วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ทำความรู้จัก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: Asean Economic Community AEC Blueprint

ทำความรู้จัก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: Asean Economic Community AEC Blueprint:
ทุกฝ่ายมีมติเห็นชอบที่จะเปลี่ยนแปลงอาเซียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น มีความมั่งคั่ง รุ่งเรือง มั่นคง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภายในภูมิภาคสูงขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ลดความยากจน และความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมภายในภูมิภาค ตามกรอบวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision 2020)
จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม ค.ศ. 1997 เห็นพ้องที่จะให้ความสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียนมากขึ้น หลังก่อตั้งมาแล้ว 30 ปี โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ
  • (1) วงภาคีความร่วมมือแห่งชาติสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (A Concert of Southeast Asian Nations) จะเป็นภูมิภาคที่เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ มีเสรีภาพ และมีความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์เมื่อ ค.ศ. 1971
  • (2) เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต (A Partnership in Dynamic Development) จะมีการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น มุ่งเน้นการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  • (3) ประชาคมแห่งสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน (A Community of Caring Societies) ค.ศ. 2020 อาเซียนจะเป็นประชาคมที่ตระหนักถึงความผูกพันระหว่างกันที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งประวัติศาสตร์ อาเซียนจะมีอัตลักษณ์แห่งภูมิภาคร่วมกัน เคารพซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละชาติ และสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
  • (4) มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (An Outward-Looking ASEAN) อาเซียนจะมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนและองค์การต่างๆ ในระดับภูมิภาคภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียม
ประชาคมอาเซียน
จากนั้น ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นแผนแม่บทในการดำเนินการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน ค.ศ. 2015

พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community Blueprint: AEC Blueprint)

เป้าหมายสำคัญในการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่สำนักเลขาธิการอาเซียนระบุไว้นั้น เพื่อที่จะบูรณาการหรือรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคใน ค.ศ. 2015 อันมีลักษณะสำคัญหลายประการ ดังนี้
  • ก. เพื่อให้เป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียว (a. a single market and production base)
  • ข. เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระดับสูง (b. a highly competitive economic region)
  • ค. เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความเท่าเทียม (c. a region of equitable economic development) และ
  • ง. เพื่อผนวกรวมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเข้าสู่ระดับเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์ (d. a region fully integrated into the global economy)
ความร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังหมายรวมถึงประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความสามารถในการเสริมสร้างคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับ ให้มีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดตั้งแต่ในระดับเศรษฐกิจมหภาค ไล่เลียงมาจนถึงการดำเนินนโยบายทางการคลัง มาตรการทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสาร การพัฒนาการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทาง e-ASEAN
ตลอดจนการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามขอบเขตพรมแดนระหว่างกัน สนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งในส่วนของทรัพยากรภายในภูมิภาค และขยายการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนในระดับเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ในระยะสั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) จะเปลี่ยนรูปแบบของอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีทั้งด้านสินค้า บริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ และเงินทุนให้มีการไหลเวียนที่เสรีมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น