ดร.เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ทำความรู้จักเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขงก่อนอาเซียน 2015:
วันนี้เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านดีแค่ไหน วัฒนธรรมข้ามพรมแดนเพียงแม่น้ำกางกั้นระหว่างพื้นที่ของทั้ง ๒ ฝั่งลาว ไทย ความสัมพันธ์ของเรากับเวียดนาม กัมพูชา และวิถีชีวิตของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างไร อาจารย์ ดร.เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ รักษาราชการแทนรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาแห่งศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ช่วยบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นประโยชน์เหล่านี้ผ่านกรอบสังคมวัฒนธรรมที่กินความกว้างกว่าคำว่ารัฐ ชาติ
SIU: อยากให้อาจารย์พูดถึงที่มาที่ไปของศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ศูนย์วิจัยลุ่มน้ำโขงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนจาก Rockefeller มาจัดตั้ง การจัดตั้งตรงนี้เพื่อศึกษาคนในลุ่มน้ำโขง รวมถึงมิติทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ส่วนมากจะเป็นงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ แล้วก็พยายามจะทำงานกันให้หลากหลายด้าน ปกติก็มีอาจารย์ที่จบใหม่จากด้านต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผมเองก็เพิ่งจบมาทางด้านโบราณคดี มีอาจารย์สอนทั้งด้านวรรณกรรมและภาษาก็เริ่มเข้ามาสอนมากขึ้น
SIU: เราจะเห็นว่าในปัจจุบันนั้นมีการศึกษาและก่อตั้งศูนย์วิจัยทางด้านสังคมในลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย หรือแม้แต่กรุงเทพฯ เองก็มีเช่นกัน อยากทราบจุดแข็งของศูนย์วิจัยฯ ที่อุบลนี้เป็นอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: จุดแข็งก็คืออยู่ในพื้นที่ หมายความว่าศูนย์นี้จะอยู่ในเขตชายแดน เข้าถึงแหล่งวิจัยง่าย และอาจารย์หลายท่านที่เป็นกรรมการลุ่มน้ำโขง จบมาจากหลายสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรม ภาษากัมพูชา ภาษาเวียดนาม ภาษาลาว และสังคม เหมือนเป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการ ก็ทำงานเป็นทีมและจะมี specialist ในแต่ละด้าน
SIU: โดยปกติแล้ว ทางศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ เปิดให้มีการเรียนการสอนด้านใดบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ส่วนใหญ่แล้วทางศูนย์จะเน้นเรื่องงานวิจัย ส่วนการเรียนการสอนนั้น ตอนนี้หลักสูตรเข้าไปอยู่ที่ สกอ. แล้ว (สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา) กำลังรอให้ทาง สกอ.ลงตราประทับ ตอนนี้เราได้รับการอนุมัติแล้ว กล่าวคือจะเป็นการสอนเรื่องภาษาในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นหลักสูตรใหม่ อย่างน้อยนักศึกษาต้องเรียน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยเป็นพื้นฐาน ภาษาอังกฤษ และภาษาที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
เขาจะต้องเลือกเรียน หลักสูตรบังคับให้เรียน ได้แก่ภาษาเวียดนาม ภาษาจีน เพราะจีนเป็นต้นน้ำ ภาษาลาว และภาษากัมพูชาและต้องเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมด้วย อันนี้เป็นหลักสูตรใหม่ที่กำลังจะเปิด แต่จะเน้นเรื่องภาษาและในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนวัฒนธรรมในแต่ละชาติด้วย ให้เขาเรียนเป็นวิชาเลือก
จากนั้นเมื่อศึกษาในชั้นปีที่ 4 จะไม่บังคับ ให้นักศึกษาเลือกตามความสมัครใจ คือไปเรียนในพื้นที่นั้นๆได้ สมมติคุณเลือกเรียนภาษากัมพูชาคุณก็สามารถไปเรียนที่พนมเปญได้ และให้มีการแลกเปลี่ยน แต่ไม่บังคับ คือบางคนที่ไม่พร้อมก็ไม่ต้องไป อย่างเวียดนามก็มีนักศึกษาไปทุกปี เป็นหลักสูตรภาษาเวียดนาม เขาจะไปเรียนในช่วงการศึกษาชั้นปีที่ 4 คือไปเรียนภาษาที่เวียดนาม ไปเรียนวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ด้วย เพื่อให้เข้าใจบริบททางภาษามากยิ่งขึ้น
และจัดให้เป็นหลักสูตรของคณะศิลปศาสตร์ ให้เรียนทางด้านภาษาและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง คือถ้าจบมาก็จะได้วุฒิศิลปศาสตร์บัณฑิต (ภาษาและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง)
SIU: สาเหตุที่อาจารย์สนใจศึกษาและวิจัยในกลุ่มนี้ ไม่ทราบว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่อาจารย์เป็นคนในพื้นที่หรือไม่
