วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาเซียน เก่งจริง แต่น่าจะเก่งได้อีก

อาเซียน เก่งจริง แต่น่าจะเก่งได้อีก:
วันวลิต ธารไทรทอง

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอาเซียนแข็งแกร่ง และเติบโตได้ดีเกินกว่าที่คนจำนวนมากคาดการณ์ แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008-2009 และวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน นอกจากอาเซียนจะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปด้วยก้าวย่างที่มั่นคง
กล่าวให้ชัดขึ้นคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในช่วง 2001-2007 อยู่ที่ 6% แม้แต่ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก การเติบโตเฉลี่ยของ 10 ประเทศ ยังโตได้ 4.4% ในปี 2008 และเติบโต 1.3% ในปี 2009
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนน่าจะเติบโตประมาณ 6.5% ช่วงปี 2011-2015 ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป

ภาพจาก HappySMEs
ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสหรัฐ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า อาเซียนจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านคน เป็น 700 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นจากประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 หรือมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าปัจจุบันถึง 2 เท่าตัว
นั่นหมายความว่า อาเซียนจะมีคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นอีกหลายสิบล้านคน เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น
ปัจจุบัน อัตราการว่างงานโดยรวมของทุกประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูง เช่น ในประเทศไทย อัตราการว่างงานต่อกำลังแรงงานอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 1 % ต่อกำลังแรงงาน
ขณะที่หนี้ภาครัฐโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 50% แม้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะใช้งบประมาณขาดดุลอย่างมากเพื่อกระต้นเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ หนี้สาธารณะน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงอีก
ภาพเช่นนี้คงสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า อาเซียนมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจริง แต่คำถามที่น่าจะถามต่อไปคือ แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจอาเซียน
ผมคิดว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนช่วงที่ผ่านมา คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียน
การที่อาเซียนมีฉันทานุมัติ (Consensus) ที่มุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน อันปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นได้จากการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ( AFTA) ในปี 1992 และมุ่งสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015
ความร่วมมือเช่นนี้ ได้สร้าง “ตัวเล่น” ใหม่ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเกิดความคึกคักตามมาอีกหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นสิ่งจูงใจสำคัญที่ทำให้ประเทศอาเซียนใหม่อย่าง ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม หันมาใช้ระบบกลไกตลาดในการปฏิรูป หลังจากที่ถูก “บอนไซ” จากนโยบายเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางมายาวนาน ตัวอย่างเช่น สปป ลาว ประกาศใช้นโยบาย “กลไกเศรษฐกิจใหม่” ประเทศเวียดนาม ใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “ดอย เหม่ย” ขณะที่ปัจจุบัน พม่าก็เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจโดยใช้กลไกตลาดมากขึ้น
ความร่วมมือของอาเซียนเช่นนี้ ยังเร่งให้เกิดการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกว้างขวาง เช่น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ชื่อว่า “ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ของกลุ่มประเทศที่ติดลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ ไทย สปป ลาว กัมพูชา จีน เวียดนาม และพม่า รวมระยะทางหลายพันกิโลเมตร
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า อนาคตเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเซียนจะสมบูรณ์มาก กระทั่งสามารถขับรถจากกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ไปยังกรุงปักกิ่ง หรือไปมุมไบ และประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการคนมาคมและขนส่งทางบกของอาเซียน
ADB ยังคาดอีกว่า ในปี 2030 อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มากไปกว่านั้น อาเซียนจะกลายเป็นแกนกลางในการทำกรอบความร่วมมือต่างๆ รอบๆ อาเซียน
อีกเหตุผลที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของอาเซียน คือ ความช่วยเสริมกันระหว่างอาเซียนเก่ากับอาเซียนใหม่
ตัวอย่างเช่น ประเทศอย่างสิงคโปร์และไทย เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีค่าจ้างแรงงานที่สูง แต่ประเทศอย่าง พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา ประชากรกว่า 50% ของแต่ละประเทศอยู่ในวัยกำลังแรงงาน และมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ทำให้การจัดการด้านแรงงานเป็นไปได้ค่อนข้างดี ขณะเดียวกัน พม่า ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็ทำหน้าที่ป้อนวัตถุดิบในการผลิตให้แก่ ไทย และอีกหลายประเทศในอาเซียน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมทางเศรษฐกิจ (Economic Outlook) ของอาเซียนจะสดใสมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายอาเซียนอีกหลายประการ
ประการแรก แม้ความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้การค้าระหว่างกันของประเทศในอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ลดการพึ่งพาการค้ากับประเทศสหรัฐและยุโรป แต่การสร้างตลาดภายในประเทศของตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อลดการพึ่งพาตลาดภายนอกประเทศ ยังคงเป็นความท้าทายของประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ ตัวอย่างประเทศไทยเราเอง ก็พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงมาก
ประการต่อมา ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนมากๆ เช่นนี้ ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นในอาเซียนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น การแสวงหามาตรการหรือองค์กรที่จะรอรับเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต ยังเป็นความท้าทายของอาเซียน
เหนือสิ่งอื่นใด ความ “เฟื่องฟู” ทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปัจจุบันและที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ไม่ได้รับประกันว่า ดอกผลของความเฟื่องฟูจะถูกกระจายออกไปอย่างเป็นธรรม ที่ผ่านๆ มา เป็นการกระจายดอกผลแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เห็นได้จากเกือบทุกประเทศในอาเซียนประสบปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ดังนั้น การสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ของอาเซียน
กล่าวโดยสรุป อาเซียนคงจะเฟื่องฟูไปอีกนาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นความเฟื่องฟูบนความท้าทายหลายด้าน ความร่วมมือในการสร้างสถียรภาพและการสร้างความเป็นธรรมของการพัฒนา ควบคู่ไปกับความร่วมมือเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขไปสู่ความเฟื่องฟูที่ยั่งยืนของอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น