โดย ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ทฤษฎีการรวมตัวทางเศรษฐกิจได้จำแนกรูปแบบการรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็น 5 รูปแบบด้วยกันสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
- ระดับเริ่มต้นคือ ข้อตกลงสิทธิพิเศษทางภาษี (Preferential tariff arrangement หรือ PTA) ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง สินค้าใดๆก็ตามที่นำเข้าจากประเทศที่มี PTA ร่วมกัน จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าเข้าที่มาจากประเทศอื่นที่ไม่เป็นสมาชิก
- ขั้นต่อไปของการรวมตัวทางเศรษฐกิจก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรี (Free trade arrangement หรือ FTA) ที่เราคุ้นกันอยู่ นั่นหมายความว่าภาษีศุลกากรระหว่างประเทศในกลุ่มถูกกำจัดลง ฉะนั้นการไหลเข้าออกของสินค้าและบริการจะเป็นไปได้โดยเสรี
- สหภาพศุลกากร (Customs union) ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการรวมตัว ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นจาก FTA คือ ประเทศสมาชิกกำหนดให้ใช้ภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกัน สำหรับสินค้าเข้าที่มาจากประเทศที่ไม่อยู่ในสหภาพศุลกากร
- รูปแบบการรวมตัวที่เราน่าจะทำความคุ้นเคยให้มากขึ้นก็คือ ตลาดร่วม (Common market) ซึ่งนอกจากจะครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการแล้ว ยังครอบคลุมถึงปัจจัยการผลิตด้วย นั่นหมายความว่า ภายในตลาดร่วมนั้น การไหลเข้าออกของทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานจะเป็นไปอย่างเสรีนั่นเอง
- การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ถือว่าแน่นแฟ้นที่สุดคือ สหภาพเศรษฐกิจ (Economic union) ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจคล้ายๆกับว่าเป็นประเทศเดียวกัน มีการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่สอดคล้องร่วมกัน อย่างที่เห็นจากสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ 17 ประเทศในยูโรโซนมีการรวมตัวที่เข้มข้นขึ้นไปอีก เพราะใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ก้าวข้ามการเป็น “สหภาพศุลกากร” ไป อาเซียนไม่คิดที่จะเป็นสหภาพศุลกากรด้วยเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญอย่างแรกคือความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้า แต่ละประเทศในอาเซียนมีความต้องการในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในต่อการแข่งขันจากประเทศอื่นนอกอาเซียนที่แตกต่างกันไป
ทำให้การที่จะกำหนดภาษีที่เก็บกับสินค้าเข้าจากประเทศอื่นในอัตราเดียวกันจึงเป็นไปได้ยาก และอีกประการหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 24 ภายใต้ WTO หากอาเซียนจะต้องมีการปรับอัตราภาษีศุลกากรให้ตรงตามกันแล้ว ทุกประเทศอาเซียนจะต้องลดภาษีนำเข้าลงให้เท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางการค้าฝ่ายเดียว (Unilateral liberalized country) อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความจำเป็นและความต้องการที่จะเป็นสหภาพศุลกากรอาเซียน
ในปี 2558 อาเซียนจะก้าวไปสู่การเป็น AEC ซึ่งเป็นการก้าวข้ามจาก FTA มาเป็น “ตลาดร่วม” โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ถือว่า AEC จะเป็นตลาดร่วมที่ไม่เต็มรูปแบบ เพราะติดที่การเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้ AEC ครอบคลุมถึงแรงงานวิชาชีพบางสาขาเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากหลายประเทศเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและค่าแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานภายในประเทศเดือดร้อน
แล้วในอนาคตล่ะ? อาเซียนจะใช้เงินสกุลเดียวกันอย่างในยุโรปได้มั้ย? ผมอยากบอกว่าแค่คิดก็ผิดแล้ว และมั่นใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเรา เหตุผลก็เพราะช่องว่างการพัฒนา (Development gap) ระหว่างอาเซียนด้วยกันเองนับว่ากว้างมาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่จะต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจร่วมกัน
จริงอยู่ที่การใช้เงินสกุลเดียวกันจะทำให้การค้าในภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น แต่ผลเสียมีมากกว่าผลดีแน่นอน ยกตัวอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาอย่างรวดเร็ว นี่แหละเป็นผลพวงของความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
ลองดูกรณีของกรีซครับ ประเทศเจอวิกฤตหนี้เป็นระยะเวลานานถึงเกือบ 5 ปีแล้ว ป่านนี้ยังไม่ฟื้นตัวเลย จะออกจากยูโรโซนก็ลำบาก เพราะจะมีผลกระทบต่อยุโรปอย่างมหาศาล อยู่ต่อไปก็ไม่มีอิสระในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินยูโรไม่สามารถที่จะอ่อนตัวลงได้มากจนทำให้สินค้าส่งออกของกรีซเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น การส่งออกไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกรีซดีขึ้น ก็เลยต้องอยู่ในภาวะซบเซาที่ยืดเยื้อต่อไป
เพราะฉะนั้น มันไม่จำเป็นหรอกครับที่อาเซียนอย่างเราจะต้องเจริญรอยตามสหภาพยุโรป ผมคิดว่าการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบ AEC ในรูปแบบที่เป็นอยู่น่าจะเพียงพอแล้ว ในระยะ 5 ปี 10 ปีนี้
การจัดลำดับความสำคัญไม่ควรอยู่ที่การเจรจาให้มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นเหนียวแน่นมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คืออาเซียนควรมีความจริงใจต่อกันและกันให้มากกว่านี้
ภาครัฐของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมใจกันกำจัดอุปสรรคทางการค้าแบบแอบแฝงในรูปของมาตรฐานต่างๆ และควรที่จะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับกรอบข้อตกลง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้บุคคลและภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็น AEC ให้ได้มากที่สุดและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน มิฉะนั้นจะถือว่าการเจรจาทางการค้าที่ดำเนินมากว่า 20 ปีก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภูมิภาคอย่างเต็มที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น