วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไทยคือพี่ใหญ่แห่งอาเซียน ความคิดไปเองที่ต้องเร่งแก้

ไทยคือพี่ใหญ่แห่งอาเซียน ความคิดไปเองที่ต้องเร่งแก้:
การรับรู้ของประเทศเพื่อนบ้านบางกลุ่มที่มีต่อประเทศไทยจากบทสรุปในงานประชุมวิชาการอาเซียน ในมุมมองสังคม วัฒนธรรม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดขึ้น คงทำให้ความฮึกเหิมในใจของไทยลดลงบ้างไม่มากก็น้อย จากที่เคยมองและบอกตัวเอง รวมทั้งบอกกับใครๆ ทั้งในไทยและเทศว่า ไทยเป็นพี่ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน และส่วนใหญ่ก็มักจะประทับตราไทยเองว่า ไทยมีสถานะเป็น “พี่” ด้วยซ้ำ
การรับรู้ของประเทศเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อกับเราแบบข้ามพรมแดนหากันได้ทุกวันโดยสะดวก ถูกเปลี่ยนภาพลักษณ์ทางความรู้สึกให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น และย้ำชัดเข้าไปอีก เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญรายประเทศต่างๆ ทำการศึกษาว่าเขามองไทยอย่างไร
ไทยเป็นปลิงที่หิวโหย ชอบรุกราน เบียดเบียนผู้อื่น (กัมพูชา) ไทยเป็นลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา เป็นทุนนิยมในลักษณะเมืองขึ้นแบบใหม่ (เวียดนาม) ไทยเป็นแหล่งรายได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีการปล้น จี้ จำนวนมาก ทั้งยังชอบมีตำรวจมาค้นตัวจนทำให้คนรู้สึกลำบากใจ ไทยเป็นประเทศขูดรีดทรัพยากร เพราะชอบเข้าไปลงทุน (พม่า) ไทยชอบดูถูก ทำไมตัวละครที่แสดงบทคนใช้ของละครไทย ต้องพูดภาษาลาว (สปป.ลาว)
สาเหตุใดที่ทำให้ไทย ถูกมองเช่นนั้น ย้อนคิดดูดีๆ แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านแทบจะไม่มีใครชอบไทยเลย อีกทั้ง มีการฉายภาพจากสื่อมวลชน จากนักวิชาการ จากนักแสดง จากผู้จัดละคร จากบทเรียนตำราทางประวัติศาสตร์ จากถ้อยคำภาษาที่ถูกผลิตสร้างขึ้นเป็นวาทกรรม จากการตอกย้ำผลิตซ้ำไปมาหลายต่อหลายครั้งที่ทำให้เพื่อนบ้านเรารู้สึกและสัมผัสได้
เวลาที่ใครมีการแสดงออกทั้งความคิดหรือการกระทำที่ผิดพลาด อันเป็นความรู้สึกที่ทำให้บุคคลนั้นหน้าแตก หรืออับอาย หรือรู้สึกเก้อเขิน หรือมีลักษณะเชยๆ จะมีชุดคำพูดจากใครอีกคนหนึ่ง หรือจำนวนหนึ่ง แซวกลับว่า “เฮ้ย ลาวว่ะ” “เสี่ยวว่ะ” แม้จะบอกว่าภาษาลาว คำว่าเสี่ยว แปลว่า เพื่อน คุณจะตีความหลังจากที่คุณได้แซวหรือใช้ภาษาหยอกล้อคนอื่นว่า “เฮ้ย -เพื่อน- ว่ะ”.. อย่างนั้นหรือ??
ทำไมชุดความคิดหรือคำพูดนี้ยังคงอยู่และไม่เคยจางหายไป ยิ่งขยับใกล้ความเป็นประชาคมอาเซียน ความรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง หรืออันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งชัดเจน การแข่งขันทางเศรษฐกิจยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งตื่นตัวว่าต้องแข่ง ต้องแก่งแย่ง ต้องรีบเร่งพัฒนา เดี๋ยวไปไม่ทันเขา เขาไปกันหมดแล้ว จะรอช้าอยู่ใย..
