ไทย-อินเดีย: บนร่องรอยความสัมพันธ์กว่า 6 ทศวรรษ
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย ก่อนที่อินเดียจะได้รับการรับรองเป็นประเทศเอกราช 15 วัน คือวันที่ 1 สิงหาคม 1947 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่โลกตกอยู่ในช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายนั้นมีลักษณะห่างเหินกัน เนื่องจาก โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจ (bipolar world) ระหว่างโลกเสรีนิยมภายใต้สหรัฐอเมริกา และโลกสังคมนิยมภายใต้สหภาพโซเวียต โดยฝ่ายไทยดำเนินนโยบายตามโลกเสรีต่อต้านคอมมิวนิสต์ทางด้านอินเดียดำเนินตามหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Co-existence) และนโยบายเป็นกลาง (Non-Alignment) แต่ยังให้ความสนิทชิดเชื้อกับสหภาพโซเวียต ขณะที่ฝ่ายไทยได้เข้าเป็นสมาชิก SEATO ที่มีปากีสถานเป็นรัฐภาคีร่วมอยู่ด้วย ทำให้ไทยมีนโยบายที่สนับสนุนปากีสถานที่กำลังมีข้อพิพาทกับอินเดียเรื่องดินแดนแคว้นแคชมีร์ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะห่างเหิน
จนกระทั่งคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกล่มสลายในช่วงปี 1991 อินเดียก็เริ่มสานสัมพันธ์และชูนโยบายที่สำคัญ คือ Look East policy นโยบายมองตะวันออก ที่อินเดียใช้ดำเนินความสัมพันธ์ทั้งต่อไทยและอาเซียนมาตั้งแต่ปี 1993 อันเป็นทิศทางที่มาบรรจบกับนโยบายของฝั่งไทยเองคือ Look West policy ในปี 1996 ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความมั่นคง การเกษตร การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา
การที่อินเดียดำเนินนโยบาย Look East นั้น มีลักษณะเด่นคือ การให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) มากขึ้น ขณะที่ไทยเองก็ดำเนินนโยบาย Look West ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกามากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามระบบทุนนิยมและมีการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เริ่มเจือจางลง ทำให้โลกหันมารวมกลุ่มทางการค้า (trade bloc) เพื่อร่วมมือกันมากขึ้นโดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายของไทยในลักษณะ Look West ที่ริเริ่มในสมัยของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มุ่งปรับความสัมพันธ์กับอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกาจึงเกิดขึ้นได้ แต่มีการพัฒนาในระยะสั้นเนื่องจากการเมืองในช่วงนั้นขาดเสถียรภาพ
แต่หลังจากนั้น นโยบายดังกล่าวได้ถูกนำมาสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เริ่มเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIST-EC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุทวีป ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย) เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับเอเชียใต้ในลักษณะพหุภาคีมากขึ้น จนกระทั่งพม่าได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์จึงเปลี่ยนชื่อเป็น BISMT-EC นอกจากนี้ ไทยกับอินเดียยังคงดำเนินความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีหลายด้านด้วยกัน
อาเซียน-อินเดียกับความสัมพันธ์สมัยใหม่ภายใต้วงรอบ 2 ทศวรรษ
ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อินเดียหลังสงครามเย็น อินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ภายใต้หมุดสำคัญคือนโยบายมองตะวันออก (Look East policy) ทำให้ทั้งสองฝ่ายกระชับความร่วมมือทั้งในกรอบอาเซียน+1 (อินเดีย) อาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง คงคา (Mekong-Ganga Cooperation: MGC ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย) และ BISMT-EC เป็นต้นล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) สาระสำคัญของร่างเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย
1) ความสัมพันธ์ในภาพรวม ผู้นำอาเซียนและอินเดียประกาศยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และสนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดีย (พ.ศ. 2553-2558) รวมทั้งจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558 โดยเห็นพ้องให้จัดตั้งศูนย์อาเซียน-อินเดียเพื่อกระชับความร่วมมือดังกล่าว
2) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ผู้นำอาเซียนและอินเดียมุ่งมั่นจะ
- (1) เสริมสร้างความเข้าใจโดยให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในระดับสูงตลอดจนการหารือทวิภาคีและพหุภาคีในระดับต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากกระบวนการที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เช่น การประชุม ASEAN Defense Ministers’ Meeting Plus (ADMM+) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการทหาร และการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศ
- (2) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการภายใต้แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล และการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค
4) ภายใต้ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยให้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และนักวิชาการ เสริมสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน พ.ศ. 2552-2558 (IAI Work Plan II)
5) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงสนับสนุนการดำเนินการ ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงฯ และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน โดยให้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ASEAN Connectivity Coordinating Committee กับ India Inter-Ministry on ASEAN Transport Connectivity เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
6) สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) กรอบ ARF กรอบ ADMM+ และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ
7) เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน-อินเดีย โดยให้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนอาเซียน-อินเดีย ASEAN-India Green Fund และกองทุนอาเซียน-อินเดียเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มติที่คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบนั้น สอดรับกับแถลงการณ์วิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย จากการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์อาเซีย-อินเดีย ทั้งสองฝ่ายร่วมประชุมกันภายใต้ธีม ความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองร่วมกัน และได้ออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน อินเดีย ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าความสัมพันธ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โดยแผนปฏิบัติการที่มีร่วมกันในช่วงแรกระหว่างปี 2005-2010 ประสบความสำเร็จ และช่วยทำให้แผนปฏิบัติการช่วงที่ 2 ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2010-2015 จะช่วยส่งเสริมให้ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ รุ่งเรือง และก้าวหน้าร่วมกันนั้นสมบูรณ์ขึ้น ความร่วมมือที่ก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ส่งผลต่อมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน-อินเดีย 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐทะลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ในปี 2012
- ด้านความมั่นคง อินเดียให้ความสำคัญที่จะกระชับความร่วมมือกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความมั่นคงในน่านน้ำ (maritime security) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมิติที่จีนให้ความสนใจและยังมีความขัดแย้งกับชาติสมาชิกในอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทะเลจีนใต้ ขณะที่จีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เฉกเช่นอาเซียนอ้าง อินเดียก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในทะเลจีนใต้เช่นกัน
- ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้นให้ถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2015 เนื่องจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียจะมีประชากรโดยรวมถึง 1.8 พันล้านคน และผลผลิตรายได้ประชาชาติ (GDP) จะสูงถึง 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ด้านสังคม วัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีความร่วมมือในระดับประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา เยาวชน กีฬา ฯลฯ และเห็นพ้องที่จะให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสัญลักษณ์ของประเทศต่างๆในอาเซียนและอินเดียที่สะท้อนผ่านโบราณสถานต่างๆ เช่น นครวัดในกัมพูชา (Angkor Wat) วัดฮินดูพรัมบานัน และบรมพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย (Borobudur and Prambanan) ปราสาทวัดพูในลาว (Wat Phu) อาณาจักรพุกามในพม่า (Bagan) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในไทย ปราสาทหมีเซิน (My Son) ในเวียดนาม
- อินเดียยังให้คำมั่นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV เป็นพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเสมือนตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย โดยให้ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์เป็นหลัก
ความเนื้อหอมของอาเซียนที่ใกล้จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ตัวแสดงหลักๆ ในเวทีโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน รวมทั้งอินเดียเข้ามาร่วมวงภาคี และพยายามแสดงบทบาทโดดเด่นในหลายเรื่อง เพื่อให้อาเซียนไม่หันเห หรือให้ความสำคัญกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และอาเซียนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากอาจกลายเป็นยาสมานบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ประสบวิกฤตโดยถ้วนหน้า
ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าจับตาผ่านความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนย่อมน่าสนใจ เพราะยังมีประเทศปิดอีกหลายประเทศที่ค่อยๆ ทยอยเปิดตัวให้เข้าไปลงทุนและสานผลประโยชน์ร่วมกันได้โดยง่าย ความร่วมมือที่ออกดอกออกผลชัดเจนจากมิติทางการค้าและการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้ปัญหาทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญนั้น เลือนลางลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
การรวมตัวของอาเซียนที่มีรอบอายุมากขึ้นทุกๆ ปีทำให้อาเซียนได้เรียนรู้ว่า ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งปฏิบัติตามหลักสากลเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ประเทศอื่นๆแทรกแซงน้อยลง และทำให้อาเซียนมีทางเลือกในการให้ความร่วมมือผ่านความสัมพันธ์จากการรวมกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น