บทความก่อนหน้านี้ เราได้ฉายภาพให้เห็นถึงประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ ASEAN Political-Security Community โดยเรียกย่อๆ ว่า APSC ไปแล้ว ซึ่งช่วยสะท้อนว่า หลักการสำคัญในการให้ความร่วมมือด้านนี้เป็นอย่างไร ครั้งนี้เรามาดูกันบ้างว่า กลไกสูงสุดที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการทูตทหารในอาเซียนนี้ มี Platform ที่เป็นทั้งความร่วมมือเชิงนโยบาย และภารกิจสำคัญอย่างไรบ้าง
ข้อมูลโดยมากที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน มักเป็นประเด็นของพัฒนาการอาเซียนในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจกันในระดับประชาชนและสังคมในวงกว้าง อาจเรียกได้ว่า มีพื้นที่ในการสื่อความหมาย สร้างความรู้ในมิติเศรษฐกิจและมิติสังคม-วัฒนธรรมมากกว่าด้านความมั่นคงเสียอีก
อันเนื่องมาจาก ในความร่วมมือด้านความมั่นคงนั้น มักจะมีแต่ศัพท์เทคนิคและเรื่องการทหารที่แสดงเนื้อหาเป็นภาพความร่วมมืออันเป็นกลไกซับซ้อนและเข้าใจยาก แต่ในเมื่อเราต้องเรียนรู้และเข้าไปอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ครบทั้ง 3 เสา
อย่างน้อยการทำความเข้าใจโครงสร้างก่อน จะปูพื้นให้เราเข้าใจในเนื้อหาที่กลไกนั้นๆ ต้องการสื่อให้เห็นความหมายที่เป็นเนื้อแท้ได้ไม่ยากนัก และยังช่วยสะท้อนสถานการณ์ของอาเซียนและสังคมโลกในแต่ละช่วงได้อย่างดีว่า เราต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาหรือได้รับโอกาสใดจากความร่วมมือนั้นๆ จึงทำให้นำไปสู่การผลักดันกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง
ในการร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนนั้น ระบุว่า กลไกสูงสุดคือการประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (Asean Defence Minister’s Meeting) หรือเรียกย่อๆ ว่า ADMM
ที่มาของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)
สำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยกลุ่มงานความร่วมมือด้านความมั่นคง ว่าด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสพิเศษแห่งอาเซียน (Working Group Cooperation of the ASEAN Special Senior Officials’ Meeting: Special SOM) ได้จัดประชุมขึ้น ณ เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 ได้ร่างแนวคิดในการจัดตั้งเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เพื่อให้กลุ่มงานฯ ดังกล่าว ร่วมพิจารณาหากต้องการจะจัดตั้งความร่วมมือนี้ขึ้นทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) ตามปฏิญญาบาหลี 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ที่มีมาตั้งแต่ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003
นำไปสู่การรับรองแผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC Plan of Action) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 จึงทำให้อาเซียนมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเป็นประจำทุกปี
เป้าหมายของการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาค โดยผ่านการหารือกับประเทศคู่เจรจา และความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการป้องกัน
- เพื่อนำไปสู่การหารืออย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการทหารให้มีความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคงภายในอาเซียน รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนมากขึ้นด้วย
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน ผ่านการทำความเข้าใจจากความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านการป้องกันและความมั่นคง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้น
- เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II) และสนับสนุนให้ทำตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme: VAP; on ASC)
วาระสำคัญ
ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ระบุไว้ว่าจะต้องเน้นความยืดหยุ่น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้- เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นด้านการป้องกันและความมั่นคง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
- เพื่อนำไปสู่นโยบายด้านการป้องกันและความมั่นคงโดยสมัครใจ
- เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกกระบวนการอาเซียน
- เพื่อหารือถึงการปฏิสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาภายนอก และ
- เพื่อทบทวนความร่วมมือด้านความมั่นคงในอาเซียน
Asean Defence Minister’s Meeting: ADMM (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน)
เป้าหมายสำคัญของ ADMM เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ด้วยการทำความเข้าใจความท้าทายด้านความมั่นคง ซึ่งเปิดกว้างให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ความร่วมมือ ADMM ดังกล่าว นำไปสู่โครงการที่ทำงานร่วมกันในระยะสั้น 3 ปี ขณะนี้ออกมาแล้ว 2 ฉบับ(1) Three-Year ADMM Work Programme 2008-2010 ให้การรับรองใน ค.ศ. 2007 อันเป็นผลมาจากการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 2 โดยมีมาตรการและกิจกรรมที่ร่วมมือกันอยู่ 5 ประการดังนี้
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการป้องกันร่วมกันในภูมิภาค
- เพื่อสรรค์สร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน
- เพื่อป้องกันความขัดแย้ง
- เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
- เพื่อสร้างสันติภาพภายหลังเกิดความขัดแย้ง
(2) Three-Year ADMM Work Programme 2011 – 2013 ซึ่งมีมาตรการที่เป็นเป้าหมายสำคัญอยู่ 4 ประการ ดังนี้
- เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันในภูมิภาคที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
- เพื่อขยายความร่วมมือในทางปฏิบัติที่มีอยู่ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกัน
- เพื่อสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา
- เพื่อเสริมสร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ได้รับรองแนวคิดหลายประการที่สำคัญ ดังนี้
- แนวคิดว่าด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพด้านการทหารของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและภัยพิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า HADR (Concept Paper on the Use of ASEAN Military Assets and Capacities in Humanitarian Assistance and Disaster Relief: HADR)
- แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนกับองค์กรภาคประชาสังคมในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ หรือเรียกว่า CSOs (Concept Paper on Defence Establishments and Civil Society Organisations (CSOs) Cooperation on Non-Traditional Security)
การผลักดันดังกล่าว นำไปสู่การรับรองแนวคิดในการขยายความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
- แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งอาเซียน หรือ ADIC (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Defence Industry Collaboration: ADIC) และ
- แนวคิดว่าด้วยการตั้งโครงข่ายศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพแห่งอาเซียน (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Peacekeeping Centres Network)
ADMM หรือ Asean Defence Minister’s Meeting ยังแตกยอดสาขาความร่วมมือไปยังกรอบ ADMM-Plus เพิ่มเติมอีก บทความหน้าเราจะไขปริศนาที่ว่า ADMM-Plus ต่างกับ ADMM อย่างไร ? แล้วทำไมจึงต้องมีความร่วมมือนี้เกิดขึ้น ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น