ทิศทางตลาดแรงงานไทยอีก 3 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร เมื่อ AEC มาถึง?:
ภาพจาก workingpeople.org
วันนี้ในงานสัมมนา WebPresso ที่ทางทีมบก. Thumbsup ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง Digital Trend 2012 มีคำถามนึงที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อหลักของงานโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ และมีผลกับทิศทางตลาดแรงงานในบ้านเราในหลายภาคอุตสหกรรม รวมถึงตลาดไอทีด้วย นั่นคือคำถามที่ว่า “เมื่อไทยเราก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558 นั้นตลาดแรงงานไทยจะเป็นเช่นไร”
(ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเพื่อนๆ ผู้อ่านคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร ก็สามารถแวะมาแลกเปลี่ยนกันได้เช่นเคยนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบว่า AEC คืออะไร และแผนงานเพื่อการจัดต้ังประชาคมเศรษฐกิจ (AEC BluePrint) นั้นเป็นเช่นไร แนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อนค่ะ)
บ้านเราเตรียมความพร้อมเมื่อเข้ายุค AEC แค่ไหน?
สำหรับบ้านเรา (ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ดูเหมือนว่าการตระเตรียมการด้านนี้ยังถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมาเพื่อรับมือให้ทันท่วงที ไม่ต้องพูดถึงประชาชนทั่วไปเลยค่ะ แม้แต่ในภาคเอกชนเอง ก็ยังมีเพียงกลุ่มกิจการใหญ่ ๆ เท่านั้นที่สนใจ และได้ทำการเตรียมตัวไว้แล้ว รวมถึงการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามในระยะหลังนี้ เราได้เห็นสมาคมและองค์การค้าภาคเอกชนได้ระดมช่วยกันจัดงานสัมมนาฝึกอบรมมากขึ้นและถี่ขึ้น เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่ตนหรือกิจการของตนจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ราคาถูกกว่าหรือดีกว่าจากประเทศสมาชิกจะเริ่มทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยได้อย่างเสรีไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใดๆ จนทำให้ตนเองอาจตกอยู่ในสภาพสู้เขาไม่ได้เลย (ดังตัวอย่างปัจจุบันที่ผลไม้และสินค้ามากมายจากจีนมาตีสินค้าไทยจนต้องล้มหายตายจากไปหลายราย เป็นต้น)
ตลาดแรงงานบ้านเราอาจถูกกระทบหลังเข้าสู่ AEC ในปี 2558 อย่างไร?
ในแง่การลงทุนจากต่างชาติ
เชื่อว่าอุตสาหกรรมในไทยบางประเภทคงถูกโยกย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าเราแน่นอนโดยเฉพาะโรงงานที่รับผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกทั้งหลายจะถูกย้ายฐานการผลิต ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็น เป็นประจำเมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตรองเท้ากีฬารองเท้าผ้าใบได้เคยมีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศแม่ไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เม็คซิโก ไต้หวัน ต่อมาย้ายมาไทยและอินโดนีเซีย ต่อมาก็ย้ายไปที่จีนแล้วตามด้วยเวียดนาม และแน่นอนที่สุดก็จะไปยังเขมรและพม่าในไม่ช้า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าของแบรนด์ไม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานเองในประเทศที่ผลิต แต่เจ้าของโรงงานหลัก เหล่านี้กลับเป็นนายทุนไต้หวันและเกาหลีใต้ไปร่วมทุนกับคนท้องถิ่น และสะดวกต่อการโยกย้ายไปที่อื่นได้ค่อนข้างง่ายโดยเสียหายน้อยที่สุดหรือได้คุ้มกับการลงทุนในประเทศนั้นแล้ว
ในวันข้างหน้าอันใกล้นี้ แรงงานต่างชาติจากเพื่อนบ้านที่มาของานทำในบ้านเราจะค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับเมื่อบ้านเมืองของเขากลายเป็นจุดสนใจที่น่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงาน (Labor Intensive Industries) จนกระทั่งขยายไปยังอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้เทคนิคและทุนสูงขึ้นในอนาคต แรงงานหรือพนักงานในสายวิชาชีพที่แข็งแกร่งกว่าหรือมีความสามารถความชำนาญมากกว่าก็จะเริ่มเข้าไปแย่งงานคนท้องถิ่น จนกว่าคนท้องถิ่นจะสามารถพัฒนาเรียนรู้ตามได้เป็นวัฏจักรต่อไป
ในแง่ตัวบุคลากร
ในขณะเดียวกันบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากเพื่อนบ้านเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีความสามารถด้านภาษา (อังกฤษ) สูงกว่า จะมีโอกาสเข้ามาแย่งงานคนไทยในหลาย ๆ อุตสาหกรรมได้ เช่น การท่องเที่ยว ด้านพลังงาน ด้าน Logistics รวมถึงด้านไอทีด้วย เป็นต้น
แต่ก็ใช่ว่าบุคลากรบ้านเราเค้าจะไม่ต้องการนะคะ เพราะบ้านเรายังมีความโดดเด่นในด้านการแพทย์ เทคนิคทางการเกษตร อุตสหกรรมรถยนต์ (ที่วางรากฐานในไทยมาอย่างยาวนาน) ก็อาจเป็นที่ต้องการของหลายประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมใดก็ตาม ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่ทุกคนควรทราบและตระหนักถึงทิศทางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะปรับตัวให้ทันท่วงที และสำหรับธุรกิจไอทีแล้ว บุคลากรไทยเราไม่ได้ด้อยเรื่องความรู้ความสามารถ แต่อาจขาดซึ่งทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงต้องควรฝึกฝนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในวันที่ยุคของ AEC มาถึงนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น