“ผู้หญิง-ผู้บริโภค-แรงงาน-วิกฤต-โอกาส มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีนัยยะกับ ASEAN”
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มีโอกาสไปร่วมประชุมงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นประเด็นร้อน เอาเป็นว่า Hot แบบตอนนี้มีแต่คนจัดประชุม สัมมนา ให้ความรู้ และพูดถึงกันแต่เรื่องนี้ตลอดเวลา ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ นั่นก็คือเรื่องของประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN และรวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่คนส่วนใหญ่คุ้นกันดีกับตัวย่อ AEC ด้วยหัวข้อของการประชุมวันนี้ ขอบอกว่ายาวมาก ยาวแบบพอไปถึงที่รัฐสภาแล้วทางคุณพี่รปภ.ถาม (อย่างเป็นมิตร) ว่ามาร่วมงานอะไรนะครับ
บอกได้แต่หัวข้อหลักๆ “ผู้หญิง-วิกฤต-โอกาส และ AEC”ค่ะ (รู้ตัวว่าบอกชื่อไม่ถูก ต้องยิ้มหวานๆให้ก่อน ตามคอนเซ็ปท์สยามเมืองยิ้ม)
และก็ต้องชมว่าที่นี่สื่อสารกันดี เพราะขนาดบอกไปแบบกะพร่องกะแพร่งแบบนี้ พี่เค้าทราบว่ามางานไหน สามารถบอกตึกและแนะนำให้ได้ เราก็เลยรอดตัวไปแบบชิลด์ๆ
***ภาพดัดแปลงจาก: http://bk.asia-city.com
ขอให้ข้อมูลกันก่อนค่ะ งานนี้ชื่องานแบบเต็มๆว่า โครงการเพิ่มศักยภาพผู้นำสตรีในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่อง “วิกฤตและโอกาสของคนไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” เนื้อหาหลักๆที่จะมาคุยกันคือ
I. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558/ ผลกระทบด้านต่างๆ
II. วิกฤตและโอกาสของคนไทยใน ASEAN ใน 3 แง่มุม คือ ผู้หญิง/ ผู้บริโภค และแรงงานและเศรษฐกิจ
III. แบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิด (สามกลุ่ม สามแง่มุม)
ตั้งแต่ทราบว่าต้องมางานนี้ เรื่องแรกที่ตั้งคำถามขึ้นมาคือ
“แล้วมันจะทันหรอพี่? หัวข้อแน่นขนาดนั้นกับเวลาขนาดนี้?”
และได้รับคำตอบว่า “ก็ไม่รู้ ลองไปดู เป็นตัวแทนเราด้วยนะ”
“เอ่อ…OK ค่ะ ลองดูค่ะ”
ทำไงได้ >.< เพราะอันตัวเรานั้นก็มีความรู้่เกี่ยวกับ ASEAN/AEC บ้างนิดหน่อย ดีแล้วไปงานนี้ เผื่อจะได้รับฟังความคิดอะไรที่แปลกและแตกต่างจากมุมเดิมๆของเราบ้าง เพราะดูจากหัวข้อแล้วก็น่าสนใจไม่น้อย แถมถ้ามองดีๆแล้ว เราก็อยู่ในทุกกลุ่มเลยนินา! (เป็นทั้งผู้หญิง ผู้บริโภค แถมยังเป็นแรงงานอีกต่างหาก) เชื่อว่าต้องไปได้ความรู้กลับมาบ้างแหละน่า และก็จริงๆด้วย การไปร่วมงานรอบนี้ได้อะไรมากกว่าที่คิด และมีเซอร์ไพรส์ด้วย เปิดโลกจริงๆ คุ้มที่ตื่นแต่เช้า แต่งตัวสวมหน้ากากฝ่าฟันการจราจรไป !! (บ้านก็ไกลจากรัฐสภาพอสมควรนะนี่)
พิธีเปิดงานถูกเลื่อนเวลาออกไปนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้รอนานจนทนไม่ไหว ระหว่างรอมีการให้คำชี้แนะในการร่วมประชุม เนื่องจากเวลาและพื้นที่อันจำกัดของเรา อาหารว่างและอาหารกลางวันของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะถูกนำมาบริการให้ถึงโต๊ะ (OMG @.@) หากต้องการเข้าห้องน้ำก็ออกไปด้านหลัง ผู้หญิงเลี้ยวซ้ายผู้ชายเลี้ยวขวา (เหมือนชื่อหนัง แต่ไม่ใช่ อันนี้ของจริง – ห้องน้ำจริง เข้าได้จริง)
เปิดม่านการประชุม: ปูพื้นฐานความรู้ให้ก่อนสักหน่อย
