การจัดประชุมเวที ASEAN Forum ครั้งที่ 5
“ความคุ้มครองทางสังคมกับอาเซียน: ข้อกังวล และข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน”
วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ได้จัดการประชุมเวที ASEAN Forum ครั้งที่ 5 ขึ้นภายใต้หัวข้อ “การคุ้มครองทางสังคมกับอาเซียน : ข้อกังวล โอกาส และข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน” (ASEAN Forum NGO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนทรรศนะจากผู้แทนภาคประชาชน เพื่อจะนำไปเป็น input สำคัญในการกำหนดประเด็นและโจทย์วิจัยเกี่ยวกับอาเซียน ตลอดจนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปขบคิดและตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อไปการประชุมเวที ASEAN Forum ครั้งที่ 5 มีวิทยากร 3 ท่านคือ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี และคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย รองคณะกรรมการสมานฉัทน์แรงงานไทย และมี ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากองค์กรภาคประชาชนส่งผู้แทนเข้าร่วมการสัมมนากว่า 40 ท่านอีกด้วย
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง เปิดประเด็นการสัมมนาว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนเก่า/ประเทศอาเซียนใหม่ ประเทศอาเซียนในภาคพื้นทวีป/ประเทศอาเซียนในภาคพื้นสมุทรยังมีอยู่มาก เช่นนี้แล้วการพัฒนาไปสู่ AEC โดยใช้มาตรการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะการที่อาเซียนมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่มักเอื้อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น และนำไปสู่ปัญหาความเสื่อมถอยของชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น ภาคประชาชนจึงควรช่วงชิงการดำเนินการไปสู่ประชาคมอาเซียนให้มากขึ้น โดยเริ่มจากผลักดันมาตรการที่ช่วยปกป้องชุมชนท้องถิ่นจากกลุ่มทุน เพื่อการยกระดับการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน โดยเงื่อนไขอันดับแรกของชุมชนและคนเล็กคนน้อย ในการช่วงชิงการดำเนินการก็คือ จะต้องกลับมาตั้งสติเสียให้ได้เสียก่อน จึงจะสามรถวิเคราะห์ปัญหาในภาพรวมได้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้นและท้องถิ่นเองก็จำเป็นต้องสร้างฐานความรู้ขึ้นเองด้วย โดยอาจเชื่อมโยงกันเองระหว่างชุมชนท้องถิ่นตามแนวชายแดนและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันให้มากขึ้น
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิธี ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลต่ออาเซียน ใน 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.ในบริบทระดับโลก อาเซียนต้องรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง เพื่อต่อสู้ทัดทานกับประเทศมหาอำนาจที่กำลังให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้ 2.ในขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารและพลังงาน ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในอีกด้านหนึ่งเกิดจากถูกแย่งชิงทรัพยากรโดยกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะที่ดินในหลายพื้นที่ของไทยที่ถูกกว้านซื้อโดยกลุ่มทุนข้ามชาติ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของคนในชนบท ผลที่ตามมาก็คือก็คือการล่มสลายของภาคเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นไทยจึงต้องเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านเกษตรกรรมเสียใหม่ โดยการหันมาเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยให้มากขึ้น 3.แนวโน้มที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรมากขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากแต่เกิดขึ้นทั่วไปในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย 4.ปัญหาที่ควรตระหนักอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาการทำลายทรัพยากรในเขตร้อน ซึ่งอาเซียนเป็นฐานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของทรัพยากรประเภทนี้ หากทรัพยากรดังกล่าวถูกทำลาย ผลกระทบจะไม่เพียงแต่เกิดกับกลุ่มประเทศอาเซียน หากแต่จะเกิดผลกระทบต่อโลกในภาพรวมด้วย
ด้าน คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวในมุมของภาคแรงงานว่า แม้ฝ่ายแรงงานจะตั้งคณะติดตามแล้ว แต่แรงงานไทยทั้งในระบบและนอกระบบ ก็ยังไม่ทราบราบรายละเอียดใดๆ มากนักในเรื่องของข้อตกลงที่ไทยได้ตกลงไปแล้วในกรอบการรวมตัวเป็น AEC ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย และก็พอจะมีให้เห็นบ้างแล้วเช่น การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางประเภท ซึ่งตรงนี้แรงงานไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะยังขาดข้อมูล สิ่งที่ภาคแรงงานพอจะทำได้ในขณะนี้คือ การพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายภายในของไทย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน ตามกรอบอนุสัญญา ILO 87 (อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว) และอนุสัญญา ILO 98 (อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง) ซึ่งพบว่ามีกฎหมายแรงงานไทยหลายเรื่องที่ยังขัดแย้งอนุสัญญาดังกล่าว ทำให้การต่อแรงของแรงงานในประเทศไม่เข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น
