วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Aid for Trade…เสริมสร้างขีดความสามารถอาเซียนใหม่

Aid for Trade…เสริมสร้างขีดความสามารถอาเซียนใหม่:
โดย ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
แนวคิดทฤษฎีที่ว่าการเปิดเสรีทางการค้าเป็นกลจักรสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนา การจ้างงาน การลดระดับความยากจน รวมทั้งการที่ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น เป็นหลักการที่มีเหตุมีผลและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงไม่ได้หมายความว่าผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าจะมีการกระจายอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ประเทศแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) ต่างก็ได้รับผลกระทบจากกระแสการเปิดเสรีทางการค้าที่แตกต่างกันไป
การลดกำแพงภาษีนำเข้าถือเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้าจาก LDCs สามารถเข้าถึงตลาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น แต่ว่าความจริงแล้ว มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจาก LDCs มีข้อจำกัดมากมายในหลายๆเรื่อง เช่น ศักยภาพทางเทคนิคและแรงงานในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนสภาพถนนหนทางและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างทรุดโทรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
การเปิดเสรีทางการค้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่การเปิดเสรีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ LDCs สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ความช่วยเหลือทางการค้า (Aid for Trade) จึงเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มพูนขีดความสามารถของ LDCs ในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในแง่ต่างๆ ต่อไป
ภาพแสดงประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (ECOSOC: สภาสังคมและเศรษฐกิจแห่งองค์การสหประชาชาติ)

ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ภาพจาก wikipedia
Aid for Trade เป็นความริเริ่มที่เกิดจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่ฮ่องกง (Hong Kong Ministerial Meeting) ในเดือนธันวาคม 2548 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (Supply-side constraints) ของ LDCs ได้แก่ ข้อจำกัดด้านนโยบายและกฎระเบียบทางการค้า ข้อจำกัดด้านศักยภาพการผลิต และข้อจำกัดด้านโครงสร้างการขนส่งและสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ เครือข่ายถนนหนทาง สะพาน ท่าเรือ และสนามบิน เป็นต้น
หากพิจารณาประเทศสมาชิกอาเซียน กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) เป็น LDCs ในภูมิภาค ซึ่งมีข้อจำกัดที่สอดคล้องกันคือ เส้นทางการเดินทางทางบกจำเป็นต้องได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมและปรับปรุง ระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้ายังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ตลาดภายในเป็นตลาดเล็ก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยค่อนข้างสูง ความสามารถในการผลิตสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศผู้นำเข้ามีไม่เพียงพอ นอกจากนั้น การส่งออกยังขึ้นกับสินค้าเพียงไม่กี่ชนิดและขึ้นกับตลาดเพียงไม่กี่ตลาดอีกด้วย
ในประเทศ CLMV นั้น การสนับสนุนที่ได้รับภายใต้ Aid for Trade ทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่าและเงินกู้มีมูลค่าที่แตกต่างกันไป ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามเป็นประเทศผู้รับอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และอัฟกานิสถาน โดยในปี 2552 มีมูลค่าถึง 1,466.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 56% ภายใน 3 ปี และคิดเป็น 13% ของมูลค่าสนันสนุนทั้งหมดที่ประเทศในเอเซียได้รับ
สำหรับกัมพูชา และ สปป.ลาว มูลค่า Aid for Trade ที่ได้รับคิดเป็น 136.9 และ 106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนพม่านับว่าเป็นประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจาก Aid for Trade น้อยที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุผลทางการเมืองภายในนั่นเอง แน่นอนว่า การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าอยู่ในวันนี้ ทำให้สหรัฐฯ อียู และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ หันมาสนใจและอัดฉีดเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของพม่ามากยิ่งขึ้น
ข้อมูลทางสถิติชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนภายใต้ Aid for Trade เกินกว่าครึ่งหนึ่ง ลงไปที่การขยายและสร้างเส้นทางขนส่งในภูมิภาค หรือระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เส้นตะวันออก-ตะวันตก เส้นเหนือ-ใต้ และ Southern Economic Corridors เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายเส้นทางขนส่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อมโยงภายในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ร่นเวลาการลำเลียงสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคให้เร็วขึ้น ต้นทุนทางการค้าลดลง การกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มูลค่าการลงทุนและการค้าภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งมีส่วนทำให้การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในสะหวันะเขตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น การค้าชายแดนระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนามที่ผ่านด่านลาวบาวเพิ่มขึ้นเป็น 148.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ขยายตัวจาก 95,000 คน เป็น 274,000 คนภายใน 5 ปี
อีกตัวอย่างที่สำคัญก็คือ เนื่องจากนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง แต่ไม่มีระเบียงเศรษฐกิจเส้นหลักตัดผ่านเลย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้การสนับสนุนการสร้างถนนที่เชื่อมเวียงจันทน์กับเมืองสำคัญในภูมิภาค เช่น อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และเมืองวินห์ของเวียดนาม ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจใน สปป.ลาว เวียดนาม และไทย ให้ติดต่อค้าขายกันได้ง่ายขึ้น
นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว Aid for Trade ยังสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งทางด้านการผลิตสินค้าและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าอีกด้วย เช่น โครงการปรับปรุงและออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมในกัมพูชา ส่งผลให้อุตสาหกรรมผ้าไหมในประเทศได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง มีการให้ความรู้ชาวบ้านโดยเฉพาะสตรีเกี่ยวกับการผลิตออกแบบเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้านที่ทำจากผ้าไหม ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าจากผ้าไหมเพิ่มสูงขึ้น ระดับความยากจนลดลง และที่สำคัญทำให้สตรีในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการพัฒนาศักยภาพด้านนโยบายการค้า Aid for Trade จากแหล่งต่างๆ ให้การสนับสนุนกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวเรื่องต่างๆ เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับเวียดนามในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม รวมทั้งโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการค้าสินค้า การค้าบริการ และการเยียวยาทางการค้า สำหรับบุคลากรภาครัฐในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ ADB ดำเนินการร่วมกับ ITD ในปี 2550-2552 เป็นต้น
นี่ก็เป็นตัวอย่างดีๆ เกี่ยวกับ Aid for Trade ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ จริงๆแล้ว การประเมินค่าผลกระทบที่ออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนนั้นทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Aid for Trade เป็นปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาของ CLMV และเป็นกลไกที่สำคัญในการลดช่องว่างทางการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่ลงอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น