วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สตรีอาเซียนกับความพร้อมในการเข้าสู่ AEC

สตรีอาเซียนกับความพร้อมในการเข้าสู่ AEC:

ภาพประกอบจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) ได้จัดสัมมนาวิชาการ “เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน” ณ อาคารรัฐสภา 2 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายสำคัญที่จะส่งผลต่อสตรีของอาเซียน โดยผู้นำสตรีและนักการเมืองสตรีในภูมิภาคอาเซียน และนำไปสู่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพ สถานภาพ และบทบาทสตรีไทย
จุดเด่นสำคัญของการสัมมนาครั้งนี้ คือการเปิดเวทีอภิปรายเรื่อง ปัญหาและโอกาสความพร้อมของสตรีสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ
  • ดร.นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • Ms.Maria Isabella Beng Climaco รองประธานรัฐสภาฟิลิปปินส์
  • Ms. Nan Wah Nu สส.พรรคประชาธิปัตย์พม่า
  • Mrs. Jaslyn Go สส.พรรคประชาธิปัตย์ สิงคโปร์
  • Mr. Chia Ting Ting หัวหน้ากลุ่มเยาวชนสตรี พรรคเกรากาน รักยัต มาเลเซีย
  • Mr. Kem Sokha หัวหน้าพรรคสิทธิมนุษยชน กัมพูชา
  • Ms. Le Mai Huong ผู้แทนสถานทูตเวียดนาม
ดร.นลินี ทวีสิน กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้หญิงมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าผู้ชาย โดยเห็นได้จากการที่ผู้หญิงประสบความสำเร็จและมีบทบาทสำคัญอยู่แวดวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการนักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักการเมือง หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือและอุทิศตนเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้น แต่ก็มีสิ่งท้าทายที่จะต้องพัฒนาต่อไปก็คือ การให้อำนาจเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง และการปกป้องดูแลพิทักษ์สิทธิของผู้หญิง ขณะนี้รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง โดยเป็นแหล่งเงินทุนในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกอบรม และช่วยเหลือเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น แม่สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้เพื่อเรียนรู้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแจก Tablet ให้แก่เด็กด้วย
Mrs. Jaslyn Go จากสิงคโปร์ ระบุว่า การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายยังคงจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญของสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียม เช่น การขจัดการกีดกันทางเพศ แต่สิงคโปร์ยังขาดผู้นำที่เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะในวงการการเมือง ขณะที่ภาคธุรกิจมีผู้นำสตรีเป็นจำนวนมาก
ด้าน Mr. Kem Sokha และ Ms. Nan Wah Nu ผู้แทนจากกัมพูชาและพม่า มีความเห็นตรงกันว่า การที่ผู้หญิงไม่มีบทบาทในสังคมเพราะขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้หญิงด้วยกันโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่ามีผลต่อตนเองอย่างไร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ชายจะต้องทำงานร่วมกับองค์กรผู้หญิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความรู้แก่ผู้หญิงอย่างทั่วถึง
ส่วน Mr. Chia Ting Ting จากมาเลเซีย ยอมรับว่า ผู้หญิงในมาเลเซียถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่จริง ๆ แล้ว เรามีผู้นำสตรีในหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากผู้ที่มีความพร้อมและมีการศึกษาสูง ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้สตรีในชนบทมีการศึกษาและมีโอกาสในสังคมมากขึ้น
ข้อมูลจาก เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น