วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวางรากฐานของประชาคมอาเซียนด้วยสามเสาหลัก

การวางรากฐานของประชาคมอาเซียนด้วยสามเสาหลัก:
ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของประเทศในภูมิภาค การช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นต้น


ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความ

ท้าทายใหม่ ๆ มากมาย เช่นโรคระบาด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พิบัติภัยธรรมชาติ เช่น      คลื่นยักษ์สึนามิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงที่อาเซียนอาจจะไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น อาเซียนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้รับมือกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นให้ได้
เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี 2558 โดยจะเป็นประชาคมที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ

1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง

2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน

3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม
ที่มา http://www.aseanthailand.org/h2_4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น