วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บันทึกอาเซียน : อาเซียน กับ การศึกษา [5] โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล

บันทึกอาเซียน : อาเซียน กับ การศึกษา [5] โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล

ปฏิญญาฯการศึกษาอาเซียนฯ กับเสาหลักเศรษฐกิจ และ เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม
บทบาทของภาคการศึกษาในเสาหลักเศรษฐกิจ
“ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อให้บรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความเอื้ออาทรและแบ่งปันกัน” เรียกแบบสั้นว่า “ปฏิญญาฯการศึกษาอาเซียนฯ” ลงนามที่ชะอำ-หัวหิน วันที่ 24 ตุลาคม 2552/2009 โดยผู้นำ 10 รัฐสมาชิกอาเซียน ประกาศเรื่องบทบาทของภาคการศึกษาในเสาหลักเศรษฐกิจไว้ดังนี้:
พัฒนากรอบทักษะวิชาชีพระดับชาติให้เพิ่มพูนคุณภาพมากขึ้น อันจะนำไปสู่กรอบมาตรฐานการรับรองทักษะวิชาชีพระดับอาเซียน
ส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาให้มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายแสวงหาที่เรียน ในภูมิภาคอาเซียนโดยจัดทำเอกสารฐานข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา หลักสูตรและสถาบันการศึกษาต่างๆในรัฐสมาชิกอาเซียน
สนับสนุนแรงงานมีฝีมือให้มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายแสวงหาที่ทำงานใน ภูมิภาคอาเซียน ผ่านกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคในหมู่รัฐสมาชิกอาเซียน พร้อมด้วยความพยายามในการปกป้องและพัฒนาการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ
พัฒนามาตรฐานการประกอบอาชีพบนหลักการของการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก เป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และให้มีการประสานงานกับกระบวนการจากที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน
สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานร่วมในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำรับ โรงเรียนอาชีวะศึกษาและโรงเรียนมัธยม เพื่อเป็นฐานต่อไปสู่ระบบการรับรองร่วมกันเรื่องมาตรฐานวิชาชีพระดับอาเซียน
ดูจากปฏิญญาร่วมกันที่ประกาศนี้แล้วพบว่าอาเซียนเน้นการศึกษาให้สามารถ ผลิตพลเมืองของทั้งสิบประเทศสมาชิกให้มีมาตรฐานวิชาชีพและมีขีดความสามารถใน การแข่งขันถึงในระดับโลก เป็นการศึกษาที่เน้นการออกไปแข่งขันหางานและให้ได้งานดีๆทำในกรอบวิชาชีพของ ตน อาเซียนมีความตกลงร่วมกันในการกำหนดและพัฒนามาตรฐานการประกอบอาชีพเฉพาะส่วน ที่เป็นแรงงานมีฝีมือ ที่เรียกว่า “แรงงานทักษะ” หรือแรงงานที่ต้องใช้วิชาความรู้ เรียกว่าเป็น “ผู้ประกอบวิชาชีพ” ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกรที่ตระเวนทำงานกันทั่วอาเซียนและทั่วโลกอยู่ใน ขณะนี้ ไม่ใช่แรงงานกรรมกรแบกหาม, ขุดดิน, โบกปูน, ลูกเรือประมง, คนรับใช้, แม่ครัว, ฯลฯ ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยด้อยโอกาสเหล่านี้ที่มีปัญหาถูกหลอกลวงไปทำงานหรือกด ขี่ค่าแรงกันอยู่ในต่างแดน ทั้งในอาเซียนและในตะวันออกกลาง หรือที่อื่นๆในโลก
อาเซียนมีความตกลงกำหนดมาตรฐานร่วมวิชาชีพ ไว้จนถึงปี 2555 รวม 7 วิชาชีพ คือ 1.แพทย์, 2.ทันตแพทย์, 3.พยาบาล, 4.ช่างสำรวจ, 5.สถาปนิก, 6.วิศวกร, 7.บัญชี ส่วนอาชีพที่ 8 ที่อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดคืออาชีพบริการท่องเที่ยว การมีมาตรฐานร่วมในการประกอบวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของอาเซียนหมายความเพียง ว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาอบรมและฝึกงานจนได้มาตรฐานพร้อมที่จะเดินทางข้าม พรมแดนไปหางานทำในอาเซียนหรือในโลกได้อย่างมั่นใจ มีคุณภาพไม่แพ้ใคร แต่มิได้หมายความว่าจะได้งานทำโดยอัตโนมัติ คนมีความรู้ความสามารถมีทักษะวิชาชีพได้มาตรฐานสากลจำนวนมากก็ตกงาน ส่วนคนไม่ถึงมาตรฐานวิชาชีพแต่มีงานทำที่ได้ก็พอมีให้เห็นในโลกมนุษย์ของเรา
บทบาทการศึกษาในเสาหลักสังคมและวัฒนธรรม
“ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อให้บรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความเอื้ออาทรและแบ่งปันกัน” เรียกแบบสั้นว่า “ปฏิญญาฯการศึกษาอาเซียนฯ” ลงนามที่ชะอำ-หัวหิน วันที่ 24 ตุลาคม 2552/2009 โดยผู้นำ 10 รัฐสมาชิกอาเซียน ประกาศเรื่องบทบาทของภาคการศึกษาในเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมไว้ดังนี้:
พัฒนาเนื้อหาสาระวิชาเรียนร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับอาเซียนในโรงเรียน เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับการฝึกอบรมครูและจัดกระบวนการเรียนการสอน;
