วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สมุทรสงคราม พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดสู่อาเซียน เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายรัฐบาล

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สมุทรสงคราม พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดสู่อาเซียน เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายรัฐบาล:


ภาพประกอบ
เช้าวันนี้ (21 ก.พ.56) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม นายมงคล เจนจิตติกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้มแข็งสู่การพัฒนาสินค้าคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ซึ่งจังหวัดสมุทรสงคราม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สมุทรสงคราม ได้ดำเนินการจัดอบรมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ กว่า 200 คน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในจังหวัดสมุทรสงคราม และเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นสินค้าของจังหวัดสมุทรสงครามได้มีการคัดเลือกและพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดสมุทรสงครามมีอาชีพภาคเกษตรกรรม จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวนมากทั้งประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกต่างๆ เช่น กล้วยเบรกระเบิด ส้มโอปลอดสารพิษ น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลสด และแชมพูสมุนไพร เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ในจังหวัดสมุทรสงคามได้มีการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สมุทรสงคราม โดยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด
นายมงคล เจนจิตติกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากฐานข้อมูลการคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและผ่านการคัดสรรรับ 1 ดาว – 5 ดาว จำนวน 3,773 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 2,677 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 619 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 477 รายการ จากการตรวจวิเคราะห์พบว่าตัวอย่างผลิตภัณฑ์ OTOP จากกลุ่มแม่บ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่า มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เชื้อโรคอาหารเป็นพิษและพบวัตถุกันเสียเกินมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งบ่งชี้ว่ากลุ่มแม่บ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังมีสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี และขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้วัตถุกันเสีย รวมทั้งขาดความรู้ด้านการส่งเสริมการตลาด และส่วนใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สวยงามและไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน ก้าวไปสู่การขยายตลาดสินค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ตามนโยบายรัฐบาล

ผู้สื่อข่าว : จิตติพัฒน์ ดอนเหนือ


หน่วยงาน : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม


ที่มาของข่าว :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น