โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาจทำให้คนไทยหมกมุ่นกับมุมมองเชิงเศรษฐกิจมากเกินไป จนกระทั่งลืมเลือนไปว่า การจะบุกเข้าสู่ตลาดในประเทศใดก็ตาม จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค รสนิยม วัฒนธรรม และอารมณ์ความรู้สึกของคนในประเทศนั้นด้วยมหาวิทยาลัยสยาม
วันนี้คนไทยอาจตื่นตัวกับกระแสอาเซียนฟีเวอร์ในปี 2558 แต่น้อยคนนักจะตระหนักว่าต้องทำอย่างไรเพื่อรับมือกับมัน บางคนรู้สึกเดือดร้อน บางคนคิดว่าเป็นโอกาส แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะเปิดใจกว้างและดื่มด่ำไปกับวิถีชีวิตแบบอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น
เริ่มต้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนหรือแม้แต่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียน ก็อาจช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้นำไปต่อยอดได้มากมาย ดีกว่าการจมจ่อมอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ซับซ้อนอลังการ หากไม่เคยมีความหมายเกี่ยวข้องกับตัวเรา
“อินโดนีเซีย” เต็มไปด้วยเกาะแก่งและภูเขาไฟนับพันนับหมื่น แต่สำหรับนักเดินทางที่ชื่อว่า ทรงยศ กมลทวิกุล กลับค้นพบความงามลึกล้ำของภูเขาไฟโบรโม ที่ไม่ได้มีเพียงความงามทางธรรมชาติเท่านั้น หากยังแฝงไว้ด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนลึกลงไป นั่นคือ ประเพณีบูชาเทพเจ้าภูเขาไฟของชาวเตงเกอร์
ความเงียบสงัดมืดมิดของยามราตรี หรือเสียงสวดมนต์ที่มีส่วนผสมของวัฒนธรรมฮินดู อาจทำให้พิธีกรรมเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ แต่นั่นก็ไม่ได้มีความหมายสำคัญใด หากหัวใจของเราไม่เปิดกว้าง เพราะยังมีวัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันซึ่งมีพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า ส่งผลสะเทือนต่อโลกมากกว่า
ทำไมเราจึงต้องเลือกที่จะใส่ใจกับพิธีกรรมของชาวเตงเกอร์
หัวใจของนักท่องเที่ยวคนนั้น คือ คำตอบสุดท้าย ที่จะเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งใด
บางทีอาจเป็นสิ่งเล็กน้อยที่บังเอิญผ่านเข้ามากระทบใจ หากเมื่อเราเลือกจะให้ความหมายและสารัตถะกับมันแล้ว ก็พลันกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเราตลอดกาล
“เวียดนาม” นับเป็นน้องใหม่ที่กำลังมาแรงในโลกเศรษฐกิจและการลงทุน เต็มไปด้วยทิวทัศน์โรแมนติกที่เป็นแรงบันดาลใจให้มีการสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์กันอย่างโจ๋งครึ่ม หากทว่าสำหรับรุ่งโรจน์ จุกมงคลแล้ว ความน่าสนใจของเวียดนามคือ การเป็นแหล่งดูนกเท่านั้น
หลายครั้งที่ชายคนนี้ได้ยินเรื่องราวของเมืองดาลัด ทั้งจากร้านอาหารย่านสุขุมวิท ทั้งจากนิตยสารท่องเที่ยวชั้นดี แต่ก็เพียงแค่สะกิดความสนใจ ยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือน
จนกระทั่ง ได้รับข้อมูลจากวารสารเล่มหนึ่งว่า เมืองดาลัดเป็นแหล่งดูนกชั้นเลิศของเวียดนาม เรื่องราวที่คนอื่นอาจไม่สนใจนี้ กลับกระตุ้นความนึกฝันของเขาที่จะต้องออกไปเยือนเมืองดาลัดสักครั้งในชีวิต