ด้วยความเชื่อว่าทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมมีพื้นความรู้เกี่ยวกับหัวข้อวันนี้แตกต่างกันไป และบางท่านอาจจะไม่ค่อยได้ทราบเรื่อง ASEAN และ AEC มากนัก การประชุมจึงเปิดด้วยการให้ความรู้ด้วยการบรรยายพิเศษโดยคุณตวง อันทะไชย ในหัวข้อ”เตรียมความพร้อมเข้าสู่ ASEAN และผลกระทบด้านต่างๆ”เนื้อหาแน่นมาก ทั้งตัวPower point และเอกสารประกอบการบรรยาย แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการอยากมาเผยแพร่ความรู้ เสียดายเวลาที่มีจำกัดมากๆ (ไม่ถึง 1 ชั่วโมง) ทีมงานก็นะ! สุดความสามารถเพื่อเก็บตกเรื่องที่น่ารู้และเป็นประโยชน์มาให้เพื่อนๆ ดังต่อไปนี้เลยค่าาาาา~~~~~~~~
”อะไรก็ AEC – AEC ไม่เอาได้ไหม ไม่เข้าได้เปล่า?”
หลายคนเคยถามคำถามนี้ เพื่อนๆอาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยไชโยของเรานี่แหละค่ะเป็นแกนนำก่อตั้งประชาคมอาเซียน โดยเท้าความถึง ปี 1967 (พ.ศ. 2510 #FYI ไม่ต้องเทียบปี ^^) ที่มีการก่อตั้ง”สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)” แถมให้ว่าชื่อปฏิญญาในการก่อตั้งครั้งนี้ ชื่อ”ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) ด้วยนะตัวเธอ งั้นขอจะอธิบายง่ายๆเป็นไทม์ไลน์ดังนี้เอาล่ะ! หากเราเป็นตัวตั้งตัวตีในการเริ่มกิจกรรมอะไรสักอย่าง ไปตีฆ้องร้องป่าวไว้ซะขนาดนี้ อยู่ดีๆจะบอกให้ไปกันก่อนเลยนะจ๊ะ เผอิญท้องเสียไม่ไปด้วยแล้วมันก็ยังไงอยู่นะคะ และต้องยอมรับว่าปัจจุบันและรวมถึงอนาคต มันเป็นสมการแบบนี้ “อดีต + ปัจจุบัน + อนาคต= แคบเข้า” โลกอนาคตนั้นจะเป็นในแนวเด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว และยังไม่ใช่โลกที่มีแต่การขายของอย่างเดียวซะแล้ว แต่ความสำคัญจะไปตกอยู่ที่ I. การบริหาร II.แบรนด์ (Brand – ขออนุญาตทับศัพท์) III. ความรู้ เสียมากกว่า อืม… ในเมื่อทำท่าจะหนีไม่ได้เราก็มาทำความเข้าใจและพร้อมรับมือกับมันดีกว่าเนอะ!
คราวนี้ มาถึงคำถามที่ว่า”ทำไมเราถึงไม่พร้อมล่ะ?” หากให้ทางฝั่งทีมเก็บข้อมูลของคุณตวงและทีมงาน กลั่นกรองมาเป็นข้อ (แก้ตัว) ๆได้ดังนี้
ประเทศไทยเป็นแกนนำก่อตั้งประชาคมอาเซียนก็จริง แต่ทว่า…
- เรายังไม่มีนโยบายในการเตรียมไพร่พล เอ้ย! ประชาชนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแบบเป็นระบบแถมยังไม่ต่อเนื่องอีก >.<
- ส่วนราชการก็พยายามอยู่นะ แต่ออกแนวต่างคนต่างทำ ขาดเจ้าภาพในการรวมพลและดำเนินการ
- ภาคประชาชนก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ซ้ำบางท่านยังไม่ตระหนักในการเข้าร่วม AEC ของเราซะอีก T T
- ไม่มีข้อเสนอที่สนับสนุนต่อเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย
เถียงไป ถามไป สรุปว่าไม่ใช่แค่ความผิดของคนใดคนหนึ่งหรอก แต่มันเป็นเรื่องของ “เรา”ทุกคนต่างหาก เนอะ เนอะ
3 เสาหลักประชาคมอาเซียน ASEAN
หลังจากวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 หลังจากปฏิญญากรุงเทพ โลกเราก็มีโอกาสได้ต้อบรับสมาชิกใหม่ในชื่อ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 10 ประเทศ และมี GDP รวมเท่ากับ 1.8 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 9 ของโลก (ว้าว! ติดTop Ten ด้วยนะนี่)โครงสร้างอาเซียน: 3 แผนการดำเนินการ (พิมพ์เขียว – Blue Print) ของ AEC
เมื่อพูดถึงแผนการดำเนินการ หรือสามเสาหลักประชาคมอาเซียน นั่นหมายถึงเรากำลังพูดถึง- ประชาคมการเมืองและการมั่นคงอาเซียน (APSC=ASEAN Political-Security Community)
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC = ASEAN Economic Community) <<เจ้าตัวนี้แหละค่ะ ตัวดีที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น!!
