บทความชุดเกี่ยวกับอาเซียน ในด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เราได้อธิบายทั้ง APSC Blueprint และความร่วมมือซึ่งเป็นกลไกสูงสุดในด้านนี้คือ ADMM หรือชื่อเต็มคือ Asean Defence Minister’s Meeting หรือชื่อไทยคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนไปแล้วก่อนหน้านี้
- ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน: ASEAN Political-Security Community Blueprint
- การทูตทหารอาเซียน กลไกสูงสุดด้านความมั่นคง: ADMM Asean Defence Minister’s Meeting
กรอบความร่วมมือ ADMM นี้ ได้พยายามให้ความสำคัญต่อการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในทุกระดับ เพื่อสร้างฐานรากของความร่วมมือให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นประชาคมอาเซียน ภายใต้พิมพ์เขียวประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (Asean Political-Security Community: APSC) โดยขยายสาขาความร่วมมือไปยังกรอบ ADMM-Plus เพิ่มเติม
ที่มาของ ADMM-Plus (Asean Defence Minister’s Meeting-Plus: ADMM-Plus)
การจัดตั้ง ADMM-Plus สืบเนื่องมาจากผลสำเร็จภายหลังจัดตั้งการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ ADMM ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ และยังสะท้อนให้เห็นถึงเสาหลักของความร่วมมือในด้านความมั่นคงของอาเซียนที่มีพัฒนาการยิ่งขึ้นโดยผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงดังกล่าว สืบเนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาวะแวดล้อมทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เรา (อาเซียน) ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างสลับซับซ้อน
ทั้งประเด็นความมั่นคงรูปแบบเดิม (traditional security) และประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) อาทิ การก่อร้าย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ ตลอดจนความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก
ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในวงภาคีอาเซียน ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาสานสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งในประเด็นด้านการป้องกันและความมั่นคง ดังนั้น การเปิดกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในลักษณะพหุภาคีหรือเป็นความร่วมมือหลายฝ่ายมากขึ้น ถือเป็นการเปิดกว้างและอำนวยความสะดวก ในการสร้างช่องทางเพื่อให้เกิดการสื่อสารและความร่วมมือเพิ่มขึ้น
ทั้งความร่วมมือภายในกลุ่มประเทศอาเซียน และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการเกี่ยวพันกับประเทศนอกภูมิภาคนั้น จะส่งผลประโยชน์ต่ออาเซียน ในแง่ที่ว่าเป็นการนำมาซึ่งความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แก่อาเซียนมากขึ้น ตลอดจนทัศนคติ และทรัพยากรจากประเทศภายนอกอาเซียนที่ร่วมเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน
เป้าหมายในการจัดตั้ง ADMM-Plus
แนวคิดในการจัดตั้ง ADMM เกิดขึ้นหลังการปฏิญาณตนในที่ประชุม ADMM เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ตามที่ประชุม ADMM ได้กล่าวไว้ว่า ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมานั้น ต้องมีลักษณะ “เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และมุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก” (open, flexible and outward-looking)ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการเกี่ยวพันกับมิตรและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเชิงรุก ในการสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค กล่าวคือ การจัดตั้ง ADMM-Plus ขึ้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ ADMM ที่จะส่งเสริมให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวพันกับอาเซียนทั้งในลักษณะที่เป็นมิตรและเป็นประเทศคู่เจรจา โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
- เพื่อยังประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในการสร้างศักยภาพ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน รวมทั้งเพื่อตระหนักถึงความแตกต่างของศักยภาพแต่ละประเทศสมาชิกด้วย
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างประเทศคู่เจรจา ผ่านการสร้างกรอบหารือด้านความมั่นคงอย่างโปร่งใส
- เพื่อเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพผ่านความร่วมมือด้านป้องกันและความมั่นคงในภูมิภาค จากความท้าทายในมิติความมั่นคงข้ามชาติที่ต้องเผชิญ
- เพื่อสนับสนุนและตระหนักถึงประชาคมความมั่นคงอาเซียน โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขจากปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II) โดยมีเจตจำนงเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านสันติภาพ เสถียรภาพ ประชาธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำรงอยู่ได้อย่างสันติร่วมกัน ทั้งในระดับรายประเทศและในระดับโลก
- เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action) เพื่อให้อาเซียนสร้างสันติภาพ ความปลอดภัย และความรุ่งเรืองแก่อาเซียนเอง โดยสามารถปรับตัวเพื่อสานสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียนทั้งในประเทศมิตรและประเทศคู่เจรจา
หลักการของ ADMM-Plus
- อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนบวก (ADMM-Plus) โดยอาเซียนจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับมิตรแห่งอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
- ADMM-Plus จะยึดตามหลักการอาเซียน คือ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ใช้การตัดสินใจตามหลักฉันทามติ มีความยืดหยุ่นทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เคารพซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยให้ระลึกไว้ว่า ADMM-Plus นี้ เป็นเวทีหารือในด้านการป้องกันและความมั่นคง ร่วมกัน มิใช่ลักษณะของวงภาคีแบบพันธมิตรทางทหาร
- ADMM-Plus จำเป็นต้องเปิดกว้างและครอบคลุม โดย ADMM-Plus ต้องมีบทบาทสร้างสรรค์เชิงรุกในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค
- ความร่วมมือภายใน ADMM-Plus ควรตั้งอยู่บนฐานการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย
- ADMM-Plus นำไปสู่การรับผิดชอบร่วมกันผ่านการพัฒนาความเข้าใจร่วมกันในประเด็นว่าด้วยความมั่นคง
- ADMM-Plus เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่าและทำให้ความร่วมมือ ADMM สมบูรณ์
แนวคิดหลักของ ADMM-Plus
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 2007 ได้รับรองแนวคิด ADMM – Plus ไว้ โดยกระบวนการของ ADMM-Plus ถือเป็นเครื่องมือในการเข้าไปเกี่ยวพันกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนทั้งในความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง โดยหลักการสำคัญสำหรับการจัดตั้ง ADMM-Plus ได้แก่- แนวคิดว่าด้วยหลักการ ADMM-Plus สำหรับสมาชิก (Concept Paper on ADMM-Plus Principles for Membership) ซึ่งรับรองกันในที่ประชุม ADMM ณ พัทยา ประเทศไทย ค.ศ. 2009
- แนวคิดว่าด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบของ ADMM-Plus (Concept Paper on ADMM-Plus: Configuration and Composition)
- แนวคิดว่าด้วยวิธีการและกระบวนการของ ADMM-Plus (Concept Paper on ADMM-Plus: Modalities and Procedures) ซึ่งได้รับรองในที่ประชุม ADMM เมื่อ ค.ศ. 2010 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
- ความมั่นคงในน่านน้ำ (maritime security)
- การต่อต้านการก่อการร้าย (counter-terrorism)
- การจัดการภัยพิบัติ (disaster management)
- การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ (peacekeeping operations)
- การแพทย์ทหาร (military medicine)
ทั้งนี้ วงภาคี ADMM-Plus จะมีการจัดประชุมขึ้นทุกๆ 2 ปี ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการฝึกด้าน HADR และการแพทย์ทหารในระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน ค.ศ. 2013 และการจัดประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ณ ประเทศบรูไน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น