การเดินทางไปดูนกของรุ่งโรจน์ อาจไม่นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะนกหลายตัวก็มีให้เห็นในประเทศไทย นกหลายตัวที่ตั้งใจมาดูก็กลับไม่พบ แต่อย่างน้อยการได้เปลี่ยนสถานที่และทิวทัศน์ก็ย่อมทำให้มองเห็นนกสายพันธุ์เดิมในมุมมองที่ต่างออกไป ในห้วงจังหวะและอารมณ์ที่สุกงอมไม่เท่ากัน
แรงบันดาลใจที่ได้รับจากการท่องเที่ยวอาเซียน สำหรับบางคนอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจและการค้าขาย แต่กลับได้รับผลทางอ้อมที่ไม่คาดฝัน นั่นคือ การจุดประกายให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่ขึ้นมาในเมืองไทย ทั้งในเชิงสารคดีท่องเที่ยว กลยุทธ์ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งนวนิยาย ทั้งหมดนี้อาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ยิ่งกว่าการลงทุนทางธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
เรื่องราวของ AEC อาจเติบโตได้เพราะกลยุทธ์การปั่นกระแสและการตลาดของสื่อทั้งหลาย ทั้งเรื่องจริงและเรื่องลวง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การได้จุดประกายให้คนไทยกระหายใคร่รู้ในเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทำให้หนังสือ ข้อมูล และความรู้ที่เกี่ยวกับอาเซียนซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีใครเหลียวแลนัก ก็กลับได้รับความสนใจและการตอบสนองที่ดียิ่ง
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ข้อมูลมากมาย ก็อาจเป็นเพียงผ่านมาและผ่านไป ไม่ได้มีความหมายสำคัญใดต่อชีวิต ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่ควรกระทำยิ่งกว่าการยัดเยียดข้อมูลเรื่องอาเซียนก็คือ การเชื่อมร้อยข้อมูลทั้งหลายให้กลายเป็นเรื่องเล่าที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำและอารมณ์ที่ฝังแน่นในจิตใจของคนไทย ที่จะคงอยู่ยาวนานหลังจากกระแสฟีเวอร์ได้ผ่านไปแล้ว
การสร้างแรงบันดาลใจที่ติดตรึง จึงต้องเริ่มจากการเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดกรอบ อย่าพึ่งหมกมุ่นกับการแสวงหาผลประโยชน์ รีดเร้นผลกำไร หรือป้องกันวิกฤต หากเป็นการตะลุยอ่าน เบิกบานในการเรียนรู้ ตักตวงความสุขในการเดินทางและสัมผัสประสบการณ์จริง เก็บผสมสิ่งละอันพันละน้อย จนกระทั่งค้นพบ “บางสิ่ง” ที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง
แรงบันดาลใจในการกระทำสิ่งใดของมนุษย์ บางครั้งก็ไม่ได้เริ่มต้นที่ผลตอบแทนทางการเงิน หรือแม้กระทั่งความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรม หากทว่ามาจาก “สิ่งเล็กน้อย” ที่บังเอิญผ่านมากระทบใจ บางทีก็เป็นเรื่องราวที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้อง แต่กลับเข้ามาผสมผสานกันในบริบทสถานกาณณ์ที่ลงตัว ในเวลาที่เหมาะสม ก็พลันประทุเป็นความพุ่งวาบซาบซ่านที่ไม่อาจหยุดยั้งลง
นี่คือ พลังขับเคลื่อนในการทุ่มเทกระทำของมนุษย์ จนกระทั่งบรรลุความสำเร็จในภารกิจ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของนายทุน หน่วยงานราชการ หรือแม้กระทั่งศิลปินและนักเดินทาง หากยังเป็นแรงบันดาลใจของคนเล็กคนน้อย ที่อยากจะเปิดประสบการณ์ให้กว้างไกลออกไป ที่ปรารถนาจะแสวงหาแรงบันดาลใจในสถานที่แปลกใหม่ ในวัฒนธรรมและผู้คนที่แตกต่าง ซึ่งอาจทำให้ชีวิตของตัวเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น