ทำไมจึงจำเป็นต้องสร้างประชาคมอาเซียน
ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันในภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ ขณะที่ปัญหาหลายอย่างซึ่งเคยเป็นปัญหาในประเทศกลับขยายวงกว้างขึ้นเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคติดต่อ อาชญากรรมข้ามชาติ หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด อาเซียนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
หันกลับมามองในเอเชีย จีนและอินเดียทวีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ การผนึกกำลังของอาเซียนซึ่งมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ย่อมทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้เสียงของอาเซียนมีน้ำหนัก เพราะการที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวในเวทีระหว่างประเทศจะทำให้ประเทศและกลุ่มความร่วมมืออื่น ๆ ให้ความเชื่อถือในอาเซียนมากขึ้นและทำให้อาเซียนมีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย
ในปี 2546 ผู้นำอาเซียนต่างเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่น เข้มแข็ง และมั่นคงยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ภายในปี 2563 ซึ่งต่อมาได้เลื่อนกำหนดเวลาสำหรับการรวมตัวกันให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น