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมเป็นคนเชียงใหม่ครับ ลุ่มน้ำโขงนั้น เดิมถูกเรียกว่าอินโดจีน ซึ่งเป็นการเรียกตามอาณานิคม ที่ฝรั่งเศสสร้างชื่อขึ้นมาว่าเป็นอินโดจีน ส่วนที่สนใจเนื่องจาก พื้นที่นี้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เนื่องจากอยู่ระหว่างวัฒนธรรมสองวัฒนธรรมใหญ่ คืออินเดียกับจีน ซึ่งเป็นเหมือนวัฒนธรรมหลักแต่สามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว มันยังใหม่อยู่สำหรับผม และตอนนี้คนก็ไปสนใจวัฒนธรรมอื่นๆเยอะ และอีกอย่างคือประเทศหลายประเทศในแถบนี้เพิ่งเปิด ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เวียดนาม คือผมทำงานทางด้านโบราณคดีอยู่แล้ว ก็จะรู้ว่ามันมีแหล่งใหม่ๆเปิดขึ้นมาค่อนข้างเยอะ
SIU: อาจารย์เรียนทั้งสาขารัฐศาสตร์และโบราณคดี อะไรคือจุดเปลี่ยนทำให้หันไปศึกษาเรื่องโบราณคดี และอะไรคือจุดอ่อนของทั้ง 2 ศาสตร์นี้
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมชอบวัฒนธรรมมากกว่าการเมือง การเมืองมันเหนื่อย แต่พอมาจับวัฒนธรรมผมว่ามันสนุกดี ยิ่งศึกษาแล้วเราจะพบว่าในเชิงวัฒนธรรมว่ามันไม่มีเส้นพรมแดนจริงๆ และทุกๆศาสตร์จะมีทฤษฎีของตัวเอง รัฐศาสตร์ก็จะมีทฤษฎีของเขา โบราณคดีก็จะมีกรอบความคิดของโบราณคดี
รัฐศาสตร์นี่จะเป็นเรื่องทฤษฎีกับแนวคิด ยังมองไม่พ้นเหมือนเรื่องวัฒนธรรม อย่างเรื่อง Nation หรือรัฐชาติ เขาก็จะมองว่าทฤษฎีของรัฐศาสตร์มันต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ผมคิดว่าหากมองในมิติวัฒนธรรมจะเอาทฤษฎีรัฐศาสตร์มาคุยนี่มันไม่ได้แล้ว
มันไม่มีคำว่า Nation ในวัฒนธรรม แค่คุณดูไทยกับลาว สองประเทศแค่นี้ พอช่วงของงานเทศกาลพระธาตุพนมคนก็ข้ามไปข้ามมาไม่มีคำว่า Nation เขาก็ข้ามมาไหว้พระธาตุ เป็นวัฒนธรรม แต่คนฝั่งนู้นเขาก็รู้ว่าพระธาตุเป็นวัฒนธรรมของเขา คุณจะเห็นว่าคนฝั่งนั้นก็มาทำงานในไทย คนฝั่งไทยก็มีบ้านพักอาศัยอยู่ฝั่งนู้น
แต่ว่าในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีจะยึดติดในแง่ของหลักฐาน คือถ้าไม่มีหลักฐานมันจะทำให้เราไม่สามารถไปต่อได้มันก็ไม่ได้เป็นจุดอ่อนเสียทีเดียว แต่มันเหมือนขึ้นอยู่กับหลักฐาน คือเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัว ถ้าไม่มีหลักฐานก็ไปต่อไม่ได้ คือบางสาขาวิชา อย่างมานุษยวิทยาที่ใช้พฤติกรรม ใช้ทฤษฎีมาอธิบายความคิดหรือปรากฏการณ์ทางสังคมได้ ในขณะที่ประวัติศาสตร์จะไม่ได้ ต้องใช้หลักฐาน
SIU: โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์ให้ความสนใจประเทศไหนเป็นพิเศษ และทำไมจึงสนใจประเทศนี้
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: สนใจเวียดนามครับ ตอนนี้กำลังพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลของเวียดนามอยู่ เพราะว่าเราคิดว่าเวียดนามไม่มีความสัมพันธ์กับไทย นั่นคือดูจากพื้นที่ แต่ถ้าจากหลักฐานแล้วจะทราบว่าเรามีความสัมพันธ์กันมายาวนานนับพันปี อย่างประวัติที่เราเคยเรียนมาจะรู้แค่ว่าเวียดนามก็คือเวียดนาม และเพิ่งจะมีความสัมพันธ์กับสยามช่วงอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ แต่พอกลับไปดูหลักฐานแล้วจะพบว่ามีความสัมพันธ์มาเป็นพันปี คือคนในแถบนี้มีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด
เวียดนามเขามีวัฒนธรรมสามชาติ ผมมองเฉพาะลุ่มน้ำโขงฝั่งตะวันออก ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไทยกับลาวไม่ต้องพูดถึง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน นับถือเถรวาทเหมือนกัน เรารับวัฒนธรรมกัมพูชาเข้ามาในไทยค่อนข้างมาก ทั้งภาษา ประเพณีที่แยกไม่ออก
แต่สำหรับเวียดนามเข้ามาไทยตั้งแต่อดีต แต่ทำไมเราถึงมองไม่เห็น ไม่ใช่ลดบทบาทแต่ทำไมสังคมไทยมองไม่เห็นเวียดนาม เวียดนามมีบทบาทในไทยคืออาหารเวียดนามในเมืองอุบลกับหมูยอแค่นั้นหรือ คือเวียดนามเข้ามานานแล้วตั้งแต่สมัยที่เป็นจาม เมื่อก่อนชนพื้นเมืองในเวียดนามคือจาม เข้ามาในอุบลเป็นจำนวนมาก คือตอนนี้ผมกำลังตามรอยอยู่ ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นวัฒนธรรมเวียดนามที่เข้ามา คนเวียดนามอาศัยอยู่มากในจังหวัดนครพนม อุดรธานี ส่วนอุบลราชธานีจะแค่กลางๆ
