(ชื่อบทความเดิม) ปรากฏการณ์เตียงน้ำ: อาเซียนจะเลี่ยงได้หรือไม่?
ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ลองจินตนาการถึงเตียงน้ำดูนะครับ เวลาที่เราเอามือกดลงไป น้ำที่อยู่ใต้ฝ่ามือก็จะมีระดับลดต่ำลง ส่วนระดับน้ำบริเวณรอบๆฝ่ามือก็จะโป่งสูงขึ้น ฉันใดฉันนั้น ถ้าเปรียบเทียบเตียงน้ำในบริบทของการค้าระหว่างประเทศก็คือว่า เมื่อประเทศผู้นำเข้าลดกำแพงภาษีลง สิ่งที่จะโป่งขึ้นมาก็คืออุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers: NTB) นั่นเอง เหตุการณ์เช่นนี้มีให้เห็นมากต่อมากในเวทีการค้าโลก นี่แหละที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์เตียงน้ำ” หรือ “Waterbed Phenomenon”ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ในกรณีของอาเซียน อัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศคิดเป็น 0.5% ส่วนอัตราภาษีนำเข้าของประเทศ CLMV เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2.6% และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเพิ่มขึ้นของอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี อาจจะเป็นในรูปของการกำหนดมาตรฐานอาหาร มาตรฐานแรงงานหรือสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น การออกกฎระเบียบในการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า (Import licensing) หรือการกำหนดจุดนำเข้าสินค้า เป็นต้น
จากรายงานขององค์การการค้าโลก ชี้ว่าประเทศในอาเซียนที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist measures) มากที่สุดคือ อินโดนีเซีย ถ้าเทียบกับทั้งโลกแล้ว นับว่าเป็นที่ 3 รองจากอินเดียและตุรกี ในช่วงที่ผ่านมาอินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบและมาตรการหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อสินค้าออกของไทย ทั้งที่เป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม
เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ อินโดนีเซียได้ประกาศลดจำนวนจุดนำเข้าสินค้าผักผลไม้จากต่างประเทศ ไม่อนุญาตให้นำเข้าผักผลไม้ที่ท่าเรือจาการ์ตาอย่างที่เคย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความพร้อมเกี่ยวกับห้องแล็ปและอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการกักกันพืชและผลไม้ ดังนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกผลไม้ไทย เช่น ลำไย ทุเรียน ชมพู่ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากอยู่ที่จาการ์ตาและปริมณฑล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 23 ล้านคน
ทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกผักผลไม้ก็คือ จะต้องส่งทางเครื่องบินไปที่สนามบินซูการ์โน-ฮัตตา หรืออีกทางหนึ่งคือส่งไปทางเรือที่ท่าเรือสุราบายา ซึ่งเป็นทางเลือกที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นทั้งนั้น ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยในตลาดจาการ์ตาลดลง หากส่งผลไม้ไปที่ท่าเรือสุราบายา จะต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลามากขึ้นในการลำเลียงสินค้าไปที่จาการ์ตา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 800 กิโลเมตร อาจทำให้ผลไม้บอบช้ำ เน่า และเกิดความเสียหายได้
มาตรการอื่นที่ออกโดยรัฐบาลอินโดนีเซียยังมีอีก เช่น การกีดกันการนำเข้ายาต่างประเทศ โดยกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนยาร่วมกับบริษัทยาอินโดนีเซียก่อน รวมทั้งการกำหนดให้หัวหอมแดงที่นำเข้า ต้องผ่านการตัดรากและตัดจุกออก ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออกไทยและทำให้หัวหอมแดงเน่าเสียเร็วขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการห้ามส่งออกหวาย เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบและปกป้องอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศ แต่เป็นการทำให้ราคาหวายในภูมิภาคสูงขึ้นและกระทบต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค
ตัวอย่างการกีดกันจากประเทศอื่นก็มีอยู่เช่นกัน ฟิลิปปินส์กำหนดให้สินค้านำเข้า ได้แก่ ไก่แปรรูป เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ตลอดจนรถยนต์และชิ้นส่วน จะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้นให้กับผู้ส่งออกจากอาเซียน
มาตรการอีกรูปแบบที่ใช้กันบ่อยๆก็คือ ความพยายามที่จะให้หน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชน และผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ (Buy local) ซึ่งมาตรการ Buy local นี้ หากเป็นการบังคับ ก็ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างชัดเจน เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าจากต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการรณรงค์ให้ซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศอย่างเช่นที่ทำกันในกัมพูชา และ สปป.ลาว ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายการกีดกันทางการค้า ก็เหมือนกับการโฆษณาซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่ามาตรการต่างๆที่เข้มงวดขึ้นทุกมาตรการ จะเป็นการกีดกันทางการค้าซะทั้งหมด ประเทศผู้นำเข้าสามารถที่จะออกมาตรการที่ปกป้องสวัสดิภาพของประชากรของตนได้ หากตั้งอยู่บนหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discriminatory basis) แน่นอนว่ามาตรการเหล่านั้น จะกระทบต่อประเทศผู้ส่งออก แต่ถ้าจำเป็นจริงๆก็ไม่ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝง
เพราะฉะนั้น อาเซียนควรจะต้องหารือกันให้ชัดเจนเกี่ยวกับการออกมาตรการต่างๆ ที่มีผลต่อการค้าภายในภูมิภาค ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อีกทั้งต้องมีการตกลงและให้คำมั่นสัญญาต่อกันในเวทีผู้นำว่า แต่ละประเทศจะไม่อาศัยการกีดกันทางการค้าเป็นสรณะเพื่อปกป้องตลาดภายในของตนเอง
นอกจากนั้น อาเซียนควรจะมีหน่วยงานที่คอยติดตามการดำเนินมาตรการที่ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าต่อประเทศสมาชิกด้วยกันเอง ว่าง่ายๆคือสอดส่องความประพฤตินั่นเอง เพื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ทราบทั่วกัน แม้ว่าหน่วยงานนี้จะไม่มีอำนาจบังคับและไม่อาจหยุดการกีดกันทางการค้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าการรายงานความพฤติเช่นนี้ จะสามารถชะลอและยับยั้งให้ประเทศนำเข้าที่คิดจะตั้งกำแพงทางการค้าอย่างไม่สมเหตุสมผลเกิดความละอาย และในที่สุดก็จะลดการกีดกันทางการค้าในอาเซียนลงได้
ปรากฏการณ์เตียงน้ำที่เกิดขึ้นนี้ ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็จะสามารถหาทางที่จะบรรเทาความรุนแรงลงได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ การเปิดเสรีการค้าภายใต้อาเซียนก็จะขับเคลื่อนให้ปริมาณการค้าขยายตัวได้เป็นอย่างดี และจะส่งผลดีต่อการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น