ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมมีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ถึงความเป็นประชาคมอาเซียนให้มีความคุ้นเคยต่อกันและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนในรัฐภาคีอาเซียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันและใส่ใจระหว่างกัน (building a caring and sharing society) รวมทั้งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ดีขึ้นด้วย
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) เน้นให้ความสำคัญในประเด็นของทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำให้เกิดความกลมเกลียวในหมู่ประชาชนอาเซียน
โดยพิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนี้ ถือเป็นตัวแทนที่สื่อถึงมิติของ “มนุษย์” เป็นหลัก และเน้นความร่วมมือในอาเซียน เพื่อให้เกิดการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีเป้าหมายที่สร้างและพัฒนามาจากความต้องการให้สังคมมีความรับผิดชอบ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
พิมพ์เขียวประชาคมสังคม วัฒนธรรม (Asean Socio-Cultural Community Blueprint)
มีลักษณะสำคัญ 6 ประการ ดังนี้- เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (a. Human Development.)
- เพื่อให้มีการคุ้มครองและให้สวัสดิการทางสังคม (b. Social Welfare and Protection.)
- เพื่อให้เกิดการรักษาสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (c. Social Justice and Rights.)
- เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม (d. Ensuring Environmental Sustainability.)
- เพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งอาเซียน (e. Building the ASEAN Identity.)
- เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา (f. Narrowing the Development Gap.)
ที่มาและบทบาทภาคประชาสังคม: ภายใต้ร่มประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ความร่วมมือของอาเซียนถูกดำเนินการโดยรัฐบาลในยุคสมัยต่างๆ และค่อนข้างขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางจากภาคประชาชน เนื่องจากอาเซียนยังมีกลไกที่ไม่ใคร่จะชัดเจนนัก ในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้นนโยบายต่างๆ แม้แต่กฎบัตรอาเซียนที่กำหนดขึ้นมาก็มาจากการกำหนดจากรัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งสิ้นในหลายปีที่ผ่านมาคำว่า “อาเซียน” เป็นคำที่คุ้นหูของคนไทยกันมากตลอด สิ่งที่หลายท่านรับรู้กันคืออาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลักสำคัญ คือเสาหลักด้านการเมือง-ความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม-วัฒนธรรม
แต่สิ่งที่พึ่งจะเกิดขึ้นได้ 7 ปี คือ “ภาคประชาสังคมอาเซียน” หรือ กรอบการประชุมอาเซียนภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference: ACSC หรือที่รู้จักกันในนาม ASEAN People Forum: APF)
อธิบายโดยง่ายคือ เวทีของภาคประชาชนจาก 11 ประเทศสมาชิกอาเซียน (+ติมอร์ เลสเต)
โดยเวทีภาคประชาชนลักษณะนี้จะจัดคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ที่จัดขึ้นทุกปี และการเกิดขึ้นของ ACSC นั้นต้องยกเครดิตให้กับรัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจากในสมัยที่ได้เป็นประธานอาเซียนเมื่อ ค.ศ. 2005 รัฐบาลของมาเลเซียได้มอบหมายให้ศูนย์อาเซียนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา ( ASEAN Study Center of Universiti Teknologi Mara:UiTM) จัดการประชุมภาคประชาสังคมคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 11 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2005
ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 การวางแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการประชุมรณรงค์เพื่อผลักดันระดับนโยบายก็ได้ถูกจัดขึ้นอีกโดย NGOs หลายองค์กรที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้น ก็ทำให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มเพื่อประสานงานเพื่อเคลื่อนไหวด้านสังคมในเอเชีย โดยใช้ชื่อ SAPA (Solidarity for Asian Peoples’ Advocacies)
ดังนั้น ทั้ง SAPA และ ACSC จึงเป็นความพยามหนึ่งของภาคประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นในอาเซียน เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เพศสภาพ การค้า การลงทุน การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ฯลฯ ซึ่งการจัดเวทีลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวตนของภาคประชาสังคมเด่นชัดมากขึ้น รวมถึงมีแถลงการณ์ภายหลังการระดมสมองและพูดคุยในหลายเรื่อง เพื่อผลักดันประเด็นต่างๆ ให้เป็นนโยบายในระดับอาเซียน