แทบจะมีน้อยมากสำหรับพื้นที่ทางความรู้สึกที่ทำให้เห็นว่า เพื่อนบ้านเราเขายังขาดตรงนี้นะ ให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีไหม เขาขาดสิ่งนี้ แต่เราก็ขาดสิ่งนี้นะ เรามาพึ่งพากันดีไหม..พื้นที่ความรู้ และการแสดงความรู้สึกเช่นนี้มีออกมาน้อยมาก หรือถ้ามีบ้างก็เป็นความรู้ทางวิชาการที่ถูกตั้งอยู่บนหิ้งมากกว่าจะนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง

แน่นอน ความคิดในการพึ่งพากันอาจดูเป็นอุดมคติ แต่การเป็นประชาคมกัน เรายังคงความคิดด้านการแข่งขันกัน เรายังคงภาพสะท้อนออกไปในเชิงลบอีกนานแค่ไหน หรือว่านั่นคือการสะท้อนภาพแห่งความเป็นจริง และอะไรคือความจริง ใครสร้างความจริงชุดนี้ และสร้างเพื่อให้ได้ผลอะไรกลับมา เราจะสร้างความจริงชุดใหม่ได้ไหม? แน่นอนประวัติศาสตร์ลบล้างไม่ได้ แชร์ลำบาก แล้วก้าวข้ามได้ไหม เรียนรู้แล้วเริ่มใหม่ได้ไหม
หลังจากที่เราได้เห็นการรับรู้ ทัศนคติ และความรู้สึกบางประการของเพื่อนบ้านที่แสดงออกมาผ่านวรรณกรรม ข้อมูลข่าวสารที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้สะท้อนให้เห็นแล้ว เรามาสำรวจกันบ้างว่า..ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการอันเป็นชุดความคิดสำคัญที่ทำให้ไทยถูกมองอย่างนั้นมาจากสาเหตุใด (ไม่นับรวมการแสดงออกทางความรู้สึกและภาษาที่เห็นกันดาษดื่น)
ตำราทางวิชาการหลายเล่มที่มีการผลิตซ้ำบอกเล่าเรื่องราวเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ไทยเหยียดหยามเพื่อนบ้านอย่างไร และทำอย่างไรให้เพื่อนบ้านเกลียด / กลัว/ ระแวง ตลอดจนไม่ค่อยรู้สึกชอบหน้าเท่าไหร่ สอดแทรกแนวคิด ทัศนคติที่เคลือบแฝงความเป็นชาตินิยมของไทย ผ่านตำรา ผ่านภาพยนต์ ผ่านสื่อ ผ่านสิ่งที่สะท้อนถึงทัศนคติเหยียดหยามเพื่อนบ้าน ที่ไทยมักจะมองประเทศเพื่อนบ้านว่ามีสถานะด้อยกว่า ลี้ภัยมาไทยเพื่อพึ่งใบบุญไทย อันมีนัยยะว่าไทยเป็นประเทศที่มีความสงบกว่าเสมอ
คงต้องสร้างความรู้ชุดใหม่ แม้ต้องใช้เวลา แต่ก็จำเป็นต้องสร้าง รวมทั้งทำให้หลายภาคส่วนตระหนักรู้บทบาทตัวเอง สะท้อนผลงานในรูปแบบต่างๆ อย่างมีจรรยาบรรณมากขึ้น และจรรยาบรรณนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องเน้นบทบาทว่าไทยเป็นใหญ่ไปกว่าใคร เพราะมันคือการอัดแน่นความรู้สึกและอัตลักษณ์ของตัวเอง ให้เหนือ หรือเจือจางอัตลักษณ์ของบุคคลหรือสิ่งอื่นใดที่ก่อขึ้นแล้วไม่ใช่ตัวเอง ให้เขามีความรู้สึกเล็กกว่า ด้อยกว่า และถ้ายังเป็นความรู้สึกที่ไม่เท่ากันเช่นนั้น จะมีการรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือ หรือก็คงเป็นแค่ความร่วมมือแบบหลวมๆ ตามเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น