คนเวียดนามเข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 5 ประเทศเขาประสบปัญหาเรื่องภัยพิบัติ ทำกินไม่ได้เลยอพยพ แล้วส่วนหนึ่งพอมีปัญหาการเมืองก็เข้ามา แต่เราจะมองคนเวียดนามว่าเขาเข้ามาสมัยสงครามเวียดนาม นั่นคือเราไม่มีการอธิบายประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน ประวัติศาสตร์แบบนี้จะถูกปิดไว้ไม่ให้เรียน ถ้าเราศึกษาจริงๆจะพบว่า South East Asia มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
SIU: ตอนนี้อาจารย์เขียนงานศึกษาทางด้านใดบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ตอนนี้เขียนงานเน้นอีสานก่อน เพราะอยู่ในพื้นที่ด้วย แล้วก็จะค่อยๆขยาย จะทำในเรื่องอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ในเรื่องอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมร เรื่องของการสร้างบารายหรือสระน้ำ คือเป็นเรื่องการจัดการน้ำในสมัยโบราณ ศึกษาเพื่อจะดูว่าการเอาภูมิปัญญาในอดีตมาพัฒนาท้องถิ่นในปัจจุบันได้อย่างไร
คือการต่อยอด ความรู้ในอดีตมีอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนมาเป็นปัจจุบัน ภูมิปัญญานี้ก็หายไป มันกลายเป็นแค่แหล่งโบราณคดี กลายเป็นแค่อะไรบางอย่างซักอย่างหนึ่ง พอปัจจุบันก็กลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือการปฏิวัติเขียว มีทุกอย่าง แต่เราลืมไปว่าในอดีตเคยใช้สำเร็จมาก่อน ทำไมเราไม่เอากลับมาใช้
SIU: ชาวบ้านที่อาศัยตามลุ่มแม่น้ำมีวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง มีลักษณะที่แตกต่างกับคนพื้นที่อื่นมากน้อยเพียงใด
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ในมุมมองผมนะ เมื่อก่อนผมมองว่าคนอีสาน คนในเขตลุ่มน้ำโขง หรือคนในเขตนอกสังคมเมือง เป็นคนที่มีชีวิตเรียบง่าย จริงๆแล้วผมเพิ่งมาอยู่อีสานประมาณ 2 ปี ก่อนหน้านั้นก็เข้ามาทำงานบ้าง ทำการศึกษาวิจัยบ้าง ตอนนั้นสังเกตแค่ว่าทำไมผู้คนแถบนี้มีความเป็นอยู่เรียบง่ายดีจัง คือผมไปอ่านหนังสือของต่างชาติเล่มหนึ่ง เขาเขียนว่าคนสยามขี้เกียจ ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมเขาจึงกล่าวอย่างนั้น ผมก็พยายามหาคนอธิบายและก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายว่า
ในมุมมองของต่างชาติ หมายถึงช่วงรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งตอนนั้นมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ต่างชาติมองว่าคนที่ไม่ได้ทำงานในระบบก็เหมือนกับคนที่ไม่มีงานทำ เป็นคนขี้เกียจ แต่ในขณะที่วัฒนธรรมของ South-East Asia หรือคนในภูมิภาคนี้ ของกินเขามีอยู่ทุกบ้าน หรืออย่างแถวบ้านผมที่อยู่เชียงใหม่ จะพบว่าเวลาที่ทำกับข้าว ชาวบ้านเขาจะตั้งหม้อก่อน แล้วเดินหาผักในบ้านซึ่งเด็ดข้างรั้วได้
ดังนั้นชีวิตก็ดูเรียบง่าย เนื่องจากผมโตในสังคมเมือง ก็จะถูกสังคมเมืองสอนมาว่าต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง ระบบงานและระบบแรงงานได้เข้ามาครอบงำ แต่พอมาดูต่างจังหวัดมันไม่ใช่ เขาทำงานในบางห้วงเวลา ดูจากแม่บ้านที่คณะผม เขาซื้ออาหารแค่มื้อละ 10 บาท คือเป็นเนื้อสัตว์บ้างในบางมื้อ นอกจากนั้นเขาก็ทำกินเอง พืชผักก็หากินได้ในท้องถิ่น
ผมเพิ่งกลับมาย้อนดู พบว่าในอดีตอาหารของคนในแถบนี้ มันมีอยู่ในธรรมชาติที่เขาหากินได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหางานทำ ในขณะที่ความคิดของคนที่มองว่าการไม่ทำงานคุณไม่มีเงิน ไม่มีอาหาร แต่ในขณะนี้คนในอีสานเขาจะมองตรงข้ามกับเรา ว่าเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องไปผันตัวเป็นแรงงานในสังคมเมือง แต่สามารถอยู่ได้โดยธรรมชาติในชุมชนของเขา
ขณะที่ในปัจจุบัน เขาก็ยังดำรงชีพอย่างนี้อยู่ครับ กล่าวคือในแต่ละวันเขาใช้เงินแค่ไม่กี่บาท ผักปลาก็หาได้ในท้องถิ่น คือพอมีวิธีคิดแบบนี้ เราจะรู้สึกเลยว่าเราถูกตะวันตกครอบงำ เสร็จแล้วที่เขาบอกว่าถ้าคุณไม่ทำงาน คุณคือคนขี้เกียจ แต่พอมามองจริงๆมันไม่ใช่ เพราะว่ามันเป็นวิถีแบบนี้มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว คนอีสานกับคนใน South East Asia จริงๆที่ไม่ได้อยู่ในสังคมเมือง เขาสามารถอยู่กันได้ แต่เราไปคิดว่าเขาอยู่ไม่ได้ จะเห็นจากตอนที่เราไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือท่องเที่ยวในถิ่นทุรกันดาน เราจะเกิดความรู้สึกว่าเขาอยู่กันได้อย่างไร ขณะเดียวกันในบางพื้นที่ก็มีการปรับเปลี่ยนกันบ้าง คือเริ่มไปทำงานและเข้าสู่ระบบแรงงานสู่ภาคสังคม
