วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

AEC กับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และช่องว่างทางรายได้

AEC กับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และช่องว่างทางรายได้:
AEC กับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

และช่องว่างทางรายได้
สมชัย จิตสุชน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แม้จะไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงประเด็นด้านสังคมโดยตรง ทว่าก็ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมในแง่มุมต่างๆ อย่างไม่ต้องสงสัย การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในฐานะส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ตอกย้ำให้เห็นบทบาทของการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงผลกระทบทางสังคม อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงานเด็ก ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ฯลฯ ที่จะเกิดขึ้นตามมา
ในเวลาที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและยากจน กลับเพิ่มสูงสุดอย่างน่าประหลาดใจ ปรากฏการณ์ข้างต้น มักถูกโจมตีว่าเป็นผลด้านลบประการหนึ่งของโลกาภิวัตน์ และหากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการดังกล่าว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องกลับมาทบทวนว่า อาเซียนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมของ AEC โดยใช้ผลต่อรายได้ประชาชาติ มาเป็นแนวทางวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตามสมการแบบ Panel Regression พบว่า ยิ่งมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมาก ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสังคม ทั้งในแง่ความยากจน การกระจายรายได้ สุขภาพของประชาชน และการศึกษา ยกเว้นก็เพียงด้านสิ่งแวดล้อม ที่การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะนำมาซึ่งปริมาณการใช้ก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นตามมา
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในมิติของการกระจายรายได้ภายในประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศ CLMV กลับมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ประเทศอื่นๆ แม้ความเหลื่อมล้ำจะลดน้อยลง แต่ก็ลดลงในระดับที่ไม่มากนัก จนอาจกล่าวได้ว่า อาเซียนยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
อีกทางหนึ่ง แม้ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ด้านสังคมในเกือบทุกมิติ ทว่าระดับการได้ประโยชน์ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของประเทศนั้นๆ ขณะที่ช่องว่างทางสังคมระหว่างประเทศ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามระดับการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพราะการส่งผ่านประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ทางสังคม ย่อมขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของแต่ละประเทศ เมื่อประเทศนั้นๆ มีรายได้สูงถึงระดับหนึ่งๆ
ช่องว่างทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นตามการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทำให้อาเซียนต้องสร้างมาตรการรองรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ กระนั้นก็ดี หากเรานับว่าข้อตกลงประชมคมอาเซียนด้านสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Social and Cultural Community) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่แสดงให้เห็นความตระหนักของอาเซียนในเรื่องดังกล่าว ก็ดูเหมือนมาตรการที่มีจะยังขาดทั้งความชัดเจนและไม่ได้คืบหน้ามากไปกว่าความคิดในแผ่นกระดาษ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงแนวนโยบายด้านสังคมของประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ก็พบว่า นโยบายด้านการพัฒนาคน ที่ประกอบด้วยการพัฒนาด้านการศึกษา พัฒนาการจ้างงานและแรงงาน การพัฒนาคนในระบบราชการ ฯลฯ เป็นสิ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ขณะที่นโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม ประกันสังคม และการช่วยเหลือทางสังคม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อาเซียนสามารถได้รับประโยชน์จาก AEC ได้มากขึ้น เนื่องจากระบบคุ้มครองทางสังคมที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศสมาชิกได้ในอนาคต
*หมายเหตุ

บทความข้างต้นสรุปย่อมาจากบทความชื่อเดียวกัน นำเสนอใน งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย” (ASEAN Economic Community: Myths, Reality, Potentials and Challenges) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น