ภาพประกอบ จากกระแสการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2558 ส่งผลให้หลายประเทศในอาเซียน ทั้งไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ต่างเร่งเตรียมความพร้อมโดยการสร้างกลไกและพัฒนาคนให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาที่ต่างตื่นตัวและเร่งผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.) จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 21 (วทร.21) ภายใต้แนวคิด “มิติใหม่แห่งการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี” ในระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยครูเพ็ญศรี พุทธไพบูลย์ ครูคณิตศาสตร์ ม.3 จากโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จังหวัดราชบุรี หนึ่งในคณะครูผู้คิดค้นผลงาน “บทบาทครูคณิตศาสตร์สู่อาเซียน” เล่าให้ฟังว่า จากการที่ได้เข้าร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการที่ยั่งยืนของ สสวท. ทำให้เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทครูคณิตศาสตร์ในอนาคต จึงได้ร่วมกันผลักดันให้ครูผู้สอนเครือข่ายคณิตศาสตร์ จ.ราชบุรี ได้พัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเข้าสู่อาเซียน โดยเริ่มจากการฝึกให้ครูคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษในโจทย์คณิตศาสตร์ สร้างสื่อเกมตรีโดมิโน และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในอาซียนในเชิงคณิตศาตร์ เพื่อให้ครูนำประสบการณ์ดังกล่าวไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมสู่อาเซียนอย่างเหมาะสม “จากการที่นำสื่อเกมตรีโดมิโนไปใช้ในการเรียนสำหรับเด็กๆ ชั้น ม.1-3 ที่ผ่านมา พบว่าเด็กๆ มีความสุขกับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถสร้างสรรค์สูตรทางคณิตศาสตร์ออกมาเป็นผลงานได้อย่างถูกต้อง” ด้านครูดวงพร ปัญติภาณุวัฒน์ ครูคณิตศาสตร์ระดับอนุบาล จากโรงเรียนอนุบาลราชบุรี เล่าต่อว่า สำหรับเด็กอนุบาลนั้น จะต้องเน้นที่เกมเป็นหลัก เพราะถ้าเด็กรู้สึกสนุก เด็กก็จะเกิดความสนใจ แล้วยิ่งถ้าให้เด็กได้คิดเอง ทำเอง เด็กก็จะเกิดความชอบมากขึ้น โดยเราอาจจะเริ่มจากการให้เด็กเรียนได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก (plus) การลบ (minus) การคูณ (multiplied by) การหาร (divided by) เป็นต้น ส่วนครูราตรี พันธ์พืช ครูคณิตศาสตร์ ม.1-3 โรงเรียนบ้านทุ่งกระถิน บอกกับเราว่า โรงเรียนบ้านทุ่งกระถินนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้นเด็กๆ จึงมีความหลากหลายมาก อีกทั้งโอกาสในการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปยังมีน้อยมาก ซึ่งครูก็พยายามที่จะผลักดันให้เด็กๆ ที่มีศักยภาพ สามารถเดินต่อไปในระดับที่สูงกว่านี้ ซึ่งหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่นำไปใช้ ก็คือ การให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ผลงานทางคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นจึงต่อยอดเป็นภาษาอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้ภาษาอย่างน้อย 2 ภาษาขึ้นไป แม้ว่าการนำเสนอผลงาน “บทบาทครูคณิตศาสตร์สู่อาเซียน” ของคณะครูผู้สอนเครือข่ายคณิตศาสตร์ จังหวัดราชบุรี ในงาน วทร.21 จะเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากว่าการต่อยอดและพัฒนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาบทบาทครูคณิตศาสตร์ให้ก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้น คงไม่เพียงพอแต่ยังต้องพัฒนาครูในทุกๆ รายวิชา ให้มีศักยภาพพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสอาเซียนได้อย่างมั่นใจ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกภาคส่วนในสังคม จะต้องผสานความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนวงการศึกษาไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่วนสื่อสารองค์กร สสวท. |
ผู้สื่อข่าว : อุทัยวรรณ ยอดสนิท หน่วยงาน : สำนักข่าว ที่มาของข่าว : |
เกาะติดกระแสอาเซียน รายงานข่าวสถานการณ์อาเซียน อัพเดทเป็นประจำ #อาเซียน #ASEAN
วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556
ตามไปดูครูคณิตศาสตร์ พัฒนาบทบาทสู่อาเซียนในงาน วทร.21
ตามไปดูครูคณิตศาสตร์ พัฒนาบทบาทสู่อาเซียนในงาน วทร.21:
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น