SIU: หลังจากที่เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นของที่นี่กันแล้ว เราจะเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวอุบลราชธานีทั้งในกรณีเขื่อนปากมูล หรือเขื่อนไซยะบุรี ไม่ทราบว่าอาจารย์หรือทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีส่วนร่วมอะไรในการขับเคลื่อนกับกลุ่มก้อนทางภาคสังคมนี้ ในส่วนของการเมืองภาคประชาชนในอุบลราชธานีบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ในเรื่องเขื่อนปากมูลนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงเลยคือ ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดี คณะศิลปศาสตร์ เพราะท่านทำงานด้านนี้จนประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับเขื่อนปากมูล ท่านเป็นคนพื้นที่กล่าวคือส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชนอีสานจะเป็นคนขับเคลื่อนเอง ถ้าหากจะบอกว่าเป็นคนจากภายนอกหรือ NGOs มาขับเคลื่อน ผมมองว่าไม่ใช่เสียทีเดียว กรณีเขื่อนปากมูลจะเป็นคนในท้องถิ่นเองที่ได้รับการศึกษาแล้วก็มาพัฒนาชุมชนของตนเอง
SIU: ตอนนี้ปัญหาที่ได้ยินบ่อยๆ ก็จะเป็นปัญหาจากแรงงานต่างประเทศหรือแรงงานต่างด้าว เหมือนเราเสียภาษี เสียประกันสังคมให้กับระบบสาธารณสุข แต่ว่าเราก็ต้องดูแลพวกเขาด้วย ปัญหาหลักของลุ่มแม่น้ำโขงนี่คืออะไร
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมมองว่า เขามาอยู่ประเทศไทยเราก็ต้องดูแลเขา เงินที่เขาใช้บางส่วนก็กลับคืนสู่ประเทศเรา มันเป็นการเสียภาษีทางอ้อมก็เป็นรายได้ให้แก่ไทยอีกทางหนึ่ง เขาจ่ายภาษีโดยไม่รู้ตัว การขึ้นแท็กซี่ ขึ้นรถเมล์อันนี้เป็นการจ่ายในสังคมอยู่แล้ว ส่วนการซื้อของก็ต้องกินก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว คือมันเป็นภาษีที่มองไม่เห็น
ผมมองว่าการเข้ามารับการรักษาพยาบาล ไม่ใช่ว่าเราเอาเงินของเราไปช่วยเขา ส่วนหนึ่งเขาก็จ่าย กำลังซื้อของเขาก็มี เขาก็ซื้อของใช้เหมือนกัน โดยเฉพาะของไทย นิยมมากในต่างแดน ถ้าคุณไปในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเป็น Made in Thailand กับ Made in China เขาจะซื้อทันทีเลย เราจะตีตลาดตรงนี้ได้ หากเรามองมุมกลับเขาก็จะพบว่าเขาก็จ่ายภาษีเหมือนกัน
SIU: อาจารย์มองว่าอะไรเป็นปัญหาบ้างสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ปัญหาคือเรื่องประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นเหมือนความแค้นที่เราถูกปลูกฝังมาแต่อดีต แล้วก็ฝังในใจคนไทยหลายๆคน สำหรับคนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ เช่น เรามองพม่าอย่างหนึ่ง มองลาวอย่างหนึ่ง มองกัมพูชาอย่างหนึ่ง แล้วเคยถามเขาไหมว่าเขามองอย่างไร ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก
SIU: คนเวียดนาม ลาว พม่า มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: เวียดนาม ลาว พม่า ต่างกันที่กลุ่มชาติพันธุ์ ผมมองเรื่องภาษาพม่าเป็นกลุ่มหนึ่ง พูดภาษาอีกภาษาหนึ่ง ส่วนลาวก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งพูดภาษาหนึ่ง เวียดนามก็เช่นกัน สามภาษาสามกลุ่ม แต่สามกลุ่มนี่นับถือศาสนาเดียวกัน คือศาสนาพุทธแค่แบ่งนิกายแค่นั้นเอง
เวียดนามเป็นพุทธมหายาน ลาวและพม่าเป็นพุทธเถรวาท ผมมองว่าศาสนามันก็ทำให้คนเหมือนๆกันได้ แต่ผมคิดว่าใน South East Asia จริงๆไม่แบ่งศาสนาแต่มีศาสนาหลัก ในขณะเดียวกันเราไม่มีปัญหาเรื่องศาสนา ในอดีตถ้าย้อนดูจริงๆเราไม่เคยมีปัญหาเรื่องศาสนา จะมีปัญหาเรื่องพรมแดนกับการเมือง ตอนนี้ศาสนากลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
อย่างที่เห็นก็คือที่พม่า ที่ยะไข่ โรฮิงยา ศาสนาพุทธก็คือพม่าเป็นคนยะไข่ โรฮิงยาเข้ามาในสมัยอังกฤษปกครอง ในอดีตไม่เคยมีปัญหา แต่พอเริ่มเป็นชาตินิยม เขาจะเอาศาสนามาเป็นเส้นแบ่งทันทีเลย ก็เกิดสงครามกัน
เหมือนไทยกับมุสลิมทางใต้ไม่เคยมีปัญหาศาสนาเลย พอเขาจะแบ่งดินแดนก็กลายเป็นเรื่องการเมือง เขาจะเอาศาสนาเป็นตัวแบ่งทันที คุณไปดูสมัยอยุธยา มัสยิดอยู่ข้างวัด ก็อยู่ด้วยกันได้ไม่เคยมีปัญหา สังคมไทยเป็นแบบนี้ในอดีต ต่างคนต่างนับถือศาสนาของตัวเอง แต่อยู่ในสังคมเดียวกันได้ พูดภาษาเดียวกันและทำอะไรคล้ายๆกัน แต่พอมีการเมืองเข้ามาแล้วจะใช้เป็นเครื่องมือเสียส่วนใหญ่