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC = ASEAN Socio-Cultural Community)
***ภาพนี้ดัดแปลงมาจากเอกสารประกอบการบรรยาของคุณตวง อันทะไชย***
มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราน่าจะต้องตระหนักไว้ด้วยคือ ในแผนการดำเนินการทั้ง 3 เสาหลักนี้ ข้อตกลงทุกข้อในนั้น ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ส่วนถ้าประเทศใดในกลุ่ม ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นๆได้ ต้องยอมรับและสละสิทธิ์นั้น
อืม แค่นี้เองเนอะคะ เก๋ๆง่ายๆ ใครควอลิฟายด์ก็ได้สิทธินั้นไป จบ
นักวิชาชีพอาเซียน: แรงงานฝีมือที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีในกลุ่ม ASEAN
เคยสงสัยว่า เวลาที่พึ่งลุงกู-ป้ากู(เกิ้ล)หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอาชีพที่สามารถทำได้อย่างเสรีทั่วอาเซียน บางแหล่งจะใบ้หวย (บอกเลข) เขียนว่า 7 อาชีพบ้าง 8 อาชีพบ้าง ที่สุดก็มาแจ่มกระจ่างเบิกเนตรที่นี่เอง นั่นคือ วิศวกร( Engineering Services) พยาบาล (Nursing Services) สถาปนิก (Architectural Services) สำรวจ (Surveying Qualifications) นักบัญชี (Accountancy Services) ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) แพทย์ (Medical Practitioners) อันที่บวกเข้าไปให้ป๊อกเด้ง (เป็น8) คือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆซึ่งก็รวมถึง คนที่มีอาชีพเป็นไกด์หรือมัคคุเทศน์นั่นเองค่ะเงื่อนไขแบบเบาๆสไตล์ ASEAN สำหรับแรงงานฝีมือที่พร้อมจะวาร์ปไปวาร์ปมาในประเทศสมาชิกของ ASEAN คือ
“ท่านจะสามารถเข้าไปทำงานใน 10 ประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี และถูกปฏิบัติประหนึ่งเป็นประชากรของประเทศที่ท่านไปพำนักอยู่ เพียงแค่ท่านมีความสามารถและผ่านเกณฑ์เงื่อนไขตามที่แต่ละประเทศกำหนดได้” (เริ่ม 1 มกราคม 2558)
ตัวอย่างเช่น (ข้อมูลไม่กรองนะคะ ขอยกตัวอย่างเฉยๆ) หมอโอ๋อยากไปเป็นคุณหมอที่โรงพยาบาลในประเทศพม่า หมอโอ๋อาจจะต้องผ่านการทดสอบหรือมีคุณสมบัติตามที่ทางพม่ากำหนดไว้ เช่น สามารถพูดภาษาพม่าพื้นฐานได้ สอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ เป็นต้น ถ้าดูจากเงื่อนไขนี้ ก็บอกเราเป็นนัยๆได้ว่า ถึงแม้อาชีพทั้งหลายเหล่านี้จะถูกกำหนดให้ได้สิทธิพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านที่ทำอาชีพนี้ สามารถเคลื่อนย้าย หรือวาร์ปเข้าวาร์ปออกตามทุกประเทศดั่งใจนึกได้ หากเขาคนนั้นไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑฺ์และเงื่อนไขที่ประเทศนั้นๆกำหนด
