เมื่อผู้นำแห่งดินแดนพญาอินทรีเริ่มสยายปีกร่อนลงสู่เอเชีย ถือเป็นความท้าทายต่อภูมิภาคนี้ที่ถูกปกคลุมไปด้วยอิทธิพลของพญามังกรอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะถือว่าเอเชียเคยเป็นฐานอำนาจเดิมของสหรัฐอยู่ก่อนหน้าก็ตาม แต่ก็ถูกทิ้งร้างห่างหายไปกับการจ่อมจมแก้ปัญหาในดินแดนแห่งอาหรับและการปลดล็อคสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศของตนเสียมาก
แน่นอนว่า การเดินทางเยือนประเทศในเอเชียและการเข้าร่วมประชุมในวงสมาชิกแห่งอาเซียนภายใต้การประชุมสุดยอดผู้นำแห่งเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความขัดแย้งคุกรุ่น ทั้งจากประเด็นทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับอาเซียน และประเด็นหมู่เกาะเซนกากุหรือเตี้ยวหยูวของญี่ปุ่นกับจีน การปรากฎตัวของทั้ง 2 ผู้นำ จาก 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และพบปะกันในวงประชุมอาเซียนครั้งนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะพญาอินทรีได้บินหายไปจากม่านเมฆแห่งเอเชียเนิ่นนานแล้ว
บารัค โอบามา ควบตำแหน่งผู้นำสมัย 2 พร้อมลายแทง TPP, RCEP, EAS, PSI ฯลฯ กรุยทางสู่อาเซียน
หลังบารัค โอบามา (Barack Obama) ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนโหวตอย่างล้นหลามจนสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นสมัยที่ 2 ถือเป็นชัยชนะของพรรคเดโมแครตที่สามารถรั้งเก้าอี้ผู้นำติดต่อกัน 2 วาระ ตามรอยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ผู้คว้าชัย 2 สมัยคนแรกแห่งเดโมแครตนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาแม้ว่า ห้วงเวลาแห่งการสาบานตนตามธรรมเนียมปฏิบัติของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นทุกวันที่ 20 มกราคม หลังเลือกตั้งจะยังมาไม่ถึงก็ตาม แต่บารัค โอบามาก็เลือกที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศตามยุทธศาสตร์สหรัฐหวนกลับสู่เอเชียตามที่รัฐมนตรีกลาโหม ลีออน พาเน็ตตา ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าเป็นสิ่งแรก เขาเลือก 3 ประเทศแรกที่เดินทางมาเยือน คือไทย พม่า และกัมพูชา
การทูตทวิภาคี: ใบเบิกทางนำร่องสหรัฐสู่อาเซียน
ฟื้นความสัมพันธ์ สานผลประโยชน์ร่วม
ไทย – สหรัฐอเมริกา
มิติด้านการเมือง การปกครอง: จากคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ชี้ให้เห็นว่าในด้านการเมือง การปกครองนั้น นั้น สหรัฐมีจุดยืนสำคัญที่ดำเนินความสัมพันธ์ทั้งต่อไทยและประเทศอื่นโดยเฉพาะ และแทบจะไม่เคยลางเลือน นั่นคือจุดยืนตามหลักการประชาธิปไตยที่ บารัค โอบามาในฐานะผู้นำประเทศสหรัฐ ได้ย้ำยืนชัดเจนอยู่หลายครั้งหลายคราถึงการปกครองของไทยว่ายินดีที่จะให้การสนับสนุน ส่งเสริม และเห็นด้วยกับการปกครองที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งให้กำลังใจที่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ตลอดจนพยายามแสดงท่าทีที่เชื่อมั่นในพัฒนาการของไทยด้านประชาธิปไตย และเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล
มิติด้านความมั่นคง การทหาร: ในมิตินี้ถือว่าไทยทำได้น่าประทับใจพอสมควรสำหรับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งได้รับสถานะพิเศษอย่างการเป็นพันธมิตรนอกนาโต (Major Non-NATO Ally: MNNA) อันเนื่องมาจากการร่วมต่อต้านการก่อการร้าย หลังสหรัฐอเมริกาถูกโจมตีจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ชูประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายให้กลายเป็นวาระสำคัญของทั้งในระดับชาติและระดับโลก
ตลอดจนการกล่าวถ้อยความสำคัญที่ว่า “you’re either with us, or against us” คุณเลือกที่จะอยู่ข้างเราหรืออยู่ข้างกลุ่มก่อการร้าย ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลก หรือประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ จำเป็นต้องเลือกจุดยืนและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ส่วนสหรัฐฯ ก็เดินเกมสานความสัมพันธ์กับพันธมิตรเพื่อให้มีฝ่ายสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศของตนมากกว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายที่สหรัฐกล่าวอ้าง
