พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ชื่อบทความเดิม “ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน”
อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก ส่งผลให้การบริโภคพลังงานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เชื่อว่าในปี 2020 สมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และมีประชากรรวมกันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก อัตราการบริโภคพลังงานของอาเซียนจะสูงขึ้น 4.4% ทุกปี ทำให้การบริโภคพลังงานเพิ่มจาก 375 ล้านตันน้ำมันเทียบเท่า (mtoe) เป็น 1,018 mtoe ในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นคือความท้าทายที่เราจะต้องสำรองพลังงานไว้ใช้ให้เพียงพอกับอนาคตสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ชื่อบทความเดิม “ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน”
ในอาเซียน มีทั้งประเทศที่มีพลังงานเหลือเฟือและประเทศที่ยังขาดแคลนพลังงาน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรการใช้พลังงานให้ทั่วถึงทั้งภูมิภาค ขอยกตัวอย่างของพม่าและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยในทรัพยากรพลังงาน ประชากรของทั้งสองประเทศรวมกันมากถึง 300 ล้านคน แต่ 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ กลับไม่สามารถเข้าถึงพลังงานเหล่านั้นได้ อีกทั้ง ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากพอที่จะแบ่งปันให้กับประเทศที่ขาดแคลน หากมีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในภูมิภาคได้สมบูรณ์ จะช่วยลดภาระทางการเงินในการสร้างโรงไฟฟ้าและสายส่งกำลังระหว่างประเทศสมาชิกลงได้บ้าง
ลองมาศึกษาดูกันว่า ทรัพยากรพลังงานมีอยู่ที่ไหนกันบ้างในอาเซียน
- สำหรับก๊าซธรรมชาติมีอยู่ในพม่า อินโดนีเซียและมาเลเซีย
- ถ่านหินก็มีมากในพม่าและอินโดนีเซีย
- ส่วนพลังงานน้ำนั้นก็มีแหล่งผลิตอยู่ในลาวและพม่า
- แหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของโลกก็อยู่ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
- ส่วนไทยก็มีเอทานอล
อาเซียนมีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคโดยอาศัยจุดแข็งและศักยภาพของแต่ละประเทศ ด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในภูมิภาค และการจัดการด้านความต้องการพลังงานอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ผ่านโครงการด้านต่างๆ ได้แก่
- ด้านพลังงานน้ำมัน มีความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้พลังงานในอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉิน
- ด้านก๊าซธรรมชาติ มีโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) เพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้างระบบเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงส่งเสริมการค้าก๊าซธรรมชาติอย่างเสรีผ่านระบบเครือข่ายท่อก๊าซระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอาเซียน 8 โครงการ รวมระยะทาง 2,300 กิโลเมตร และมีแผนการที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 7 โครงการในอนาคต โดยแหล่งก๊าซนาทูน่าตะวันออกของอินโดนีเซียจะเป็นแหล่งก๊าซหลักที่จะสนับสนุนโครงการท่อส่งก๊าซในอาเซียน
- ด้านพลังงานไฟฟ้า มีโครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้าของภูมิภาคและส่งเสริมให้มีการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ในการดำเนินการตามนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จและดำเนินการแล้ว 3 โครงการ กำลังก่อสร้างอยู่ 3 โครงการ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอีก 9 โครงการ
เมื่อพิจารณาประชากรของอาเซียน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีศักยภาพในการปลูกพืชพลังงานทดแทน อาทิ อ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้ศักยภาพของเชื้อเพลิงชีวภาพมีมาก รวมทั้งที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่ในเขตศูนย์สูตร สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ ถือว่าอาเซียนมีศักยภาพเรื่องพลังงานทดแทนมาก พลังงานทดแทนจึงถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงมีแผนความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% พลังงานทดแทนในปัจจุบันดูเหมือนจะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในประเทศไทยเองก็มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากภาคเอกชนภายใต้ระบบ adder ซึ่งเป็นอัตราคงที่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากค่ารับซื้อไฟฟ้าปกติ ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน เราจะต้องให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเป็นพิเศษ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนได้อย่างเต็มที่ และในอนาคต เชื่อได้ว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนหรือครัวเรือนก็จะได้รับความนิยมสูงขึ้น เมื่อเราพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น