เมื่อถึงปี 2558 สมาชิก ASEAN ทั้งหลายจะมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก กำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับด้านต่างๆ เช่น มาเลเซีย จะดูแลเรื่องยางและสิ่งทอ, พม่าดูแลเรื่องเกษตรและประมง, ฟิลิปปินส์รับผิดชอบเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนไทยแลนด์ เนื่องจากตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวและสนามบินสุวรรณภูมิของเราน่าภาคภูมิใจ(มาก)มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ดังนั้นเราจึงขอรับหน้าที่ดูแลเรื่องท่องเที่ยวและการบิน
คืออยากบอกว่า ที่แสบๆ (คันๆ?) คือ สิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมไปถึงพวกนวดและสปาด้วยค่ะ อ่าว…ของส่งออกและทำเงินของไทยเลยนี่นา ชวนกันคิดเล่นๆว่า ถ้าเค้ากำหนดให้ผู้ที่จะไปทำอาชีพสปาหรือหมอนวด (เพื่อสุขภาพนะ อย่าคิดไกล) ให้พูดอังกฤษระดับนั้นระดับนี้ เชื่อว่าคนไทยยังคงอุ่นใจได้ว่า จะยังสามารถไปนวดแก้ปวดเมื่อยในเมืองไทยได้อยู่ เพราะมีบางท่านยินดีที่จะอยู่มาตุภูมิต่อไปค่ะ
สำหรับข้อตกลงยอมรับร่วมกันในคุณสมบัตินักวิชาชีพ หรือ Mutual Recognition Arrangements (MRAs) เพิ่มเติม @Suwi – นักเขียนมืออาชีพของ @VConnex ได้เคยกล่าวไว้แล้ว หากสนใจ คลิกตามไปอ่านเพิ่มเติมๆได้ที่นี่ค่ะ
ภาษา คือ ประตูสู่อาเซียน
ระหว่างสมาชิก 10 ชาติ ASEAN ได้ตกลงกันแล้วว่า ภาษากลางที่จะใช้ในการสื่อสารคือภาษาอังกฤษ กล่าวคือ ณ ตอนนี้ ถ้าใครไม่กลัวที่จะใช้ภาษาอังกฤษและสามารถใช้ภาษาเพื่อนบ้านได้ ดิฉันสัมผัสได้ว่ามีแววรุ่งค่ะส่วนท่านใดที่ยังคิดว่าภาษาเพื่อนบ้านของเรา อย่างลาว เขมร เวียดนาม พม่า เชยแล้วล่ะก็ อยากให้มองมุมใหม่ๆบ้าง เรามีประสบการร์ชื่นชม (แกมอิจฉาเล็กน้อย) กับรุ่นพี่คนหนึ่ง ตอนไปประชุมที่กัมพูชาเค้าสามารถเป็นล่ามไทย-แขฺมร (ภาษาเขมร) ได้อย่างเชี่ยวชาญเพราะบ้านเกิดพี่เค้าอยู่สุรินทร์ คนแถวนั้นพูดเขมรค่ะ โปรดทราบไว้เลยว่าเด็กที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือชายแดนที่สามารถพูดภาษาถิ่นแถบนั้นได้ กำลังจะขยับตัวจากสถานะที่บางคนคิดว่าชายขอบ เข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางแล้วนะเออ!