ผมมองว่าคนพม่ามีความภูมิใจในชาติของเขา พม่าประกอบด้วยหลายชนชาติ ได้แก่ พม่า มอญ กะเหรี่ยง แม้เขาจะมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ แล้วความชัดเจนของเขาคืออะไร ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์ กบฏเกือก สมัยที่เขาไล่ เขาบอกให้ชาติอาณานิคมต้องถอดรองเท้าถุงเท้าตอนเข้าวัด การเรียกร้องเอกราชก็เป็นความภูมิใจของคนในชาติ ผมมองว่าเขามีบางจุดที่ร่วมกันในทางประวัติศาสตร์ สมัยที่เขามีความภูมิใจในความเป็นพม่าอยู่ ดังนั้นเขาจะแข็ง
สำหรับการเดินช้า ผมมองว่าเป็นข้อดีของเขา ผมเพิ่งไปพม่ามาเมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกว่าเขากลัวการเปิดประเทศ เพราะว่าจะทำให้การเกิดชนชั้นที่ห่างกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คนที่เข้าถึงโอกาสและทุนก็จะเป็นแค่คนกลุ่มเดียวคือทหารและนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับทหาร แต่สำหรับคนในท้องถิ่นก็จะห่างโอกาสกับทุนมากขึ้นๆ นี่คือคนพม่าเขาวิเคราะห์อย่างนั้น เขาก็กลัว
การที่เงินทุนเริ่มไหลมาสู่พม่า ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มตั้งคำถามหรือใช้ Question Mark ตัวโตๆว่าใครจะได้ทุนก้อนนี้ ประชาชน หรือนักธุรกิจกับกลุ่มทหาร เราลองไปดู ก็เห็นว่ามีแค่คนไม่กี่กลุ่มที่ได้ทรัพยากรตรงนี้ไปอยู่ดี สายการบินบางสายการบินเป็นลูกเขยของนายพลตานฉ่วย บริษัทหลายบริษัทเป็นเครือญาติของทหาร เพราะเขาคือนักการเมืองทั้งนั้นเลย พอเปิดประเทศคนที่ได้โอกาสก็คนกลุ่มนี้อยู่ดี มันก็จะยิ่งไปเสริมความแข็งแรงของเขามากขึ้น แล้วคนที่เป็นแค่ประชาชนก็จะกลายเป็นแค่แรงงาน ที่ต้องเสียภาษีซื้อของให้เขาอยู่ดี
SIU: ย้อนกลับมาที่ปัญหาของโรฮิงยา หรือลาวม้ง จะมีพรมแดนที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัย ประเทศเราก็จะโดนตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากดดันว่าจะต้องใช้เป็นที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยอย่างนี้ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงก็มองว่าเป็นปัญหา เพราะว่าเรามีภาระต้องดูแลประเทศของเราอยู่แล้ว แล้วเราต้องไปดูแลประเทศที่สามอีก พอจะผลักกลับไป ทั้งฝ่าย NGOs บ้าง ฝ่ายสหรัฐอเมริกาบ้าง ก็จะเข้ามามีอิทธิพลและแทรกแซงบ้าง อาจารย์คิดว่าตรงนี้เราควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ตัวอย่างเช่นที่เพชรบูรณ์ที่ต้องการให้ผลักกลับ หรือที่สระบุรี หรือบางส่วนก็ถูกส่งไปประเทศโลกที่สามแล้ว ผมมองว่ามันเป็นปัญหาของชาติหนึ่ง อย่างมีปัญหากับลาว ม้งก็เป็นอีกสายหนึ่ง เขามองว่าไม่ใช่ไทย ไม่ใช่ลาว ก็จะเป็นปัญหาทั้งเรื่องยาเสพติด และการตัดไม้ทำลายป่าที่เขาอ้างขึ้นมา เขาก็พยายามต่อสู้กับม้ง ผมมองว่าม้งเป็นประชาธิปไตย ไปรับเงินสหรัฐฯมารบกับลาว ถ้าตอนนี้เข้าไปในลาวก็จะพบว่ามีม้งบางส่วนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในลาว อันนี้ม้งเคยอธิบายให้ฟัง
เขาอธิบายว่าสหรัฐนี่อาจจะไม่ใช่ภาครัฐ แต่เป็นคนม้งที่ไปอยู่มาก่อนแล้วจะกลับมากู้ชาติส่งเงินมาช่วย เขามองว่าพอประเทศเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ตัวเขาก็ถูกกันออกจากระบบ โอกาสทางทรัพยากรถูกกันหมดเลย ถูกมองเป็นคนนอก แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยเขาจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศกับทรัพยากรและโอกาสด้วย
SIU: เขาเรียกว่าเป็นปัญหาของคนชายขอบด้วยหรือเปล่า
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมมองว่าสหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือในสงครามเย็นด้วย ผมมองว่ายังเป็นผลตกค้างอยู่ ที่สหรัฐฯเอาไปใส่กับม้ง เพื่อรบกับลาว แล้วตั้งฐานทัพที่อุดร แล้วสหรัฐฯก็สร้างขบวนการใต้ดิน ปล่อยคนไปสร้างความคิดระบบประชาธิปไตยกับม้ง ก็เลยรบกันเอง ม้งบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยแต่ลาวบอกว่าไม่ ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วมันก็กลายเป็นคู่ตรงข้ามแล้วมันก็รบกัน แล้วพอปัญหานี้มันเข้ามาไทยในสมัยสงครามเย็น ไทยก็ต้องรับ
คือในเมื่อให้เขามาตั้งฐานทัพแล้ว ก็ต้องรับลูกต่อ แล้วก็เลยมาตั้งศูนย์อพยพในเขตเพชรบุรี และสระบุรี ซึ่งอาจจะมีอีกหลายที่ด้วย พอสงครามเวียดนามจบ สหรัฐก็เลยถอนทัพออก แต่ผลผลิตจากเกมนี้มันยังอยู่ เราก็พยายามผลักดันไปประเทศโลกที่สาม ซึ่งสหรัฐอมเมริกากับลาวก็เป็นเพื่อนกันแล้ว ไม่ใช่ศัตรูกันต่อไป นี่ก็เป็นนโยบายใหม่ เพราะฉะนั้นมันต้องทำให้เราเหยียบเรือทั้งสองแคม ถ้าจะส่งม้งกลับไปลาว เราก็จะโดนสหรัฐว่า เราส่งคนกลับไปตาย แต่ถ้าเราส่งคนไปประเทศโลกที่สาม ก็ยังพอเคลียร์กันได้ เพราะสหรัฐก็ยังเป็นส่วนหนึ่ง
