรี่ยงเข้าไปในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น
นี่คือการปรับตัวขนานใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบางครั้งเป็นประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ แต่บางครั้งก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในแต่ละประเทศ
สุดท้าย ผมขอเสนอข้อแนะนำบางประการที่น่าช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งก็ดี หรือเอกภาพในอาเซียน ผมคิดว่ามิติแรกคือประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงไม่เป็นการชาญฉลาดนัก หากเราจะพูดถึงอาเซียนในมิติของประวัติศาสตร์สงคราม การเมือง การทหาร หรือกลุ่มชนชั้นนำ เพราะนั้นเป็นประวัติศาสตร์คลาสสิคที่ทำให้ประเทศต่างๆ ขัดแย้งกันในประเด็นชาตินิยม
การแก้ปัญหาส่วนหนึ่งอาจต้องสร้างสมดุล โดยการแช่หรือ freeze ประวัติศาสตร์บางประเด็น แต่ให้มีอยู่พอประมาณเพื่อให้มีกรอบความคิดเกี่ยวกับรัฐชาติไว้บ้างในบางประเด็น แต่ต้องเพิ่มดีกรีประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่ง เพื่อเติมเต็มสมดุลและเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพเพื่อนบ้าน มิตรไมตรีจิตรต่อกัน
ผมเสนอ Asean Emporium เน้นวัฒนธรรมและพาณิชยกรรม ซึ่ง Anthony ได้พูดถึงดินแดนภายใต้ลมมรสุมเขตร้อน ที่เป็นภูมิภาคที่ share culture ร่วมกัน และมีวัฒนธรรมแบบทางน้ำ แบบการเกษตร และมีการก่อตัวของ emporium ที่มีลักษณะเป็น cosmopolitan society เช่น พระนครศรีอยุธยา มะลักกา เหล่านี้เป็นต้น ที่มีจาม พม่า มอญ เวียด ลาว โปรตุกีซ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น
เพราะฉะนั้น นี่คือประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่น่าจะนำเสนอ คือการขยายมุมมองในเรื่องการค้าและวัฒนธรรมเพื่อหาลักษณะร่วม การค้าช้างในอุษาคเนย์มาที่อยุธยา ฯลฯ มันน่าจะมีทรรศนะลักษณะแบบนี้ ที่จะช่วยลดปัญหาได้ และก็หาจุดร่วมของประวัติศาสตร์ Asean Emporium เข้ามา ยกตัวอย่าง เช่น เรือนแพ บ้านลอยน้ำเป็นลักษณะร่วมซึ่งพบเห็นในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน ถ้าขยายมุมมองไปชายฝั่งทะเล ก็จะพบบ้านแบบนี้ที่มีลักษณะลอยน้ำ เป็นวิถีประมง เช่นบ้านลอยน้ำที่บรูไน ปันหยี พังงา เราก็ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อกลบปัญหาความขัดแย้ง
ประเด็นสุดท้าย ภายในอนาคต ประเด็นเรื่องสังคมวัฒนธรรมอาจจะช่วยยับยั้งเยียวยาความรุนแรงอันเกิดจากเขตแดน ความขัดแย้งทางการเมือง การทหารได้พอสมควร ยกตัวอย่าง อาจกลบพื้นที่ความขัดแย้งได้ เช่น พื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ไทยกัมพูชา ทำอย่างไรถึงจะยุติหรือกลบปัญหาเหล่านี้ได้ ผมมองและคิดว่าน่าจะใช้ตัวแปรทางการค้าและวัฒนธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น