โดย สรินณา อารีธรรมศิริกุล
นักวิจัยอิสระ สหรัฐอเมริกา
นักวิจัยอิสระ สหรัฐอเมริกา
ในปี 2011 ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงานกับ KEPA (หน่วยงานที่เป็นตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจากประเทศฟินแลนด์) และผลิตบทความชื่อว่า Hubs and Spokes: Emerging Patterns of Intra-Mekong Trade and Investment (2012) ซึ่งได้ถูกนำไปเสนอในงานประชุม ASEAN Grassroots People’s Assembly (AGPA) ที่ประเทศกัมพูชาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
การประชุม ACSC/APF จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียในปี 2005 โดยเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาชนกว่าร้อยองค์กรตั้งแต่องค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ แรงงาน ชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่าพันคน โดยการประชุมจะพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศอาเซียนและหาข้อสรุปเพื่อนำไปเสนอโดยตรงกับกลุ่มผู้นำประเทศอาเซียน
ส่วนการประชุม AGPA นั้นเสมือนเป็นงานประชุมพี่น้องกันกับ ACSC/APF ที่เพิ่งจัดเป็นครั้งแรก โดยนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศกัมพูชาได้จัดตั้งองค์ประชุมนี้ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องเช่นเรื่องที่ดินทำกิน แรงงาน สิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร โดยตามธรรมเนียมแล้ว การประชุมของภาคประชาชนจะถูกจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียน ส่วนหลังการประชุมสุดยอดฯจะเป็นการจัดประชุมระหว่างอาเซียนกับภาคีประเทศและการประชุม East Asia Summit (EAS)
น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานประชุมด้วย เพราะน่าจะได้ประโยชน์มากมายจากการเข้าร่วม workshops ในหลายๆ หัวเรื่อง และคงได้ประสบการณ์ตรงที่ฝ่ายรัฐได้เข้ามาแทรกแซงข่มขู่การจัดงานประชุมของภาคประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในประเทศกัมพูชา วันแรกของการเปิดประชุม เจ้าของสถานที่ถูกข่มขู่จากฝ่ายรัฐ ทำให้ต้องหยุดขายน้ำ ขายอาหาร และตัดไฟ แต่นั้นก็ไม่สามารถปิดปากประชาชนในการถกเถียงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายทางเศรษฐกิจได้ แม้จะถูกกดดันและข่มขู่ตลอดงาน แต่การประชุมก็ยังถูกจัดขึ้นต่อไป รวมทั้งการประชุม ACSC/APF ก็ถูกข่มขู่คุกคามจากฝ่ายรัฐเช่นกัน
บทความนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอสิ่งที่ฝ่ายรัฐไม่ค่อยอยากได้ยินเท่าไร คือผลกระทบด้านลบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขาดสำนึกถึงหลักสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมที่ควรมีให้กับประชาชน
การค้าแบบ Hubs-Spokes ในภูมิภาคแม่โขง คืออะไร
ให้เราลองนึกถึงภาพแผนที่เส้นทางการบินแบบที่เราเคยเห็นในแมกกาซีนบนเครื่องบิน จะมีลักษณะเป็นคู่ๆ คือเส้นลากจากศูนย์กลาง (hub) ไปยังสถานีย่อยต่างๆ เรียกว่า spokes ลักษณะเช่นนี้สามารถนำมาอธิบายรูปแบบทางการค้าได้เช่นกัน ที่เห็นชัดที่สุดในช่วงยี่สิบปีก่อนคือความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงของอเมริกากับประเทศอื่นๆ ที่เป็นลักษณะทวิภาคี อเมริกาเป็น hub และประเทศอื่นเป็น spokesส่วนในสมัยนี้น่าจะเห็นชัดจากการค้าระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ถ้าเจาะลงไปในระดับภูมิภาคเช่นในลุ่มแม่น้ำโขง การค้าระหว่างจีน (เปรียบเสมือน hub – ศูนย์กลาง) กับประเทศแม่โขงอื่นๆ ที่ยังมีเศรษฐกิจล้าหลังกว่าเช่นลาว พม่า กัมพูชา (เปรียบเสมือน spokes – แหล่งวัตถุดิบขนส่งไปยัง hub)
สินค้าส่งออกของประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่ออุปโภคบริโภคในจีนและใช้ผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก แรงงานและที่ดินราคาถูกในประเทศแม่โขงถูกใช้ผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งไปแปรรูปในจีน และการลงทุนสร้างเขื่อนในพม่าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกไปจีนเป็นต้น
แม้ว่ารัฐบาลจากประเทศเหล่านี้จะได้รายได้จากการผลิตสินค้าข้างต้น แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการทำลายสิ่งแวดล้อม ประชาชนถูกไล่ที่ดินทำกิน และการรุกรานวิถีชีวิตชาวบ้านเป็นต้น นี่ไม่ใช่ปัญหาที่คาดไม่ถึงหรือไม่เกิดในภูมิภาคอื่น แต่ปัญหาสำคัญคือผลกระทบด้านลบเหล่านั้นถูกละเลยละเมิดเมินเฉยโดยรัฐ ปล่อยให้ประชาชนตกเป็นผู้ถูกกระทำ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยและประโยชน์จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการเปิดเสรีการค้าอย่างเป็นธรรม