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสานสัมพันธ์มิตรภาพไทยลาวไว้ให้ได้ แต่ตอนนี้มันจบแล้ว เพราะที่เพชรบูรณ์เขาก็ส่งกลับแล้ว ส่วนหนึ่งก็ส่งกลับประเทศแล้วสหรัฐอเมริกาก็เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งสหรัฐฯก็พยายามเคลียร์ให้ ว่าส่วนที่กลับไปลาวก็ห้ามไปแกล้งไปทำอะไรทั้งสิ้น คือตอนนี้สหรัฐฯก็เข้าไปในลาวเพื่อช่วยเหลือเขา เหมือนที่เข้าไปในเวียดนาม สหรัฐฯก็พยายามจะเปลี่ยนท่าทีบ้าง เพราะว่าตอนนี้สหรัฐฯมองว่าจีนคือปัญหา ไม่ได้มองเวียดนามหรือลาวว่าเป็นปัญหา สหรัฐเขาจะเล่นสองบทบาทเสมอ ส่วนหนึ่งจะเล่นบทดี แล้วอีกส่วนหนึ่งจะส่งคนมาใต้ดิน
SIU: อย่างที่เราทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนต้นของลุ่มแม่น้ำโขง และค่อนข้างมีอิทธิพลค่อนข้างมากในลุ่มแม่น้ำโขง ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ประกาศชัดเจนว่าจะกลับเข้ามาสานความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในเอเชียใหม่ อาจารย์มองในมิติการเมืองระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมมองว่าในช่วงยุคก่อนสงครามเย็นหรือนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ตอนนั้นถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในมิติการเมืองจริงๆ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของสงครามทางด้านเศรษฐกิจแล้ว จะเริ่มมีการมองว่าเป็นการทำให้มีความคุ้มค่าเงินอย่างนั้นมากกว่า ถือเป็นสงครามแบบใหม่ กล่าวคือจีนเขาส่งคนออกนอกประเทศตลอดถ้าไปดูประวัติศาสตร์ อันนี้ก่อนเข้าไปในสหรัฐอเมริกา คือคนเขามีจำนวนมหาศาลมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ดังนั้นผมจึงมองว่าอาจเป็นการขยายฐานอำนาจ
แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมจีน เราจะไม่เข้าใจความคิดเขา แต่ถ้ามองจากคนภายนอกจะเห็นว่าเขาจะสืบทอดวัฒนธรรมเขาอย่างต่อเนื่องเลย ดังนั้นถ้ามองเรื่องวัฒนธรรมและการเมือง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้วที่จะขยายอำนาจออกไปเพื่อสร้างฐานอำนาจของเขาขึ้นมา คือจริงๆแล้วก็ยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องอำนาจหรือเปล่า แต่คนจีนล้นประเทศอยู่แล้ว เป็นความจำเป็นที่เขาจะต้องขยายคนออกมา
ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องสืบทอดความเป็นจีนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม วันไหว้บรรพบุรุษ ก็คือวัฒนธรรมมันจะนิ่งตลอด อาจจะมีบ้างบางพื้นที่ที่มีการปรับเปลี่ยนบ้าง แต่เราก็ยังมองออกว่าเป็นจีน เป็นไชน่าทาวน์
คราวนี้ หากมองในภาพในปัจจุบันที่มองจากวิธีคิดของตะวันตกหรือนักวิชาการจะพบว่า นี่เป็นวิธีการขยายอำนาจของจีน ซึ่งเราก็ไม่รู้วิธีคิดของจีน ซึ่งอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าเรามองเพิ่มเติมว่าในวัฒนธรรมจีนหลัก คิดอย่างนี้หรือเปล่า บางคนนี่กลัวจีนมาก อาจารย์บางท่านถึงขั้นต่อต้านจีนเลย แต่จีนก็ไม่ได้สนใจและยังจะเข้ามา
จีนเป็นชาติที่ชาญฉลาดคือใช้วัฒนธรรมมากลืนความขัดแย้ง แต่สหรัฐอเมริกายังคงเดินเกมแบบการเมืองรุ่นเก่าอยู่ ยังคงกลัวสงครามเย็นอยู่ ในมุมมองของผม แต่ในขณะจีนเขามองข้ามสงครามเย็นไปแล้ว แม้อาจจะมีบ้างเล็กน้อยที่บอกโอเค แต่เมื่อคุณยังเล่นเกมแบบโบราณอยู่ จะมาขอใช้พื้นที่ใน South East Asia ขอตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆแล้วคุณอาจจะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทหาร
ผมว่าจีนมองว่าสหรัฐอเมริกายังมองการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องโบราณอยู่ แต่ในขณะที่จีนมองเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของโลก โดยที่เขาจะให้ตัวเองเป็นตัวผลิตวัฒนธรรมใหม่ โดยจีนจะเป็น New Culture หรือ New Order
