วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น – สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากเด็กปอเนาะสู่เลขาธิการอาเซียน

ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น – สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากเด็กปอเนาะสู่เลขาธิการอาเซียน:
ถ้าสำรวจแผงหนังสือช่วงนี้ หลายคนอาจพบกับหนังสือ “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น” ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนหมาดๆ ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งเมื่อต้นปี 2556 นี้เอง
ในหนังสือเล่มนี้ ดร.สุรินทร์ เล่าประวัติชีวิตของตัวเองตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน (โดยมีอโนมาลี สอนบาลี เป็นผู้เรียบเรียง และสำนักพิมพ์อมรินทร์เป็นผู้จัดพิมพ์) แง่หนึ่งเราอาจมองว่าชีวประวัติของ ดร.สุรินทร์ เป็นการ “เตรียมพร้อม” เพื่อกลับเข้าวงการการเมืองไทยอย่างเป็นทางการ และ “แต่งตัว” เผยแพร่ความสำเร็จ-ความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ ก่อนก้าวขึ้นไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามที่หลายคนคาดว่าเขาจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป
แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ว่าเป้าหมายของ ดร.สุรินทร์ จะมีความทะเยอทะยานทางการเมืองหรือไม่ อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ผู้อ่านทุกคนคงต้องยอมรับว่าชีวิตของ ดร.สุรินทร์ น่าสนใจมากทีเดียว
ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น - สุรินทร์ พิศสุวรรณ
ภาพปกจากเว็บไซต์เครืออมรินทร์
ดร.สุรินทร์ เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยวงศ์ตระกูลมีความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลามอย่างแนบแน่น ทวดของเขาเป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมใน จ.นครศรีธรรมราช ในขณะที่ตาและพ่อก็เป็นโต๊ะครูคนสำคัญของท้องถิ่น มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาในระดับที่ไปร่ำเรียนถึงนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วยกันทั้งคู่
ตาของสุรินทร์ เป็นผู้ตั้งโรงเรียนปอเนาะบ้านตาล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน สุรินทร์เป็นลูกคนโตของครอบครัว แต่เมื่ออายุได้เพียง 2 ขวบ บิดาก็เดินทางไปศึกษาด้านศาสนาที่นครเมกกะ (นานถึง 16 ปี) ก่อนที่มารดาจะเดินทางตามไปอยู่ด้วยหลังจากนั้นไม่นาน ชีวิตในวัยเด็กของสุรินทร์จึงถูกเลี้ยงดูโดยตา-ยาย อาศัยอยู่บ้านที่เปิดเป็นโรงเรียนปอเนาะควบคู่ไปด้วย
ชีวิตวัยเยาว์ของสุรินทร์จึงอยู่แต่ในครอบครัวอนุรักษ์นิยมด้านศาสนาอิสลาม เน้นทางธรรมมากกว่าทางโลก เติบโตขึ้นมาด้วยการฟังบทสวดและเสียงละหมาด
แต่ถึงแม้ว่าสุรินทร์จะเติบโตมาในครอบครัวมุสลิม เขากลับเป็น “มุสลิมในยุคเปลี่ยนผ่าน” ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับทุนนิยมตะวันตกของประเทศไทยยุคหลังสงครามโลก
สุรินทร์เรียนประถมที่โรงเรียนวัดพุทธในท้องถิ่น โดยใช้วิธีเดินเท้าเปล่าไปเรียน จากนั้นเมื่อขยับมาถึงชั้นมัธยมต้น ยายมองการณ์ไกลซื้อจักรยานให้ขี่ไปโรงเรียนบนถนนลูกรัง เขาเคยผ่านประสบการณ์โดนรถยนต์ขับผ่านจนน้ำโคลนกระเด็นใส่ และตั้งใจจะโตขึ้นเป็นนายอำเภอเพื่อผลักดันให้ถนนลูกรังกลายเป็นถนนลาดยางให้จงได้ (ภายหลังเขาไม่ได้เป็นนายอำเภอ แต่ก็เป็นแรงจูงใจให้เรียนสาขารัฐศาสตร์)