กรอบความร่วมมือในด้านนี้ของทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง หากจะย้อนความแล้ว เรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญตั้งแต่สมัยเกือบ 180 ปีที่แล้ว เรื่อยมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง จนเข้าสู่สงครามเย็นเลยทีเดียว ไทยแสดงจุดยืนด้วยการเคียงข้างสหรัฐในการต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ตลอดจนการนำกองกำลังเข้าไปให้ความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการทั้งในสมรภูมิอัฟกานิสถานและอิรัก รวมถึงการส่งกองกำลังเฉพาะกิจของไทยไปดาร์ฟูร์ และฝึกซ้อมรบคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดไทยก็ประกาศรับรองหลักการสกัดกั้นความริเริ่มด้านความมั่นคงในการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative: PSI) ไปแล้วเรียบร้อย
สาระสำคัญของ PSI ก็คือ การให้ความร่วมมือในการสกัดกั้น การยับยั้ง การส่งผ่าน ถ่ายลำ และขนส่ง WMD (Weapons of Mass Destruction: อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง) และร่วมป้องกันการแพร่ขยาย WMD ไปยังประเทศที่ไม่พึงประสงค์และกลุ่มก่อร้าย โดยประเทศที่เข้าร่วม PSI นี้ จะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
แต่ PSI ก็ยังมิใช่องค์การระหว่างประเทศหรือองค์การที่อยู่ภายใต้สหประชาติ มิได้มีกลไกเพื่อความร่วมมืออย่างเป็นทางการ แม้ว่าประเด็น PSI นี้จะสอดคล้องกับข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 (ปี 2004) การให้ความร่วมมือนี้ก็ยังคงเป็นไปตามความสมัครใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการแพร่ขยาย WMD
มิติด้านเศรษฐกิจ: ในประเด็นนี้ โอบามาพยายามย้ำถึงความเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ที่ดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐมาอย่างยาวนาน เขาย้ำอยู่หลายครั้งหลายครา ว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียนมาก ถึงขนาดที่เลือกไทยเป็นประเทศแรกในการเยือนหลังการเลือกตั้งสมัย 2 เพราะอยากชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญจริงๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่า เครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจที่โอบามาพกมาด้วยและชี้ชวนให้ไทยเข้าร่วมวง แต่ก็ยังคงมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการหลายภาคส่วน หากไทยเข้าร่วมวงภาคีเจรจาภายใต้กรอบ TPP ในส่วนนี้ ทีมรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นทีมบริหารหลักของนายกรัฐมนตรีไทยจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน ถึงผลประโยชน์ที่ชาติจะได้รับจากกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ว่าไทยจะมีส่วนได้ส่วนเสียจากความร่วมมือนี้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ บารัค โอบามาก็เคยกล่าวกับพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างออสเตรเลียก่อนจะมาเยือนไทยไม่กี่วันว่า “ขณะนี้อเมริกากำลังอยู่ในภาวะแข่งขันอย่างหนักหน่วงในตลาดเอเชีย เราต้องเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกฝ่าย ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ความตกลงทางการค้ากับเกาหลีใต้ เรากำลังทำงานร่วมกับออสเตรเลีย และหุ้นส่วนต่างๆ แห่งเอเชียแปซิฟิกของเรา เพื่อสร้างเส้นทางเศรษฐกิจที่ราบรื่นให้แก่ภูมิภาค เราจะร่วมทำให้ประสบผลสำเร็จ ผลักดันความตกลงทางการค้าด้วยแรงปรารถนาอันแรงกล้าของเรา และโมเดลที่มีศักยภาพเช่นนี้จะกลายเป็นตัวแบบไปทั่วภูมิภาค”
ในวงประชุมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก บารัค โอบามาได้พยามชี้ให้เห็นว่า กรอบความร่วมมือดังกล่าวมีความสำคัญเพียงใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาระบุว่า “TPP นั้น มันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และช่วยขยายการส่งออกสินค้าให้มากขึ้น ตลอดจนช่วยสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งนั่นก็คือจุดมุ่งหมายประการแรกที่ผมให้ความสำคัญยิ่ง (my number one priority) ถือเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานแก่ชาวอเมริกันนับล้านราย…”แน่นอนอยู่แล้วว่า การจะทำธุรกิจกับประเทศใด เราจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติตนเป็นหลัก และไม่น่าแปลกอะไรถ้าบารัค โอบามาจะพูดแต่เรื่อง TPP ซ้ำๆ ในหลายๆ เวที เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของตนที่จะตอบสนองเป้าหมายของชาติ ด้วยการกระชับมิตรกับชาติอื่นและโปรยนโยบายที่ตนต้องการไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นการรักษาฐานเสียงตามที่ได้หาเสียงไว้ตั้งแต่เลือกตั้ง และเมื่อได้เก้าอี้มาครอบครองเป็นสมัยที่ 2 โอบามาก็ต้องทำตามเกมที่วางไว้ และพยายามฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐให้จงได้ สถานการณ์ต่อจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ชาติพันธมิตรทั้งหลายจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐได้มากน้อยเพียงใด?!
สหรัฐอเมริกา – พม่า
(คลิกฟังประเด็นที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวกับประชาชนในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง พม่า )ในช่วงที่พม่ากำลังเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตยนั้น เราจะเห็นว่า ประเด็นที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับพม่าอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล อย่างที่สหรัฐฯ เคยย้ำซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง โดยเฉพาะกับพม่า ชาติที่สหรัฐฯ ให้ความขยันในการคว่ำบาตรเศรษฐกิจเพื่อต่อต้านการปกครองและการดำเนินนโยบายของพม่าในสมัยพม่าปกครองด้วยรัฐบาลทหาร แน่นอนว่า แม้พม่าจะเปลี่ยนรูปการปกครองให้อยู่ภายใต้การนำของพลเรือนแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลทางทหารก็ยังไม่ได้เลือนหายไป
เป็นที่น่าสังเกตว่านางอองซาน ซูจีที่ชาติตะวันตกต่างให้ความสนใจ ไว้เนื่อเชื่อใจในการเปลี่ยนผ่านพม่า ก็ได้รับเกียรติจากผู้นำสหรัฐให้ได้แถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งหาได้น้อยมากในชาติอื่นที่ผู้นำมหาอำนาจจะให้ความสำคัญกับผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านในระดับที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้
แม้ว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนในพม่า นั้น หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักคิดในกลุ่ม NGOs ต่างเห็นค้านที่ผู้นำบารัค โอบามาจะเยือนพม่าในช่วงนี้ เนื่องจากเห็นว่าประเทศยังไม่สงบจากการใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยในพม่า อีกทั้งระบอบประชาธิปไตยก็ยังขาดความโปร่งใสและไม่ใคร่จะเป็นไปในทิศทางตามครรลองของประชาธิปไตยต้นแบบนั้น
ในส่วนนี้ การเยือนของบารัค โอบามาไม่ได้เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงการให้กำลังใจกับกลุ่มผู้นำ และผู้มีส่วนในการกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศตามที่ทีมโอบามากล่าวอ้างเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณให้พม่าได้รับรู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในพม่ายังอยู่ในสายตาสหรัฐ และพญาอินทรียังยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านประเทศในทิศทางที่ชาติตะวันตกต้องการ กล่าวคือ การมีระบอบการปกครองในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย การมีเศรษฐกิจเปิดและเอื้อให้มีการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดจนการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน และการธำรงรักษาเสรีภาพของประชาชนตามหลักสากลที่ดำเนินอยู่
ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (เตียน เส่ง: Thein Sein) ภายหลังการประชุมทวิภาคี
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (เตียน เส่ง Thein Sein): กล่าวแสดงความยินดีในการเยือนประเทศพม่าครั้งแรกของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เต็ง เส่ง กล่าวย้อนความถึงการสถาปนาทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาในปี 1947 ซึ่งเป็นเพียง 1 ปีเท่านั้นก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชถ้อยแถลงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับผู้นำฝ่ายค้าน นางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi)
เต็ง เส่ง ระบุว่า 20 ปีแรกนั้น ถือเป็นความสัมพันธ์ที่มีอุปสรรคขัดขวาง มีหนทางของการทูตที่ไม่ราบรื่น แต่เมื่อบารัค โอบามาขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และด้วยความมีวิสัยทัศน์ของโอบามาเอง ที่ทำให้สหรัฐดำเนินนโยบายแบบกลับเข้ามาเกี่ยวพันใหม่ (Reengagement Policy) และความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีต่างประเทศภายใต้การนำของนางฮิลลารี คลินตัน ที่พยายามดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ามาโดยตลอด
เต็ง เส่ง ย้ำว่า จะให้ความสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล และจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการพัฒนาการศึกษา สังคม การให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวพม่าต่อไป และพยายามย้ำกับโอบามาถึง 2 ครั้งว่าจะพยายามก้าวต่อไปข้างหน้า ก้าวต่อไป (We will continue to move forward. We will move forward.) ซึ่งเป็นการยืนยันคำมั่นของเต็ง เส่งที่ล้อไปกับคำที่เป็นแคมเปญในการเลือกตั้งสหรัฐของโอบามาที่ว่า “Moving Forward With Barack Obama 2012″
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา: (*ออกตัวก่อนว่า เขาคงจะกล่าวเพียงสั้นๆ เนื่องจากต้องพูดกับประชาชนชาวพม่าอีกครั้งอยู่แล้ว –ช่วงเวลาถัดไป เขาต้องออกแถลงการณ์กับนางอองซาน ซูจี และพูดในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งด้วย–)
เขากล่าวว่าเขาเพิ่งจะสนทนาร่วมกันอย่งสร้างสรรค์กับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และเชื่อในกระบวนการปฏิรูปของเต็ง เส่ง ที่จะทำให้ประเทศพม่าก้าวหน้าต่อไปได้ พม่าพร้อมแล้วกับการทำให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตย ที่เห็นได้จากการจัดให้มีการเลือกตั้ง การปล่อยตัวนักโทษการเมือง
ในการนี้ โอบามากล่าวขอบคุณกับผู้นำพม่าที่ให้การสนับสนุนในกรอบความร่วมมือทวิภาคีในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความมั่นคง
นางอองซาน ซูจี: กล่าวว่ารู้สึกมีความสุขที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีโอบามาในประเทศของเธอ และในบ้านของเธอ สหรัฐให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าเสมอมา และย้ำว่าจะกระชับความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาต่อไป (เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า เธอมีเวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ข้อความของเธอช่างสั้นแต่ให้ความรู้สึกดีกับผู้นำสหรัฐยิ่ง)*การกล่าวถ้อยแถลงของบารัค โอบามาในประเทศพม่า ถูกจับตาเป็นอย่างมากว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกาจะเรียกประเทศพม่าว่า Burma หรือ Myanmar ในแง่นี้นั้น มีความหมายความสำคัญทางการทูต เนื่องจาก Burma หรือ ชื่อเดิมของพม่าที่ถูกใช้มาเนิ่นนานคือ Union of Burma โดยที่คำว่า Burma นั้นผันมาจากภาษาพม่าคือ Bamar ที่เป็นภาษาพูด และใช้เรียกแทนชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศพม่า ว่า บะมาร์ Bamar นี้ เป็นชื่อที่ได้รับมรดกตกทอดมาตั้งแต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ
บารัค โอบามา: กล่าวว่า เขาเคยได้รับเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนางอองซาน ซูจีมาก่อนหน้านี้แล้วที่ทำเนียบขาว และรู้สึกภูมิใจยิ่งนักที่ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่ได้มาเยือนประเทศที่น่าประทับใจเช่นนี้
เขารู้สึกยินดีมากที่ได้มาเยี่ยมเยือนสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย (icon of democracy) อย่างนางอองซาน ซูจี ผู้ที่มิได้เป็นเพียงแรงบันดาลใจให้แก่คนในประเทศนี้เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก
เขากล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนางอองซาน ซูจีเป็นพิเศษที่ให้การต้อนรับในบ้านของเธอ สถานที่แห่งนี้ที่เธอต้องเผชิญกับความยากลำบากนานัปการ และเป็นที่ที่ทำให้เห็นว่า เสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
นี่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของสหรัฐกับพม่า ถือเป็นความก้าวหน้าที่ต้องให้การสนับสนุน การปลดปล่อยนางอองซาน ซูจี การจัดการเลือกตั้ง การปล่อยตัวนักโทษการเมือง การคลายกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่มีต่อสื่อ และการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่ขยายสิทธิให้แก่แรงงานมากขึ้น รวมทั้งการเลิกนำเด็ก/ เยาวชนมาเป็นทหาร สหรัฐมีความเห็นพ้องต่อการปฏิรูปนี้ และได้ลดมาตรการคว่ำบาตรแก่พม่าแล้ว
เขากล่าวขอบคุณนางฮิลลารี คลินตัน ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า และขอบคุณนางอองซาน ซูจีไปพร้อมกัน ที่ทั้งสองได้ทำให้เห็นถึงคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน โดยนางอองซาน ซูจีนั้น ถือเป้นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก รวมทั้งตัวโอบามาเองด้วย เธอมีบทบาทสำคัยในประเทศนี้มาหลายปี จนทำให้พม่าได้กลายเป็นประเทศที่แสวงหาเสรีภาพ ความมั่งคั่ง และเกียรติภูมิ ที่ไม่ใช่แค่คนในประเทศนี้เท่านั้นที่สมควรจะได้รับ แต่หมายรวมถึงประชาชนทุกคนในโลกนี้ก็สมควรจะได้รับด้วยเช่นกัน
ต่อมา รัฐบาลทหารพม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศในปี 1989 ให้เป็น Myanmar หรือ Republic of the Union of Myanmar หากจะพูดกันตามตรงแล้ว มีหลายคนจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ยังคงเรียกพม่าว่า Burma หรือ Myanmar ผสมปนกันไปเพราะไม่ได้เห็นว่าชื่อจะต่างกันเพียงใด บ้างก็ไม่เรียกชื่อใหม่เพราะถือเป็นการประท้วงที่พม่ายังคงมีการปกครองแบบเดิมๆ การเรียกชื่อใหม่ก็ไม่ได้ทำให้พม่าเปลี่ยน
ถ้อยแถลงที่เราหยิบยกมาทั้ง 2 ฉบับนี้ ท่านสามารถคลิกเข้าไปดูตามลิงก์ที่แนบมาได้ ท่านจะพบว่าขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาพูดกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ชื่อ Myanmar เรียกประเทศทุกครั้ง แม้เต็ง เส่งจะพูดชื่อเมียนมาร์ถึง 8 ครั้ง และโอบามาจะเรียกชื่อประเทศเมียนมาร์เพียงครั้งเดียวก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติ การรักษาน้ำใจ การรักษามารยาททางการทูต และเป็นการยอมรับการเปลี่ยนผ่านประเทศของพม่าภายใต้การนำของเต็ง เส่งกลายๆ แม้จะไม่เรียกบ่อยครั้งก็ตาม
แต่ในถ้อยแถลงที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวกับผู้นำฝ่ายค้าน นางอองซาน ซูจี เขาเรียกประเทศพม่าว่า Burma 2 ครั้ง ขณะที่นางอองซานเรียก Burma เช่นกัน แต่เรียกเพียงครั้งเดียว ซึ่งนางอองซานก็เคยร้องขอให้ตะวันตกควรเรียกพม่าว่า Burma คงเดิม เพราะการปกครองประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นี่เป็นอีกประเด็นทางการทูตของโอบามาที่ถือว่าทำได้ดีในเรื่องการเรียกชื่อประเทศ เพราะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังเปลี่ยนผ่านการปกครอง ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาน้ำใจของนางอองซาน ซูจีไว้ได้ด้วย
*บทความหน้าเราจะพูดถึงการทูตพหุภาคีของสหรัฐต่ออาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ และบทบาทจีนในการครอบครองพื้นที่อิทธิพลเดิมให้คงอยู่ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น