โดย ธีรภัทร เจริญสุข
ชื่อบทความเดิม “จับตาภัยธรรมชาติในลาว” ในบางส่วนรักษาการสะกดแบบอักษรลาว
ภัยธรรมชาตินับเป็นภัยคุกคามใหม่ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ประเทศลาวก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง จากรายงานความเสี่ยงการเกิดภัยธรรมชาติของธนาคารโลก (Natural disaster hotspot and vulnerable country: Global risk analysis, 2005) (1) ระบุว่าประเทศลาวเป็นประเทศที่เสี่ยงต่ออุทกภัยระดับสูง เนื่องจากอยู่ในเขตมรสุม และมีพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวจากทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรแปซิฟิกพัดผ่านบ่อยครั้ง อีกทั้งภูมิประเทศของลาวเป็นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ทำให้เมื่อพายุพัดกระทบกับสันเขา เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ในช่วงฤดูฝนของทุกปีน้ำท่วมในลาวปีนี้ 2 ครั้งแล้ว -ภาพจาก talkvietnam.com
จากสถิติย้อนหลังการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติของลาว ค.ศ. 1980 – 2010 พบว่า มีน้ำท่วมใหญ่ 13 ครั้ง พายุใหญ่ 5 ครั้ง โรคระบาด 8 ครั้ง และภัยแล้ง 4 ครั้ง ประชาชนเสียชีวิต 945 คน ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 5 ล้านคน ทรัพย์สินเสียหาย 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) สาเหตุที่มีอัตราเสียชีวิตต่ำ เนื่องจากประเทศลาวเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรต่อพื้นที่น้อย เมื่อเกิดภัยพิบัติในเขตหนึ่งๆ จึงกระทบต่อผู้คนไม่มาก
อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนของต่างชาติ เช่น จีน เวียตนาม ญี่ปุ่น และไทย ตั้งแต่ปี 2007 ทำให้บริเวณป่าเขา หุบเขา และลุ่มแม่น้ำ มีชุมชนคนอยู่อาศัย รวมถึงบริษัทต่างๆ ไปตั้งค่ายพักเพื่อเก็บเกี่ยวทรัพยากรมากขึ้น หากเกิดภัยพิบัติก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตได้มากขึ้น และจะชะลอการพัฒนาประเทศให้ล่าช้าลง
เขื่อนไซยะบุรี แบตเตอรี่แห่งอาเซียน – ภาพจาก ประชาธรรม
รัฐบาลลาวพยายามแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้วยการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสภาพภูมิประเทศของลาวเอื้อให้การสร้างเขื่อนสามารถเก็บน้ำได้ดี อีกทั้งยังสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งขายประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่การสร้างเขื่อนหลายกรณี เป็นปัญหาระหว่างประเทศ เช่น การสร้างเขื่อนไซยะบุลีกั้นแม่น้ำโขง มีหน่วยงาน NGO ไทยฟ้องร้องบริษัท ช. การช่าง ที่เป็นผู้ทำสัญญาก่อสร้างเขื่อน จนทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก หรือการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อนุญาตให้จีนและเวียตนามมาลงทุนด้านสาธารณูปโภค ก็ประสบปัญหาต้องเปลี่ยนบริษัทผู้รับสัมปทานอยู่บ่อยครั้ง
เนื่องจากรัฐบาลลาวยังขาดศักยภาพในการช่วยเหลือฟื้นฟูเขตที่ประสบภัยธรรมชาติ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเกี่ยวกับเสบียงอาหารและยารักษาโรค เนื่องจากเมื่ออุทกภัยและดินถล่มสิ้นสุดลง ปัญหาที่ตามมาคือโรคระบาด ดังเช่นโรคระบาดที่เกิดในปี 1994 หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 1993 ได้คร่าชีวิตชาวลาวไปมากกว่า 500 คน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือปัญหามลพิษที่เกิดจากการลงทุนของต่างประเทศในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ เช่น หลังอุทกภัยในปี 2011 ที่ผ่านมา มีสารพิษรั่วไหลออกมาจากเหมืองแร่ทองคำที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและแม่น้ำเซกอง ซึ่งรัฐบาลลาวปฏิเสธจะให้ข่าวเพิ่มเติม ทำให้ประชาชนชาวลาวเป็นกังวลกับปัญหาเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในเหมืองแร่ทองแดง เหล็ก สังกะสี และโปแตซในแขวงเวียงจัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้เป็นคดีความขึ้นสู่ศาลประชาชนกว่า 10,000 คดีในปี 2011 (5)
นอกจากนี้ ยังมีแผ่นดินไหวขนาดเบาเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนแผ่นดินขนาดเล็ก บริเวณรอยเลื่อนท่าแขก แขวงสะหวันนะเขด และรอยเลื่อนหลวงพระบาง เป็นระยะ แม้ว่าจะไม่ใช่แผ่นดินไหวร้ายแรง แต่รัฐบาลลาวก็ยังต้องจับตาดูและเสริมความแข็งแรงให้สิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนต่างๆ ให้ทนทานยิ่งขึ้น เนื่องจากปริมาณมวลน้ำที่เก็บกักหลังเขื่อน อาจก่อแรงเครียดให้กับแผ่นดินบริเวณรอยเลื่อนได้
ท่านทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว จึงได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของประเทศร่วมมือป้องกันภัยธรรมชาติให้เป็นรูปธรรม โดยการรักษาสภาพแวดล้อม รักษาแม่น้ำและป่าต้นน้ำ และไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติของลาว ทั้งเหมืองแร่ ป่าไม้ และการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าตามแนวคิด แบตเตอรี่แห่งอาเซียน ย่อมต้องมาพร้อมกับการทำลายสภาพธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมของประเทศลาว เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยากและควรติดตาม เนื่องจากจะส่งผลกระทบด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดจีนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น