เมื่อความแตกต่างของวัฒนธรรมกำลังจะถูกหลอมรวมและอยู่ด้วยกัน
ต้องอยู่ด้วยกันแบบสันติด้วยนะ ในบรรดาสมาชิก 10 ประเทศ เราสามารถจัดกลุ่มโดยใช้หลักศาสนาและความเชื่อได้ทั้งหมด 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้- ขงจื้อ – เวียดนาม/สิงคโปร์
- พุทธ - ไทย/พม่า/ลาว/กัมพูชา
- อิสลาม – มาเลเซีย/ อินโดนีเซีย/ บรูไน
- คริสต์ – ฟิลิปปินส์
ยินดีต้อนรับความเสรี
ขอต้อนรับเข้าสู่โลกแห่งความ”เสรี” อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินกันบ่อยๆคือ “เสรี” อะไรๆก็เสรี แล้วมันอะไรบ้างล่ะ ที่เสรี?- เสรีการค้า: ยาง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์
- เสรีภาคบริการ: คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา ขนส่งทางอากาศ
- เสรีด้านการลงทุน: มีทรัพยากรมาก —> มีการลงทุนมาก
- เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี: อาชีพที่ตกลงไว้ใน MRAs/ นายจ้างมีทางเลือกมาขึ้น/ ทักษะภาษา
ทัศนคติและความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ASEAN ในบรรดา1o ประเทศสมาชิก
รูปด้านล่างเป็นสรุปผลการสำรวจทัศนคติและความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยลงสำรวจนักศึกษา 2,170 คนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศกลุ่มสมาชิก ASEAN เชิญชมได้เลยค่า >.<คาดว่าไทยคงเข้าใจอะไรผิดว่าจัดอันดับแบบนี้ เลขมากแล้วจะดีเอง เลยครองตำแหน่งบ๊วยไปทั้งคู่ ทั้งผลการสำรวจเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่รู้จักธงอาเซียนและรู้ว่าอาเซียนก่อตั้งเมื่อใด
เมื่อพูดถึงเรื่องการสำรวจและตัวเลขแล้ว ทีมงานมีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากเพื่อนๆค่ะ
- ชาวไทยร้อยละ 54.05 ไม่ทราบเรื่อง AEC (นิด้าโพล 1 พ.ค. 55/สยามรัฐ)
- 70-80%ของบุคคลากรทางการศึกษาของไทยแทบไม่มีความรู้เลยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนรวมทั้งไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับนโยบายด้วย (ผลวิจัยจุฬา/ กรมประชาสัมพันธ์)
- 8 ใน 10 คนของนักศึกษาไทยไม่กล้าไปทำงานในประเทศในกลุ่ม ASEAN เพราะกลัวเรื่องภาษา (ผลวิจัยจุฬา/ กรมประชาสัมพันธ์)
- 100% ของนักศึกษาต่างชาติในกลุ่ม ASEAN ต้องการเข้ามาทำงานที่เมืองไทย (ผลวิจัยจุฬา/ กรมประชาสัมพันธ์)
- คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 49 หรือแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่รู้เรื่อง AEC (สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย/มติชนรายวัน 7 มิ.ย. 55)
- กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นม.ปลายในกทม. มีแค่ 0.54% ที่ทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน ASEAN (กองวิจัยตลาดแรงงาน 2554)
เส้นทางใหม่ -หัวใจของการคมนาคมใน ASEAN
เมื่อมีการรวมตัวกัน เท่ากับพื้นที่ก็ขยายออกใหญ่ขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคมนาคมเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางติดต่อ ไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือด้านใดๆขอแนะนำชื่อย่อของเส้นทางใหม่ไว้ตรงนี้ เผื่อเพื่อนๆไปเจอหรือได้ยินที่ไหนจะได้ไม่งง
ถนนเส้น GMS CBTAหรือชื่อเต็มๆว่า Greater Mekong Subregion Cross-Broader Transport Agreement ชื่อภาษาไทยคือถนนข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
- สาย R3A (NSEC =North-South Economic Corridor) คุนหมิง-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์
- สาย R9 (EWEC = East-West Economic Corridor) พม่า-ไทย-เวียดนาม
สิ่งที่คาดจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2558
- เราจะเห็นประเทศสมาชิกใน ASEAN ทั้งหลายมา
- เปิดร้านขายอาหาร
- บริการสปาและร้านนวด
- เปิดโรงเรียน/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย
- มาทำงานรวมกับคนไทยหรืออาจจะอยู่ออฟฟิสเดียวกับเรา หรือแม้แต่ทำตำแหน่งเรา (แล้วเราไปไหน?)
- เปิดคลีนิคต่างๆ
- ขายของ …ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้า ทองค้า…
งั้นเราจะเน้นด้านไหน หรือทำอะไรได้บ้าง: อะไรที่ดูเหมือนจะเป็นจุดแข็งของเรา?
- พ่อครัว ช่างซ่อมรถ ช่างอัญมณี ช่างคอมพิวเตอร์
- บุรุษพยาบาล คนดูแลเด็กและคนชรา (อันนี้น่าสนใจ ต่อไปสังคมน่าจะเป็นแนวโน้มสังคมคนสูงอายุมากขึ้น) แม่บ้าน
- หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานรวมถึงภาษา (อังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน)
- (อันนี้เพิ่มให้เองค่ะ) ทำอะไรก็ได้ที่ชอบและอยากทำ ขอให้พัฒนาตัวเองตลอดเวลาและหูตากว้างไกล ทำใจยอมรับความคิดต่าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น