สุรินทร์มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชะตาชีวิตของเขาจึงได้ผูกพันกับอาสาสมัครสันติภาพ (Peace Corps) ชาวอเมริกันที่มาทำงานสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ความกล้าคิดกล้าพูดของเขาทำให้ครูชาวอเมริกันเห็นแวว และผลักดันให้เด็กบ้านนอกจากโรงเรียนปอเนาะ กลายเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 1 ปี สุรินทร์ถึงกับเขียนไว้ในหนังสือว่าการไปเรียนแลกเปลี่ยนครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา (AFS gave me a break in life) โอกาสเหล่านี้ช่วยปูพื้น ปูประสบการณ์ให้กับเขาจนกลายมาเป็นเลขาธิการอาเซียนในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานครอบครัว “มุสลิมอนุรักษ์นิยม” กับโอกาสเข้าสู่ “ทุนนิยมอเมริกัน” ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ร่วมกันได้ง่ายนัก เมื่อสุรินทร์ได้รับโอกาสให้ไปเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ ครอบครัวของเขาที่นครศรีธรรมราชถึงกับต้องเรียกประชุมผู้อาวุโสท้องถิ่นเพื่อตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้เขาไปหรือไม่ โดยความเห็นมีทั้งกลุ่มที่กลัวเขาจะเข้าสู่ “วิถีซาตาน” และกลุ่มที่เห็นว่าเขาควรออกไปเรียนรู้โลกกว้าง ก่อนที่สุดท้ายตาของเขาจะตัดสินใจว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเรียนรู้จะช่วยคุ้มครองเขาจากซาตานได้”
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวปาฐกถาพิเศษนำ ประชาคมอาเซียน วิสัยทัศน์สังคมวัฒนธรรม
สุรินทร์ใช้โอกาสในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นประโยชน์สูงสุด โดยเขาฝึกหัดการแข่งขันพูดในที่สาธารณะเป็นภาษาอังกฤษจนได้เหรียญเงินในการแข่งขันระดับรัฐ การฝึกฝนเหล่านี้ช่วยปูพื้นฐานด้านภาษาและการพูดอย่างมากในภายหลัง เมื่อกลับมาจากสหรัฐแล้วเขาตัดสินใจเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตของเขาช่วงนี้มีปัญหากับบิดาที่เพิ่งกลับมาจากเมกกะ และอยากให้ลูกสืบทอดกิจการทางธรรมมากกว่าทางโลก สุดท้ายเขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพียงลำพัง ตั้งใจว่าจะเลี้ยงตัวเองเพื่อหาเงินเรียนระดับอุดมศึกษาให้ได้ ช่วงแรกเขารับจ้างพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษโดยใช้ทักษะที่เรียนมาในสหรัฐให้เกิดประโยชน์
สุรินทร์เป็นศิษย์เอกคนหนึ่งของ อ.เสน่ห์ จามริก เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ แต่เขามีโอกาสเรียนที่ธรรมศาสตร์ไม่นานนัก เพราะสอบชิงทุนไปเรียน ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ในแคลิฟอร์เนียได้สำเร็จ การสอบชิงทุนของเขาได้รับการผลักดันจากอาจารย์ชาวอเมริกันสองคนที่มาทำงานกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในประเทศไทย ทำให้สุรินทร์ตระหนักอีกครั้งว่าชีวิตของเขาเต็มไปด้วย “โอกาส” จากผู้อื่น และทำให้เขายินดีเสมอในการผลักดัน “โอกาส” ลักษณะเดียวกันแก่คนรุ่นหลัง
ที่แคลิฟอร์เนีย สุรินทร์เลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปรัชญาการเมืองของยุโรปสมัยกลาง โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนักบวชอิสลาม คริสต์ และยิว ผลงานที่โดดเด่นของเขาทำให้อาจารย์ที่แคลร์มอนต์แนะนำให้เขาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ด สุรินทร์ใช้เวลาช่วงหลังเรียนจบ ป.ตรี เดินทางท่องยุโรปเพียงลำพังด้วยเงินเก็บช่วงซัมเมอร์ จากอเมริกาหนือสู่สแกนดิเนเวีย ลงใต้สู่กรีซ ตุรกี อียิปต์ อิสราเอล และปิดท้ายที่ซาอุดีอาระเบีย แดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ก่อนจะใช้เงินก้อนสุดท้ายซื้อตั๋วเครื่องบินกลับมาเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย
เมื่อเขากลับมาถึงนครศรีธรรมราช เขาก็พบกับโทรเลขเปลี่ยนชีวิตอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจารย์ของเขาส่งมาบอกว่าฮาร์วาร์ดรับเข้าเรียนแล้ว ขอให้รีบกลับอเมริกาโดยด่วน
สุรินทร์ได้รับ “โอกาส” อีกครั้งโดยเพื่อนชาวอเมริกันและไทยร่วมกันซื้อตั๋วเครื่องบินให้เขาเดินทางกลับมายังบอสตัน เพื่อศึกษาต่อที่ฮาร์วาร์ด จากนั้นเขาได้ทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้คำแนะนำของ อ.เสน่ห์ จามริก เพื่อเรียนต่อจนจบปริญญาเอก (ถือเป็น “โอกาส” อีกครั้งที่เขาได้รับ) และกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์อยู่พักหนึ่ง