ในส่วนของผู้ร่วมสัมมนา คุณมุกดา อินต๊ะสาร จากเครือข่ายการเงินชุมชนลำพูน กล่าวว่า ชาวบ้านในจังหวัดลำพูนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาเซียนอยู่มาก แต่การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน (เช่น การเข้ามาเป็นแรงงานเก็บลำไย) ทำให้ชาวบ้านมีข้อกังวลในเรื่องของโรคระบาดที่จะตามมากับแรงงานต่างชาติ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับอาเซียนหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ คุณมุกดา ยังกล่าวถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนคนเล็กคนน้อยในภาคเกษตร เหตุใดจึงไม่มีการหยิบยกประเด็น “เงินบำนาญของประชาชน” ขึ้นมาถกเถียงในวงกว้าง ซึ่งในกรณีของลำพูน ชาวบ้านได้สร้างกลไกในการดูแลตนเองที่น่าสนใจคือ เครือข่ายการเงินชุมชน ที่เป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับคนในชุมชน และเครือข่ายสร้างบ้านแปลงเมือง เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนซึ่งเป็นการสร้าง“ทุนทางสังคม” ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ทั้งสองเครือข่ายนอกจากจะอาศัยการ “แบใจ” เป็นกลไกของการหลอมรวม-สร้างความรับรู้ร่วมกันแล้ว ยังอาศัยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่อีกด้วย
ครูลำดวน ไกรคุณาศัย จากสุพรรณบุรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในระดับโรงเรียนว่า ครูผู้สอนเอง ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนลึกซึ้งมากเท่าที่ควร การส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องอาเซียนในโรงเรียน จึงต้องดำเนินการโดยการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กับครูเสียก่อน ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ “มาตรการสำเร็จรูป” อย่างเช่นการเรียนภาษาอังกฤษเท่านั้น ด้านผู้แทนจากมูลนิธิเพื่ออิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่าด้านการให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจุดแข็งคือการรู้ภาษามลายูนั้น รัฐควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสการศึกษาต่อในประเทศอาเซียนที่ใช้ภาษาดังกล่าว นอกจากนี้ หากกล่าวในระดับของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว รัฐไทยยังนับว่าให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศลาว ที่จะมีการเผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับอาเซียนเป็นประจำทุกวันหลังข่าวภาคค่ำ เป็นต้น
คุณสุนทรีย์ เซ่งกิ่ง จากเครือข่าย ASEAN Watch (ภาคประชาชน) ได้ชี้ให้เห็นว่า องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเครือข่ายในการจับตาอาเซียนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยพบว่าวิสัยทัศน์ประเทศอาเซียนทุกประเทศคือการมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม โดยรัฐมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และละเมิดสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากร ยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่มีมาตรการเยียวยาใดให้กับชุมชนเลย ดังนั้นจึง 1.ต้องมีการสร้างความร่วมมืออย่างเข็มแข็งในหมู่คนที่ไม่ใช่ทั้งรัฐและไม่ใช่ทุน 2.ต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยการใช้กลไกของอาเซียนในการสร้างมาตรฐานเดียวกันในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น 3.ภาคประชาชนต้องไม่ปล่อยให้อาเซียนเป็นของ “ชนชั้นนำ” (elite) แต่เพียงฝ่ายเดียว
ด้านผู้แทนมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า อาเซียนไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อคนจน และบรรดาข้อตกลงต่างๆ ที่มีอยู่ของอาเซียนเป็นเรื่องเลื่อนลอยและไม่ยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานนอกระบบ ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาที่อยู่อาศัย คุณสมคิด ด้วงเงิน จากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันช่างฝีมือในไทยกำลังจะสูญพันธุ์ แม้แต่ช่างก่อสร้างเองก็กำลังถูกแทนที่ด้วยแรงงานจากต่างประเทศ ทั้งนี้แม้รัฐจะเข้ามารับฟังปัญหาของแรงงานนอกระบบ แต่ผู้ที่รับฟังก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้แทนมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวเสริมว่า ในหมู่เรื่องแรงงานเองก็ยังมีความคิดในเชิงอคติที่แบ่งแยก “ความเป็นเขา”และ “ความเป็นเรา” อยู่ นี่คืออุปสรรคสำคัญของการรวมตัวกันเป็นอาเซียน ทั้งนี้การสร้างองค์ความรู้และการเชื่อมโยงความเข้าใจของคนที่ต่างภาษาวัฒนธรรมกันนั้น อย่างไรเสียก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ส่วนผู้แทนมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ก็คือการสูญเสียทรัพยากรและที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในชนบทของลาว เนื่องจากการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ และการสร้างทางรถไฟ ทั้งนี้การเชื่อมโยงกันในหมู่ภาคประชาชนในประเทศอาเซียนที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน อาจเป็นโอกาสในการคัดค้าน ถ่วงดุลการ “พัฒนา” ในลักษณะดังกล่าวของอาเซียนได้็นที่แล้ว HHadg]poวสวเศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น