วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษประชาคมอาเซียน (กีฬา) ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เน้นบรรจุกีฬาพื้นบ้านและต่อสู้ลงชิงชัย แต่ตัดกีฬาสากล ทำให้ส่งผลดีต่อ "เจ้าภาพ" พม่า มีโอกาสครองเจ้าเหรียญทอง

รายงานพิเศษประชาคมอาเซียน (กีฬา) ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เน้นบรรจุกีฬาพื้นบ้านและต่อสู้ลงชิงชัย แต่ตัดกีฬาสากล ทำให้ส่งผลดีต่อ "เจ้าภาพ" พม่า มีโอกาสครองเจ้าเหรียญทอง:



หากเอ่ยถึง มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องยกให้ กีฬาซีเกมส์ ซึ่งจัดชิงชัยมานานกว่า 26 ครั้งแล้ว โดย 8 หนแรกใช้ชื่อว่า กีฬาแหลมทอง จัดขึ้นมาเมื่อปี 1959 จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น ซีเกมส์ จวบจนถึงปัจจุบัน และล่าสุดครั้งที่ 27 พม่า รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 11-20 ธันวาคม 2556 ซึ่งจะถือเป็นครั้งที่ 3 ที่พม่าเปิดประตูประเทศอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เคยจัดในปี 2504 และปี 2512 โดยครั้งนี้กำหนดชิงชัย 33 ชนิดกีฬา รวม 459 เหรียญทอง
แต่ประเด็นที่ทำให้หลายชาติต่างวิตกกังวล คือ พม่า ประกาศตัดกีฬาสากลที่ควรจะบรรจุ ทั้ง เทนนิส และ ยิมนาสติก ออกจากการชิงชัย แถมเจ้าภาพยังคัดเลือก กีฬาพื้นบ้าน ลงแข่งขันในซีเกมส์ครั้งนี้อีกเพียบ ซึ่งเหตุผลที่ตัดครั้งนี้เพียงเพราะนักกีฬาของพม่าไม่มีหวังลุ้นเหรียญเท่านั้นเอง
มองดูแล้ว การแข่งขันกีฬาครั้งนี้ แทนที่จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดเอกภาพ แต่กลับเป็นสาเหตุแห่งการแบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างกัน มากกว่า ซึ่งเบื้องหลังการฟาดฟันระหว่างชาติสมาชิกบนโต๊ะเจรจาส่อเค้าแตกคอระหว่าง การเน้น กีฬาสากล ซึ่งได้เสียงสนับสนุนจากฝั่งไทย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ที่อยากให้เน้นยกระดับมาตรฐานกีฬาระดับสากลเป็นหลัก ขณะที่ฝั่งตรงข้าม เวียดนาม มองต่างมุมว่า ในวันที่จะก้าวเป็น ประชาคมอาเซียน ก็ควรเน้นบรรจุ กีฬาพื้นบ้าน ของสมาชิกอาเซียนเป็นหลักมากกว่า
โดยในซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เจ้าภาพได้บรรจุกีฬาพื้นบ้านเต็มโควต้า 8 ชนิด ได้แก่ เพาะกาย, เรือประเพณี, หมากรุกสากล, ปันจักสีลัต, โววีนั่ม, เปตอง, มวยไทย และโชรินจิ-เคมโป แต่ละชื่อที่กล่าวมา มีทั้งคุ้นหู และไม่เคยได้ยินมาก่อน จากการตั้งข้อสังเกตทำให้พบว่าซีเกมส์นิยมบรรจุ กีฬากีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยครั้งนี้เจ้าภาพพม่าเสนอให้มีจำนวนกว่า 10 ชนิด หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเหรียญทั้งหมดเป็นกีฬาการต่อสู้ ที่ ตัดสินด้วยสายตา และบ่อยครั้งผลชนะออกมาจะเป็นแบบค้านสายตาคนดู ทำให้ส่งผลดีต่อ "เจ้าภาพ" พม่า มีโอกาสโกยเหรียญมาประดับศักดิ์ศรีของอดีตมหาอำนาจกีฬาย่านอาเซียน และยังมองเห็นแนวโน้ม เข้าทาง เวียดนาม และ อินโดนีเซีย มีลุ้นชิงบัลลังก์เจ้าซีเกมส์ไม่แพ้เจ้าภาพ ส่วน ไทย คงต้องเผชิญวิบากกรรมโดนขัดขาตัดกีฬาสากล อย่างเทนนิสและยิมนาสติกที่เป็นตัวเต็งแชมป์ ยังต้องเหนื่อยกับอีกหลายประเภทกีฬาที่ใช้สายตาเจ้าบ้านตัดสิน ดังนั้น สัดส่วน กีฬาสากล หรือ กีฬาพื้นบ้าน ยังเป็นเรื่องที่พอจะถกเถียงระหว่างกันได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คืออย่าทำให้ กติกาสากล เป็นเรื่อง กติกาพื้นบ้าน ของเจ้าถิ่น มิเช่นนั้น ซีเกมส์ คงเป็นเพียงเวทีโชว์ศักยภาพของเจ้าภาพ

ผู้สื่อข่าว : โสพิศ ทุยเวียง / สวท. โสพิศ ทุยเวียง / สวท.


หน่วยงาน : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย


ที่มาของข่าว :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น