จากนั้นสุรินทร์ได้รับคำชักชวนเข้าสู่การเมืองโดยนักการเมืองสายประชาธิปัตย์อย่างสัมพันธ์ ทองสมัคร และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ลงเป็น ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช เขามีความใกล้ชิดกับนายชวน หลีกภัย ที่มีพื้นเพเป็นเด็กบ้านนอกสร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์เหมือนกัน สุรินทร์ไต่เต้าทางการเมืองจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน 2 มีบทบาทด้านการทูตที่สำคัญคือการส่งทหารไทยและกองกำลังสันติภาพนานาชาติเข้าไปยังติมอร์ตะวันออก และการผลักดันนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นผู้อำนวยการ WTO โดยที่สุรินทร์เป็นผู้เจรจาต่อรองกับเมดลีน อัลไบร์ท รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐด้วยตนเอง
หลังรัฐประหาร 2549 สุรินทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อ “โอกาส” มาเยือนอีกครั้ง ถึงคิวตัวแทนจากประเทศไทยเป็น “เลขาธิการอาเซียน” อีกสมัย เขาได้รับการผลักดันจากรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในยุค “เปลี่ยนผ่าน” ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อ พ.ศ. 2551 และทำงานนาน 5 ปีจนลงจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2556
สุรินทร์ พิศสุวรรณ
สุรินทร์ พิศสุวรรณ
สุรินทร์ถือว่าชีวิตของเขาเต็มไปด้วย “โอกาส” จากเด็กบ้านนอกในชนบทเมืองคอน สู่การศึกษาในมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ด และก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองจนได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
เขาย้ำตลอดเวลาในหนังสือว่าชีวิตของเขาได้รับโอกาสมากมาย และโอกาสครั้งใหญ่เหล่านี้เป็นเครื่องกดดันให้เขาตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า “จะล้มเหลวไม่ได้” เพราะมีสายตาและความคาดหวังของผู้สนับสนุนเขารออยู่เบื้องหลัง ในบทนำเปิดหนังสือ เขายกมุมมองของตัวเองไว้อย่างน่าสนใจว่า
ผมเป็นมุสลิม เชื่อในการกำหนดของพระเจ้า แต่ยังคิดว่ามีพื้นที่บางส่วนในชีวิตที่เป็นพื้นที่สำหรับเรา ที่ตัวเราจะแต่งแต้มและกำหนดได้เอง โดยไม่เคยยอมจำนนกับข้อจำกัดใดๆ แล้วพระเจ้าจะช่วยเราเอง
ประสบการณ์ของ “มุสลิมยุคเปลี่ยนผ่าน” ช่วยให้สุรินทร์พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการอยู่ร่วมกับวัฒนธรรม-อุดมคติที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วของครอบครัวตัวเองได้ และประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลดีต่อการทำงานด้านการทูตของเขาในภายหลังเป็นอย่างมาก ช่วยให้เขากลายเป็น “กาวใจแห่งอาเซียน” คอยรับหน้าเจรจาปัญหาขัดแย้งภายในอาเซียน และต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มมหาอำนาจโลกที่จ้องจะเข้ามาสู่อาเซียนอยู่ตลอดเวลา
สุรินทร์มอง “ความสำเร็จ” ของตัวเองที่มีพื้นฐานมาจากเด็กปอเนาะจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนว่าชีวิตของเขาไม่ได้เป็น “ไม่ใช่ข้อยกเว้น” (exceptional) ของเด็กที่มีพื้นเพลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่ความฟลุคหรือความบังเอิญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ขนาดนี้ แต่เป็นการต่อสู้ของตัวเขาเองต่อข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตอย่างไม่ยอมแพ้ ผนวกกับโอกาสที่เขาได้รับจากคนอื่น ช่วยให้เขาเป็นเขาได้ในทุกวันนี้
ปัจจุบันสุรินทร์พยายามมอบ “โอกาส” แบบเดียวกันให้เด็กบ้านนอกรุ่นหลังอยู่เสมอ และเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นหลัง “เดินหน้า” ต่อสู้ชีวิตด้วยตัวเอง ดังที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว
ข้อมูลหนังสือ
  • ชื่อ: ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น
  • ผู้แต่ง: สุรินทร์ พิศสุวรรณ
  • สำนักพิมพ์: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
  • ISBN: 978-974-247-809-4
  • ราคา: 165 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น