แต่ปัญหาของภาคประชาสังคมในอาเซียนก็คือ รัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนมาจากระบบการเมืองที่หลากหลาย และมีระดับของความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่าง ทำให้ภาคประชาสังคมซึ่งจัดตั้งโดยภาคประชาชนไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในบางประเทศสมาชิกอาเซียน ว่าด้วยเรื่องของสถานะและความชอบธรรมในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อผลักดันนโยบาย
แม้ว่าโดยหลักการที่ระบุอยู่ในกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยการทำงานของอาเซียนทุกอย่างจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ในความเป็นจริงอาเซียนไม่ได้จัดเตรียมโครงสร้างอย่างเป็นทางการเพื่อสนับสนุนประชาชนให้มีพื้นที่พูดคุยกันอย่างแท้จริง แม้จะมีการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนได้พบปะพูดคุยกับผู้นำอาเซียนก็เป็นเพียงฉากหนึ่งเท่านั้น โดยรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนของภาคประชาชาชนประเทศละ 1 คนเพื่อพบปะกับผู้นำอาเซียน (interface dialogue)
แต่ก็มีความพยามแทรกแซงจากทุกรัฐบาลของประเทศสมาชิก ที่อยากจะให้คนที่มีความใกล้ชิดกับภาครัฐเข้ามาเป็นตัวแทนการประชุม เพื่อให้เกิดความราบรื่นปราศจากความคิดเห็นที่แตกต่างที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง และอาจเป็นสิ่งที่บั่นทอนภาพลักษณ์การประชุมอาเซียนได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายต่อหลายครั้งเราจะพบปัญหาของการไม่ให้ความร่วมมือของรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นใน ค.ศ. 2009 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพผู้นำกัมพูชาและพม่าปฏิเสธพบตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากเวทีภาคประชาสังคม
ในครั้งล่าสุดการประชุม ACSC/APF ของภาคประชาชนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 ที่ประเทศกัมพูชา ทางรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน มีท่าทีขัดขวางไม่ให้ใช้สถานที่จัดประชุมทำให้ภาคประชาชนกัมพูชาเกิดความลำบากในการจัดหาสถานที่ในการประชุม
ขณะที่ในวันเวลาเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาได้จัดเวทีภาคประชาชนขึ้นมาอีกเวที ทั้งที่ก็มีเวทีภาคประชาชนที่จัดโดยภาคประชาสังคมในหลายปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดความสับสนว่าเวทีไหนเป็นเวทีของภาคประชาชน
การกระทำในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลกัมพูชาก็เพื่อลดความสำคัญของเวทีภาคประชาชนที่จัดขึ้นเอง และต้องการนำคนจากเวทีที่รัฐบาลกัมพูชาจัดขึ้นไปพบปะ interface dialogue กับผู้นำอาเซียน แทนเวทีภาคประชาชนที่จัดขึ้นเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ
เหตุการณ์ลักษณะนี้คงเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีถึงทัศนคติของรัฐบาลประเทศสมาชิกกับภาคประชาสังคม การไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการภาคประชาชนในอาเซียนของรัฐบาลประเทศสมาชิกในอาเซียน อีกทั้งการพบปะผู้นำในแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเพียง 15-30 นาที ทำให้ไม่มั่นใจว่าการพบปะเพื่อยื่นข้อเสนอจะก่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนมากน้อยเพียงใด
ประเด็นที่ภาคประชาสังคมมักถูกโจมตีเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือคือเรื่องความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนภาคประชาชน กับฝ่ายรัฐบาลอาเซียนซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนอันชอบธรรมโดยกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้มักถูกหยิบยกเป็นเหตุผลชั้นดีเมื่อรัฐบาลอาเซียนต้องการปฏิเสธข้อเสนอของเวทีภาคประชาสังคม โดยโจมตีไปที่สถานะของกลุ่มภาคประชาสังคมโดยไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตหรือข้อโต้แย้ง
แต่ในขณะเดียวกันเรื่องบางเรื่องคงไม่ต้องถกเถียงกันถึงความชอบธรรมของสถานะมากนักอย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ละเมิดเป็นฝ่ายรัฐเสมอ ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถท้วงติงได้ โดยประเด็นที่เกิดการท้วงติงกันล่าสุดนี้ คือกรณีที่ผู้นำประเทศอาเซียนเดินหน้ารับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration)
โดยภาคประชาสังคมโต้แย้งว่าเป็นกฎบัตรที่ทำลายกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะเนื้อหาของปฏิญญาฉบับนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้อยู่ใต้เขตอำนาจของรัฐเสมือนการไปรับรองการละเมิดสิทธิของรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน
แต่สุดท้ายสิ่งที่ภาคประชาชนทำได้คือการบอยคอตด้วยการไม่นำปฏิญญาฉบับนี้มาใช้ในการทำงานกับกลุ่มต่างๆ ที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค เราจะไม่อ้างปฏิญญาฉบับนี้ในการติดต่อกับอาเซียนหรือรัฐภาคีของอาเซียนเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนเนื้อหาใดๆได้เลย
ข้อเสนอแนะ
“ประชาคมอาเซียน” จะเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติหากไม่มีความร่วมมือของประชาชนในแต่ละประเทศ แม้ว่า จะมีการทำข้อตกลงกันของรัฐบาลในแต่ละเสาหลัก แต่ก็อาจจะเป็นแค่เศษกระดาษหากไม่ได้เกิดจากสำนึกของภาคประชาชนที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมโดยแท้จริง สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือ ต้องสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับเอื้อโอกาสให้แก่ประชาชนด้วย ดังนั้นการเกิดขึ้งของวงประชุมอย่าง ACSC จะทำให้ประชาชนของประเทศสมาชิกมีการพบปะพูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสอดคล้องกับความตั้งใจที่จะทำให้เกิด “ประชาคม”
เพราะการจะเป็นประชาคมนั้นจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่รากฐานที่สำคัญที่สุดคือการมีปฏิสัมพันธ์จากประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิก เพราะหากเราย้อนดูภูมิหลังประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นเรามีดินแดนติดกัน มีทั้งความร่วมมืออันดีและการทำสงครามกันมาก่อน ทำให้ประเทศในอาเซียนยังมีกลิ่นอายของลัทธิชาตินิยมอยู่มาก ที่แต่ละรัฐปลูกฝังกันมานานเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในยุคต่างๆ ทำให้ประชาชนในประเทศสมาชิกยังมีความเกลียดชัง ดูถูก รังเกียจ ไม่ไว้วางใจประเทศเพื่อนบ้านกันอยู่มาก
ในทางกลับกัน เราจะพบว่าในปัจจุบันการเป็นประชาคมอาเซียนกลับต้องพยามลดทอนเรื่องความเป็นชาตินิยมให้ลดน้อยลงเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างประชาชนด้วยกัน ฉะนั้นการพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกันของภาคประชาชนก็จะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างแน่นอนและจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมภาคปฏิบัติไม่ใช่เพียงเศษกระดาษเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่รัฐบาลอาเซียนต้องทำก็คือผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียนขององค์กรภาคประชาสังคมในปัจจุบันที่มีอยู่มากและปรับปรุงกระบวนการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียน โดยการรับรองสถานะของเวทีภาคประชาชนหรือภาครัฐอาจจะจัดเวทีร่วมกับภาคประชาชนเพื่อนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมของแต่ละครั้งเสนอแก่รัฐต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาประชาคมอาเซียนต่อไป
ท่ามกลาง 3 เสาหลักแห่งประชาคมอาเซียน เสาด้านสังคมและวัฒนธรรมนี้ถือเป็นเสาที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์โดยเฉพาะเจาะจงที่สุด ประเด็นที่พูดถึงกันบ่อยคือความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเด็นประวัติศาสตร์ของอาเซียนที่ได้เผชิญกันมาบ้างทั้งดีและร้าย และยากจะลืมเลือน
เนื่องจาก เสาด้านสังคมและวัฒนธรรมมักเป็นฐานรากของความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และฐานรากที่สำคัญนี้ถือเป็นระดับล่างของสังคมที่มีขนาดกว้าง แต่ภาครัฐมักจะลืมเลือนหรือให้ความใส่ใจต่อประเด็นดังกล่าวน้อยกว่าเสาด้าน ความมั่นคงและเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงสิ้นปี 2015 นี้ SIU ได้รวบรวมบทสรุปเกี่ยวกับมิตินี้ในประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเคยเสนอไปบ้างแล้ว เพื่อร่วมทบทวนในการให้ความสำคัญกับเสานี้อย่างจริงจัง ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียนสิ้นปี 2015 นี้
- ปาฐกถา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ: วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนด้านสังคม วัฒนธรรม
- ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล: ปาฐกถา “ประวัติศาสตร์อันตราย” ในอุษาคเนย์
- ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์, ผศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร: อภิปราย พรรณาเพื่อนบ้านอุษาคเนย์
- ทัศนคติ การรับรู้ ความรู้สึก: ประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขงต่อไทย
- ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ: อภิรายอัตลักษณ์และความรุนแรงในอาเซียน
- อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช: ความหลากหลายทางชาติพันธุ์กับการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน
- ไทยคือพี่ใหญ่แห่งอาเซียน ความคิดไปเองที่ต้องเร่งแก้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น