ทีนี้ ลองนึกภาพข้างบนระหว่างประเทศไทยและลาวในกรณีเขื่อนไซยบุรี ระหว่างประเทศเวียดนามและลาวในกรณีการค้าไม้เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ และระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในกรณีการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเป็นต้น หมายความว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าแบบ hub-spokes นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างในกรณีประเทศอเมริกากับประเทศอื่น (เป็นประเด็นที่เรียกว่า North-South) เท่านั้น แต่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันเองคือ South-South ด้วย และไม่ใช่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับประเทศอื่นที่เราเคยทราบเท่านั้น แต่ประเทศไทยและเวียดนามก็กำลังเล่นบทเป็น hub ที่ได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบราคาถูก ขณะที่กัมพูชาและลาว ก็กำลังเล่นบท spokes ที่แบกรับภาระและผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การค้าแบบ hub-spokes มีนัยยะของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดย hub ดูจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า spokes
กรณีตัวอย่าง: เขื่อน ไม้ และน้ำตาล
เขื่อนในลาว: เราคงเคยได้ยินกรณีการสร้างเขื่อนไซยบุรีในลาวที่บริษัทในไทยเป็นผู้ลงทุนใหญ่ วัตถุประสงค์คือเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าราคาถูกส่งขายให้ไทย ผลดีคือรัฐบาลลาวจะมีรายได้เพิ่ม คนไทยจะมีไฟฟ้าราคาถูกใช้ แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นทางน้ำไหลของแม่น้ำโขงจะสร้างความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กั้นการอพยพเดินทางของปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง และก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำในประเทศแม่โขงตอนล่างซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและการเป็นอยู่ของประชาชนเป็นต้นโดยระดับน้ำในแม่โขงเคยลดลงอย่างน่าเป็นห่วงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการสร้างเขื่อนหลายแห่งกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน การสร้างเขื่อนไซยบุรีจึงคาดว่าจะทำให้เกิดผลกระทบมหันต์กับคนประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่พึ่งพิ่งอาศัยแม่น้ำสายนี้เพื่อดำรงชีวิต
ไม้ในลาว: เวียดนามมีนโยบายสงวนป่าไม้ธรรมชาติและปลูกป่าทดแทน ขณะที่เวียดนามก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้มากที่สุดในโลก เวียดนามได้ไม้จากที่ไหนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก คำตอบคือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวที่กำลังเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบไม้ขนาดใหญ่ไปเวียดนาม
โดยองค์กรที่มีชื่อว่า The Environmental Investigation Agency (EIA) ได้เข้าไปทำการสืบสวนพบว่า ไม้ที่ส่งไปเวียดนามส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย (รัฐบาลเวียดนามยังคงปฎิเสธว่าการนำเข้าไม้จากลาวไม่ผิดกฎหมาย) ที่เป็นตลกร้ายคือ แม้ลาวจะมีไม้ส่งออกให้เวียดนามมากมาย แต่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในลาวเองกลับประสบปัญหาขาดแคนวัตถุดิบ[5]
ฉะนั้น การตัดไม้ของลาวนั้นไม่ได้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศแต่อย่างใด อ้อยน้ำตาลในกัมพูชา: บริษัทน้ำตาลจากประเทศไทยเข้าไปลงทุนปลูกอ้อยในประเทศกัมพูชาเพราะต้นทุนต่ำกว่าและส่งอ้อยกลับมาผลิตน้ำตาลที่ใช้บริโภคในประเทศไทย ล่าสุดได้เปิดโรงงานผลิตน้ำตาลที่กัมพูชาเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางการค้าที่กัมพูชาได้จากอียูเพื่อส่งน้ำตาลไปขายในตลาดยุโรป ปัญหาคือเกิดการรุกไล่ข่มขู่ชาวบ้านให้ออกจากที่ดินที่เคยอยู่กินมาหลายชั่วคน ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกถูกยึดที่และบังคับให้กลายเป็นแรงงานปลูกอ้อย สมาชิกสภาอียูที่เดินทางไปสืบสวนกรณีน้ำตาลในกัมพูชาเรียกน้ำตาลส่งออกจากกัมพูชาว่าเป็น Blood Sugar
ปัญหาการไล่ที่ในกัมพูชาเพื่อฮุบที่ดิน(ไม่ใช่แค่ในกรณีน้ำตาล)กลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังในเศรษฐกิจและสังคมกัมพูชา แน่นอนว่าการเปิดการค้าเสรีย่อมมีคนได้มีคนเสีย แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้ยินแต่ด้านบวกของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเปิดการค้าเสรีในอาเซียน การมองเชิงบวกวาดภาพความสำเร็จของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2015 นั้นดีแน่นอน แต่ถ้ารัฐบาลของประเทศอาเซียนมองข้ามปัญหาระดับรากหญ้าที่กำลังเกิดขึ้นจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมแล้วก็เปรียบเสมือนกับระเบิดเวลา
อาเซียนคงไม่มีทางไปไกลได้ดั่งฝัน เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องสร้างขึ้นบนพื้นฐานความเท่าเทียมกันด้านโอกาสและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Justice) ในระดับประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น