วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

งานสัมมนา “Obama II: What it Means for Southeast Asia and Thailand”

งานสัมมนา “Obama II: What it Means for Southeast Asia and Thailand”:
งานสัมมนา “Obama II: What it Means for Southeast Asia and Thailand”

จัดโดย สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Obama II: What it Means for Southeast Asia and Thailand” ขึ้น เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักการทูตจากนานาชาติ ที่มีต่อรูปแบบ ทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ในโอกาสที่ นาย บารัค โอบามา จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่ 2
ในงานเสวนาครั้งนี้ ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ แนวโน้มนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในอนาคต โดย คลอส ลาร์เรส (Klaus Larres) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลน่า ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโอบามานั้น เปลี่ยนไปจากสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างสิ้นเชิง
ลักษณะสำคัญคือ การหันมาเน้นอำนาจแบบอ่อน (Soft Power) มากกว่าจะข่มขู่หรือจัดการปัญหาด้วยกำลังทหาร เขาเสนอว่า โอบามาไม่ได้มองการเมืองระหว่างประเทศว่าเป็นเกมที่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย (Zero Sum game) แต่ให้ความสำคัญกับการพูดคุยเจรจา ประนีประนอม เน้นความเกี่ยวพันแบบพหุภาคีกับประเทศต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโอบามา มีลักษณะเป็น สัจนิยมพหุภาคี (Multilateral realism)
พร้อมกันนี้ เขายังให้ความเห็นว่า สหรัฐอเมริกาจะยังคงให้ความสำคัญกับทวีปเอเชียอยู่เช่นเดิม เห็นได้จากการเดินทางเยือนอาเซียนเป็นภารกิจแรกหลังจบการเลือดตั้ง อย่างไรก็ดี ยุโรป ที่แม้จะกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ก็จะยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
ขณะเดียวกัน บทบาทของสหรัฐฯ กับจีนนั้น นาย โรเบิร์ต ฟิตส์ (Robert Fitts) ผู้อำนวยการโครงการอเมริกันศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญความท้าทายภายในประเทศมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเช่น ภาวะหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ความสัมพันธ์กับจีนก็เป็นความท้าทานภายนอกที่สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้
เขาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศไม่ควรเป็นเกมที่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย ทว่าควรหันมาร่วมมือกัน มากกว่าจะแข่งขันกันเพื่อครองอำนาจหรือเอาชนะ โดยเขาเชื่อว่า ความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง จะส่งผลดีต่อทั้งสหรัฐฯ และจีนเอง รวมไปถึง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริบทโลกในภาพรวมด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง ศาสตรจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชัยชนะของนายบารัค โอบามา ว่าสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติบางประการ กล่าวคือ ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีผิวสี ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน กลายเป็นภาพแทนของชัยชนะของคนกลุ่มน้อย ที่ไม่เคยมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์แบบคนขาวของสหรัฐฯ (White Aspect of U.S. History) มาก่อน ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนโอบามา ก็ยังคงเป็นคนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนเชื้อสายสเปน (Hispanic group) ซึ่งเสียงของพวกเขาได้รับการเคารพ มากกว่าจะถูกหาว่าเป็นเสียงของคนโง่ (foolish) อย่างในการเมืองไทย
ขณะเดียวกัน เขายังเชื่อมั่นว่า แม้ประชาธิปไตยจะเป็นหลักการที่มีพลวัตร ไม่ได้มีรูปแบบเฉพาะที่เหมือนกันไปทั้งหมด กระนั้น ทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยเสรีของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรค ข้อถกเถียงนานัปการ เพื่อก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยของคนขาว สู่ประชาธิปไตยของคนทุกคน ก็เป็นหนทางที่น่าดึงดูดใจ ทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยได้อีกด้วย
ในช่วงท้าย นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิคใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะตัวแสดงเชิงสร้างสรรค์ (Constructive actor) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามแปซิฟิค (TPP) โดยชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวของไทยนั้น ในปัจจุบัน เป็นเพียงขั้นตอนของการเข้าร่วมเจรจาในกรอบ TPP ไม่ใช่การเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากรัฐสภา และทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสียก่อน
นอกจากนี้ เขายังได้เน้นย้ำถึงการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีโอบามา ว่าเป็นช่วงเวลามีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับไทยแล้ว ยังพอดีกับวาระครบรอบ 180 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-สหรัฐ ในปีหน้า อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น