วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อินโดนีเซีย ว่าที่ผู้นำของอาเซียน

อินโดนีเซีย ว่าที่ผู้นำของอาเซียน:
วันวลิต ธารไทรทอง

นักวิจัยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
ตามจริงแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศย่อมมีความสำคัญต่ออาเซียน แต่จะสำคัญมากสำคัญน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าเรามองจากแง่มุมใด ถ้าดูเพียงแง่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
ผมคิดว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาอาเซียน และจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เหตุผลไม่ใช่แค่เพียงอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกและมีประชากรมากที่สุดในอาเซียนที่ประมาณ 237 ล้านคน และก็ไม่ใช่เพียงเหตุผลที่อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ประมาณ 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่หัวใจสำคัญเกิดจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ทำให้อินโดนีเซียทวีความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น
นับตั้งแต่ประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน หรือที่คนอินโดนีเซียเรียกกันติดปากว่า เอส บี วาย (SBY) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2004 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตสูงอย่างมีเสถียรภาพ แม้แต่ในช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008-2009 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังเติบโตถึง 4.6 % ในปี 2009 และเติบโตต่อเนื่องที่ 6.1% ในปี 2010 ล่าสุดเติบโต 6.6% ในปี 2011 โดยเฉลี่ยเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโต 6-7 % ต่อปี และน่าจะเติบโตอยู่ระดับนี้ไปอย่างต่อเนื่องในอนาคตระยะกลาง

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย
การเติบโตเช่นนี้ อีกเพียงไม่กี่ปีขนาดเศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็จะมีขนาดใหญ่ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์กันว่า อินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจเกิน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 ฟังอย่างนี้แล้วรู้สึกทึ่งในฝีมือของคนอินโดนีเซียนะครับ
ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ย 2-3 % ต่อปี ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาโดยไม่เคยติดลบแม้แต่ปีเดียว

ดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียต่อ GDP
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ในขณะที่รัฐบาลของบางประเทศในอาเซียนต้องเร่งกู้หนี้กันยกใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หนี้รัฐบาลของอินโดนีเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 95% ต่อขนาดเศรษฐกิจในปี 2001 มาอยู่เพียงประมาณ 20 % ต่อขนาดเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าอินโดนีเซียมีหนี้ภาครัฐน้อยมาก

หนี้รัฐบาลต่อ GDP (%)
มากไปกว่านั้น ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยที่เดินหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการก่อร่างสร้างตัว ทั้งยังเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ประชากรที่มีอายุ 0-14 ปี ก็มีมากถึง 30% ของประชากรรวม และประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีเพียง 8.5% ของประชากรรวม อินโดนีเซียไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มิหนำซ้ำค่าแรงขั้นต่ำของอินโดนีเซียถูกกว่าประเทศไทยประมาณ 60% โครงสร้างประชากรและอัตราค่าจ้างแรงงานเช่นนี้ยิ่งเป็นตัวเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาของอินโดนีเซีย
โอกาสทางธุรกิจที่ดำรงอยู่เหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งที่เป็นการลงทุนทางตรง และการลงทุนทางอ้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยความเฟื่องฟูของอินโดนีเซียทำให้เวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป เราเห็นได้จากการถูกรับเลือกให้เป็น 1 ใน G 20 เมื่อปี 2009 ซึ่งเป็นเวทีที่สำคัญมากของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ยังได้รับที่นั่งในคณะกรรมการของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS Basel Committee) ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดกรอบกติกาในการดำเนินธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันว่า ควรหรือยังที่จะรวมประเทศอินโดนีเซียเข้าไปอยู่ในประเทศกลุ่มเกิดใหม่ทางทุนนิยมที่มีการเติบโตสูงอย่าง “BRIC” บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน
เหตุการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจของชาวอินโดนีเซีย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จอย่างงดงามนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งมาจากนโยบายการพัฒนาที่ถูกต้องของประธานาธิบดียูโดโยโน นโยบายการปฏิรูปประเทศและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน เช่น การเปิดให้กลไกตลาดได้ทำงานมากขึ้น การลดขั้นตอนในระบบราชการ การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ความพยายามแก้ปัญหาคอรัปชั่น การลดทอนความยากจน รวมถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งการปฏิรูปประเทศเหล่านี้แหละที่เป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ความสำเร็จของอินโดนีเซีย
แม้ว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี เอส บี วาย จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในอีกสองปีข้างหน้า คือปี 2014 แต่เชื่อได้ว่าแนวนโยบายที่ เอส บี วาย ได้วางไว้จะถูกสานต่อจากผู้นำคนต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นคนที่ เอส บี วาย ให้การสนับสนุน
โดยสรุปแล้ว ฐานความสำเร็จของอินโดนีเซียมาจากฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและการเมืองที่มั่นคงของอินโดนีเซียเอง และจากการที่อินโดนีเซียเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน ความสำเร็จของอินโดนีเซียนอกจากจะทำให้อินโดนีเซียมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกแล้ว ยังจะทำให้อาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะเป็นบทบาทที่มีอินโดนีเซียเป็นเสมือนผู้นำ เพราะภายใต้ความเฟื่องฟูของอินโดนีเซียนี้มองเห็นได้ไม่ยากว่า ในอนาคตอินโดนีเซียจะขยายอิทธิพลครอบงำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่ออาเซียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ต้องการจะชี้ชวนให้เราไปคิดวิธีหยุดความเฟื่องฟูของอินโดนีเซีย แต่เพื่อที่เราจะได้เริ่มคิดว่า จะสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับอินโดนีเซียให้มากขึ้นได้อย่างไร เพื่อประโยชน์ของคนไทยเองและเพื่อประโยชน์ของอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น