SIU: อาจารย์ได้คลุกคลีอยู่กับคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและได้เห็นบทบาทของจีนที่เข้ามา ถ้าอาจารย์เป็นสหรัฐอเมริกา อาจารย์จะทำอย่างไร คือทางสหรัฐอเมริกา เขามีโครงการมิสซีสซิปปี้ที่มาศึกษาเหมือนกับโครงการแถบลุ่มแม่น้ำโขงแล้วก็พยายามจำกัดการเข้ามาเกี่ยวพันของจีน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: ผมต้องถามว่าสหรัฐอเมริกาต้องการอะไร คือสหรัฐอเมริกามองว่าคอมมิวนิสต์ หรือสงครามเย็น หรือแค้นฝังหุ่นที่เขาไม่เลิก เหมือนสหรัฐอเมริกาต้องการขีดไม้บรรทัดของโลกถึงสิ่งที่เขาทำ คือสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับเขาคือสิ่งที่ผิด ผมจึงมองว่าสหรัฐอเมริกายังคิดแบบโบราณอยู่มากจะบอกว่าไม่ทันสมัยเลยก็ว่าได้ ผมคิดว่าเป็นไปได้สูงที่สหรัฐอยากมาใช้เกณฑ์แบบเดิมเหมือนช่วงก่อนสงครามเวียดนาม แต่อิทธิพลเขาเปลี่ยนไป จากการใช้อำนาจในมิติทางการทหารหรือการเมืองแบบเดิม หันมาใช้อำนาจเชิงวิชาการมากขึ้น รูปแบบวิธีการเปลี่ยน แต่ concept ยังเชยมากในขณะที่จีนมองข้ามไปแล้ว
SIU: เราจะเห็นว่ามีการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกันค่อนข้างสูง อยากทราบมุมมองอาจารย์ในอีก 3 ปีข้างหน้าที่จะเปลี่ยนเป็นประชาคมอาเซียน ในเสาของเศรษฐกิจนี้ จะมีผลกระทบบ้างหรือไม่ หรือว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: คือผมมองอย่างนี้ ตามพื้นฐานของผมนั้น ผมจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จบปริญญาโทโบราณคดี ผมมองว่าเราโดนการศึกษาครอบงำ พอผมศึกษาด้านวัฒนธรรม ขณะที่การศึกษาจะให้ศึกษาเรื่องรัฐและเส้นพรมแดนว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
พอเรามาดูในมิติวัฒนธรรม มันจะไม่มีเส้นพรมแดน พอเรายกเส้นออก เราไม่มีประเทศซักประเทศเลย พอเรามองว่าการค้ามันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้วที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันกับคนในพื้นที่ ผมไม่อยากบอกว่าต่างพื้นที่ เพราะมีแค่แม่น้ำโขงกั้นกลาง แต่พอเป็นรัฐและเอาเส้นมากั้น มันกลายเป็นคนละพื้นที่ทันที ถ้าถามผมเรื่องวัฒนธรรม ผมว่าจะไม่เปลี่ยน แต่ว่าจะมีสินค้าเข้ามามากขึ้นไหลออกมากขึ้นแค่นั้นเอง เพราะว่ากฎที่เคยเป็น Nation State ถูกยกเลิกด้วย AEC แต่การค้า การแลกเปลี่ยนมันเหมือนเดิมอยู่แล้ว พอดึงเส้นเขตแดนออกมันจะง่ายมากขึ้น
คือแรงงานที่กลัวว่าจะทะลักเข้าหรือทะลักออก ก็มี 7 อาชีพ ได้แก่ วิศวะ พยาบาล แพทย์ ฯลฯ ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก แต่ส่วนใหญ่คนในฝั่งประเทศไทยยังไม่รู้ เขาคิดว่าพอเปิดอาเซียนเขาจะโดนแย่งแรงงานหรือว่าสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ทันที โดยที่ถือว่าเป็นอาเซียน แต่จริงๆมันไม่ใช่
ผมคิดว่าการรับรู้อาเซียนของคนไทยหรือว่าสังคมไทย มันยังไม่มากพอ หรือว่ายังขาดความลึกซึ้ง พอเปิดเป็นประชาคมอาเซียน เช่นผมเป็นครูผมไปสอนที่ลาวได้เลย มันไม่ใช่ แรงงานแบบรายวันก็ไม่ได้เหมือนกัน มันก็ยังคงมีเงื่อนไขต่างๆอยู่ มันมีแค่ 7 อาชีพที่เขาเปิด และมีราวๆ 10 อาชีพที่เขาขาดแคลน
ผมว่าแต่ละประเทศก็กลัวตัวเองจะไม่มีแรงงาน เหมือนประเทศไทยตอนนี้ แรงงานที่ใช้แรงงานจริงๆจะไม่มีแล้ว ต้องเอาแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาเช่นกัน ทีนี้ประเทศเพื่อนบ้านก็เหมือนกัน ถ้าเกิดการลงทุนในลาว การลงทุนในเวียดนาม เขาก็กลัวเหมือนกันว่าเขาจะไม่มีแรงงาน เพราะว่าต้องใช้แรงงาน ผมจึงมองว่าแต่ละประเทศก็ยังมีอุปสรรคระหว่างกันอยู่ เขาก็คงเหมือนกันที่ว่ากัมพูชาตอนนี้ก็รอให้จีนมาลงทุน ลาวก็รอ เวียดนามก็รอ ทุกชาติก็มีความฝันของตัวเองหมดว่าอยากให้ทุกคนมาลงทุน
เราก็รอ แต่เรารอไม่ได้ นอกจากคุณจะเปลี่ยนเขตหรือบางอำเภอชายแดนให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม แล้วก็ทำให้เป็นแรงงานรายวัน คือไปเช้าเย็นกลับอาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า แต่ก็จะเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอะไรอีกหลายๆอย่างตามมา
SIU: ปัจจุบันคนมักเทความสนใจการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในด้านเศรษฐกิจหรือ AEC ทั้งๆที่มีตั้ง 3 เสา อาจารย์คิดเห็นอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: คือคนมักจะเอาเรื่องเศรษฐกิจมาตั้ง แต่ผมว่าเรื่องวัฒนธรรมมันจะกว้างกว่า คือผมไม่อยากเอาเงินมาจับหรืออธิบาย ตอนนี้ผมมองว่ายิ่งโลกมัน Globalization มากขึ้นเท่าไหร่ ความแตกต่างมันก็ยิ่งมากขึ้น เพื่อที่จะหาจุดเด่นของเราเอง เราจะสร้างเองมันไม่ได้ มันไม่โดนคัดกรอง มันไม่โดนเลือกสรร อะไรที่มันสร้างอยู่แล้ว มันก็จะกรองจะคัดสรรด้วยตัวของมันเอง มันจะมีความหลากหลายของมันเอง