จัดให้มีหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (การศึกษาหลังจบปริญญาตรี) ในมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน;
จัดให้มีภาษาต่างๆในอาเซียนเป็นวิชาเลือกภาษาต่างประเทศในโรงเรียน;
ส่งเสริมโครงการเผยแพร่ความตระหนักรู้เรื่องอาเซียนในหมู่เยาวชน โครงการที่มีอยู่แล้วและควรจะได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง เช่น โครงการเที่ยวโรงเรียนอาเซียน (ASEAN Schools Tour), โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนอาเซียน (ASEAN Student Exchange Programme), เวทีวัฒนธรรมเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Cultural Forum), การประชุมสุดยอดเยาวชนมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Youth Summit), เวทีการศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN Educational Forum), และ การแข่งขันสุนทรพจน์เยาวชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN Young Speakers Contest)*;
สนับสนุนให้ชาวชนบทมีโอกาสกว้างมากขึ้นในเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยให้จัดตั้งโครงการของอาเซียนในระดับชุมชนเพื่อให้อาสมัครหนุ่มสาวได้ทำ งานในศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ชนบท และเขตชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆของรัฐสมาชิกอาเซียน;
ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรัฐสมาชิกอาเซียน อันเป็นการสนับสนุนโครงการ “การศึกษาเพื่อทุกคน” (Education for All - EFA);
จัดการประชุมใหญ่ว่าด้วยการวิจัยทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาในภูมิภาค และให้เป็นเวทีสำหรับนักวิจัยสำหรับรัฐสมาชิกได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันใน ประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคและเรื่องที่น่าห่วงใยอื่นๆ;
ส่งเสริมความเข้าใจและการตระหนักรู้อันดียิ่งขึ้นต่อปัญหาหลากหลายที่น่า เป็นห่วงด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน โดยบูรณาการรวมหน่วยเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน พร้อมทั้งจัดให้มีรางวัล “โรงเรียนสีเขียว” (ASEAN Green School Award);
จัดงานฉลองวันอาเซียน (8 สิงหาคม) ในเดือนสิงหาคมในโรงเรียนต่างๆทั่วอาเซียน โดยทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการร้องเพลงประจำอาเซียน**, การแข่งขันชิงรางวัลในเรื่องความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม, จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอาเซียน แสดงภาพสัญลักษณ์อาเซียน และภาพแสดงเอก ลักษณ์ต่างๆของอาเซียน, กิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน, งานเทศกาลเยาวชนอาเซียน, งานวันเด็กอาเซียน, ฯลฯ;
ตกลงว่ารัฐสมาชิกอาเซียนควรพิจารณาแบ่งปันทรัพยากร และคิดจัดตั้งกองทุนระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเงินทุนสนับสนุนพอเพียงที่จะทำงานตามข้อแนะนำในปฏิญญา นี้;
ให้องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectorial Ministerial Bodies) และเลขาธิการอาเซียน ดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญานี้ โดยการนำทาง การสนับสนุนแผนการปฏิบัติงานห้าปีเรื่องการศึกษาอาเซียน (ASEAN’s Five Year Work Plan on Education) รวมทั้งติดตามดูความผูกพันที่ให้ไว้จากคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN) แล้วให้ทำรายงานเป็นประจำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประชาคม สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อรับทราบความคืบหน้าในการปฏิบัติงาน;
ให้คำมั่นว่าจะมุ่งมั่นผูกพันในอันที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการ ศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มุมานะทำงาน, ประชาคมที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน, และประชาคมเพื่อและสำหรับประชาชนแห่งอาเซียน.
หมายเหตุ:
*AUN ย่อมาจาก ASEAN University Network แปลว่าเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
** เพลงประจำอาเซียนชื่อ “The ASEAN Way” หรือ “วิถีอาเซียน” ได้มาจากการประกวดโดยนักแต่งเพลงใน 10 ประเทศอาเซียนส่งเข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลง ผลการตัดสินในปี 2552 ได้ผู้ชนะคือนักแต่งเพลงชาวไทยสามคนคือ กิติคุณ สดประเสริฐ, พยอม วลัยวัชรา, และ สำเภา ไตรอุดม
สมเกียรติ อ่อนวิมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น