วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทำความเข้าใจ การเคลื่อนย้ายแรงงานในกัมพูชา ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทำความเข้าใจ การเคลื่อนย้ายแรงงานในกัมพูชา ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน:
โดย พันธ์รบ ราชพงศา

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

ชื่อบทความเดิม  ”แรงงานกัมพูชา ทำไมถึงน่าสนใจ
หากพูดถึงระบบทุนนิยม แรงงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องนึกถึง เพราะว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งเท่านั้น แรงงานต้องพึ่งพานายทุน และด้วยจำนวนแรงงานที่มีอย่างมากมาย จึงมักถูกกดขี่จากนายจ้างเพื่อให้ธุรกิจที่ตนลงทุนได้ผลกำไรสูงสุด
สำหรับอาเซียน เรามีแรงงานในวัยทำงานรวมกันประมาณ 307 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 601 ล้านคน ในจำนวนนี้
  • อินโดนีเซียมีแรงงานมากถึง 120 ล้านคน
  • รองลงมาคือเวียดนาม 52.6 ล้านคน
  • ฟิลิปปินส์และไทยมีประเทศละประมาณ 40 ล้านคน
  • พม่า 28.4 ล้านคน มาเลเซีย 12.2 ล้านคน
  • กัมพูชา 8.1 ล้านคน สปป.ลาว 3.2 ล้านคน
  • สิงคโปร์ 2.9 ล้านคน และบรูไน 0.2 ล้านคน
แรงงานเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ แรงงานระดับสูงที่มีทักษะ (skilled labour) หรือแรงงานวิชาชีพที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งในอาเซียนได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วม หรือ MRA เรียบร้อยแล้ว จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เนื่องจากข้อตกลงนี้กำหนดให้มีการรับรองคุณสมบัติวิชาชีพภายในอาเซียน เพื่อสร้างมาตรฐาน และช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ
ส่วนอีกระดับหนึ่งคือ แรงงานระดับต่ำ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) ที่มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และแรงงานกึ่งมีทักษะ (semi-skilled labour) ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายและสูงกว่า รวมถึง ปวช. และ ปวส. แรงงานระดับล่างนี้มีปริมาณมาก และมักมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน กลายเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุผลหลักในการเลือกออกนอกประเทศ คือแรงงานมีการศึกษาต่ำ หางานในประเทศไม่ได้ จึงตัดสินใจเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศ

กัมพูชา การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ภาพจาก wikipedia
เนื่องจากประเทศที่เลือกไปทำงานให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเปิดเสรีการค้าอาเซียน ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ หรืออาจจะรุนแรงกว่าเดิม เพราะอาเซียนยังไม่ได้กำหนดแนวทางเรื่องแรงงานต่างด้าวชัดเจนนัก ทางที่ดีสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจึงควรจูงใจด้วยระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานจากประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง เช่น การประกันค่าแรงขั้นต่ำ การจัดการระบบสวัสดิการแรงงาน เป็นต้น
หากพิจารณาข้อมูลแรงงานในเชิงเปรียบเทียบ เมื่อมองในมุมของผู้ใช้แรงงาน ประเทศที่สามารถดึงดูดแรงงานในภูมิภาคได้ คือประเทศที่มีค่าแรงสูงแต่ค่าครองชีพต่ำ ส่วนในมุมมองของนักลงทุน ก็จะมองว่าประเทศไหนที่มีค่าแรงถูก แรงงานมีผลิตภาพต่อหัวสูง มีจำนวนแรงงานมากพอ จะเป็นประเทศที่เหมาะแก่การตั้งฐานการผลิตในภูมิภาค
ดังนั้น ประเทศที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ตามหลักการที่กล่าวมา ก็คงหนีไม่พ้นประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน หรือ CLMV แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า เวียดนามน่าสนใจที่สุด เพราะมีแรงงานเหลือเฟือ แถมยังมีค่าแรงต่ำ นั่นหมายความว่าประเทศที่มีทุนหนาอย่างญี่ปุ่นและจีนย่อมเข้ามาจับจองไว้หมดแล้ว รองลงมาคือแรงงานพม่า แต่อีกไม่นานก็จะถูกดึงกลับประเทศเพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังมีความต้องการอีกมาก
สำหรับแรงงานจากลาวและกัมพูชา ผมคิดว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ต่างก็น่าสนใจ เพราะมีปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติหลายอย่าง แต่ที่ผมสนใจจริงๆ น่าจะเป็นแรงงานจากกัมพูชา เพราะมีจำนวนแรงงานที่มากพอสมควร แถมยังมีแนวโน้มที่ดีในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอีกด้วย
จากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งชาติ (National Institute of Statistics) ของกัมพูชา ระบุว่า ในปี ค.ศ.2011 กัมพูชามีประชากรในวัยทำงาน (ช่วงอายุ 15 – 64 ปี) รวม 9,038,000 คน อยู่ในตลาดแรงงาน 7,907,000 คน เป็นแรงงานภาคการเกษตร 55.8% ภาคอุตสาหกรรม 16.9% และภาคบริการ 27.3% ลองคำนวณอัตราการขยายตัวของจำนวนแรงงานอยู่ที่ 4.5% ต่อปี หรือในแต่ละปีจะมีแรงงานเข้าสู่ตลาดกว่า 300,000 คน แต่แรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น ซึ่งถ้าหากแรงงานเหล่านี้ได้รับฝึกอบรมอย่างดี ก็จะสามารถทำงานได้ดี
นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานของกัมพูชาที่ออกเมื่อปี ค.ศ.1992 และ ค.ศ.1997 ได้ให้การคุ้มครองการใช้แรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการนำเอามาตรฐานแรงงานสากล หรืออนุสัญญาแรงงานที่สำคัญๆ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้ามาบรรจุไว้ในกฎหมายแรงงานฉบับนี้ ซึ่งให้สิทธิแรงงานใน 4 ประเด็น ได้แก่ การไม่ให้ใช้แรงงานภาคบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้อง การเคารพและยอมรับในสิทธิในการรวมตัวกันและเจรจาต่อรองของคนงาน และการไม่เลือกปฏิบัติ
ขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาก็พยายามส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน เช่น การให้ ILO เข้ามาดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกภายใต้โครงการ Better Factories Cambodia เพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานสากล โดยจัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจโรงงาน ดังนั้น ความพยายามนี้จึงถือเป็นการจูงใจให้แรงงานกัมพูชาหันกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ที่ให้หลักประกันนักลงทุนต่างชาติในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับนิติบุคคลกัมพูชา ไม่มีการยึดโครงการลงทุนมาเป็นของรัฐ ไม่มีการควบคุมหรือการกำหนดราคาสินค้าและบริการของผู้ลงทุน รวมถึงสามารถส่งออกรายได้จากการลงทุนออกนอกประเทศได้
เมื่อหันมามองไทย ปัจจุบันเรามีการกำหนดนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้นักลงทุนไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และเอสเอ็มอีบางส่วนไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ จึงทยอยย้ายฐานออกไปลงทุนในกัมพูชา เพราะมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า ประมาณเดือนละ 70 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,240 บาท และแรงงานกัมพูชาเริ่มไม่ต้องการย้ายออกนอกประเทศเพื่อเข้ามาทำงานในไทย เพราะรัฐบาลกัมพูชากำลังแก้ไขกฎหมายแรงงานและการลงทุนเพื่อจูงใจให้แรงงานกัมพูชาทำงานในประเทศของตนเป็นหลัก เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากทั่วโลกที่กำลังจะเข้าไปในกัมพูชาเช่นกัน
ส่วนเรื่องคุณภาพ หลายคนยังกังวลว่า การยกมาตรฐานแรงงานให้สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน แต่จากการศึกษาพบว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การส่งเสริมมาตรฐานแรงงานจะทำให้กัมพูชาสามารถปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมของตนไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานที่มีทักษะได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนในระยะยาว
สุดท้ายขอฝากเอาไว้ว่า สินค้าที่ติดป้าย “Made in Cambodia” ที่บางคนมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่ของแท้ แต่อย่าลืมว่าโลกเรานั้นเปลี่ยนไป สินค้าส่วนใหญ่ของประเทศที่เจริญแล้วได้ถูกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนาจนเกือบหมด ด้วยเหตุผลของการประหยัดต้นทุนแรงงาน ฉะนั้น “Made in …” จากประเทศไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ขอเพียงให้ดูสินค้าที่ผลิตจากประเทศเหล่านั้นว่ามีมาตรฐานหรือไม่ก็เพียงพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น