ผมจึงคิดว่านี่จะเป็นจุดแข็งมากกว่า จะอยู่ได้นานกว่า คือถ้าจะเน้นจุดแข็ง จะเน้นอาเซียน แต่ไม่มองเรื่องวัฒนธรรม หาจุดแข็งไม่เจอเราจะไปต่อไม่ได้ เราจะเป็นที่หนึ่งไม่ได้ วัฒนธรรมจะช่วยส่งเสริมอะไรหลายๆอย่าง แต่ผมไม่อยากมองว่าวัฒนธรรมที่หลากหลายจะส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจ นั่นก็จะเป็นการมองเรื่องเงินมากเกินไป แต่ผมมองว่าวัฒนธรรมจะเป็นตัวตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ได้ดีที่สุด ในเรื่องอาหาร ภูมิปัญญา การแต่งกาย ความเชื่อ ทุกอย่างมันจะสอดคล้องกัน
วัฒนธรรมมันเป็นเรื่องท้องถิ่นที่มันมีของตัวมันเองอยู่แล้ว ที่มันสามารถได้เกิดขึ้นมาด้วยตัวมันเอง สร้างด้วยตัวของมันเอง มันใช้ได้ดีอยู่แล้ว ถ้าเราเอาที่อื่นมาใส่ก็จะเกิดปัญหา เช่นเรื่องเครื่องแต่งกาย สมมติเอาสูทมาใส่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น มันไม่มีความสุข แต่สมมติคุณใส่ชุดของคุณเอง เช่น โสร่ง ผ้าฝ้าย มันก็สบาย นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง
ในขณะเดียวกันมันก็จะโยงกันไปหมดทุกอย่าง แค่การทำผ้าพื้นเมืองมันก็จะโยงไปถึงเศรษฐกิจชุมชน อุตสาหกรรมในชุมชน ดังนั้นทุกคนก็ต้องเข้าไปทำงานในโรงงานกันหมด แต่ในขณะเดียวกัน การที่คุณสร้างเศรษฐกิจชุมชน ก็จะสร้างให้คนในพื้นที่มีอาชีพ ไม่ต้องไปใช้แรงงาน ทุกๆเรื่องจะไปด้วยกันหมดเลย ถ้าคุณค่อยๆเขียนเป็น Mind Map หรือ Tree Map ค่อยๆร่างเป็นต้นไม้ ก็จะเห็นว่าความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นมันจะส่งผลอย่างไร
ผมมองว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากปัญหา แล้วมันก็จะหวนกลับมาเองว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร มีนักคิดแบบนี้หลายคน ในที่สุดชาวบ้านเห็นปัญหา เขาก็จะย้อนกลับมาเอง ผมมองว่าตอนนี้สังคมไทยก็ได้รับการศึกษามากขึ้น มีปราชญ์ชุมชน ผมมองว่าเมื่อมีปัญหามันก็จะสามารถแก้ไขได้เอง
SIU: หากพูดถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในมุมมองของหลายๆประเทศนั้น ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาวิจัยสังคมในเขตลุ่มแม่น้ำโขง อาจารย์คิดว่าเราควรจะ Re-brand ภาพลักษณ์ของเราอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร. เมธี เมธาสิทธิ สุขสำเร็จ: เลิกคิดว่าเราเป็นพี่ใหญ่ เลิกคิดว่าเราเป็นเบอร์หนึ่ง เรื่องเสียเอกราช เราต้องไปรื้อประวัติศาสตร์ รื้อการเรียนการสอนใหม่หมดเลย เพราะฉะนั้นที่เราสอนเรื่องพม่า เราเกลียดพม่า เพราะว่าพม่ามาตีเรา เรามองลาวว่าเป็นน้องเพราะว่าเขาอ่อนกว่าเรา ในหลายๆเรื่องเขาอ่อนกว่า เรามองกัมพูชาว่าเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจ
นี่คือสิ่งที่คนไทยมองแล้วเคยศึกษาแต่ละชาติไหม ผมเคยไปพม่า พม่ามองเราด้วยความชื่นชมว่าเราสามารถมาอยู่ในสังคมโลกได้ทันสมัยมาก มีทุกอย่างครบ ลาวจะมองว่าเราเป็นคนฉลาดแกมโกง ไว้ใจไม่ได้ กัมพูชาก็จะมองว่าเราเป็นคนฉลาดแกมโกงเหมือนกัน ขณะที่ประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ได้คิดกับประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นอาเซียนด้วยกันในลักษณะที่เป็นเพื่อน
เนื่องจากไทยโดนกล่อมเกลาด้วยเรื่องของการศึกษาในเรื่องชาติ หรือ Nation แต่ประเทศเหล่านั้นถูกอาณานิคมมาครอบงำ ทำให้ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ลาว ลาวเป็นคำดูถูก เราต้องเปลี่ยนการศึกษาใหม่ อธิบายใหม่ อาเซียนต้องเรียนตั้งแต่ประถม แล้วก็ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาจจะต้องลด ต้องเรียนเรื่องในชุมชนของตัวเอง
อาเซียนต้องใหญ่ขึ้นมาในขณะที่ความเป็นชาติหรือว่าประวัติศาสตร์มันจะต้องลดลง หรืออธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า เขตปลอดของอดีตคืออะไรทำไมประวัติศาสตร์ชาติ เกิดขึ้นมาเพราะอะไร ต้องอธิบายความเป็นเหตุและผลของประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ความเป็นเหตุเป็นผลของช่วงหนึ่ง หรือว่ายุคหนึ่งประวัติศาสตร์ฉบับนี้มันโดนเขียนมาเพื่ออะไร
พอมาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ต้องเป็นอย่างไร อย่าให้อดีตกับปัจจุบันมาตีกัน ถ้ามาตีกันมันไม่สำเร็จ แต่ถ้านักประวัติศาสตร์จะรู้ว่าประวัติศาสตร์มันคืออะไร มันคือการอธิบายสังคมหรือว่าเป็นแค่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งแค่นั้นเอง แต่คนไทยคิดว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องจริงและเป็นข้อเท็จจริง และถ้าคิดอย่างนั้นเราก็จะเชื่อ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น